ไข้เลือดออกต่างกับโควิด 19 อย่างไร

28 มีนาคม 2565-กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยว่า อาการไข้เลือดออกจะมีไข้สูงลอยประมาณ 2-7 วัน ผื่น หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง บางรายอาจมีถ่ายดำหรือถ่ายเป็นเลือดถ้ารุนแรง อาจเห็นจุดเลือดออกสีแดงเล็กๆ ตามผิวหนัง มักไม่พบอาการไอหรือมีน้ำมูก หากหายใจลำบากหรือปอดอักเสบ แต่โควิด 19 จะมีไข้ต่ำถึงสูง ปวดเมื่อยตามตัว เจ็บคอ ไอแห้งหรือมีเสมหะ มีน้ำมูก หอบเหนื่อยหายใจลำบาก ปอดอักเสบในรายที่รุนแรง อาเจียน ท้องเสียมีในบางราย ไม่พบจุดเลือดออกตามผิวหนัง ผู้ปกครองควรสังเกตอาการหากมีอาการเหล่านี้ควรพบแพทย์ทันที

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวน ทั้งอากาศร้อนและมีพายุส่งผลให้ฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย  ในหลายจังหวัดพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น

ประกอบกับมีการแพร่ระบาดไวรัสโควิด 19 อาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนในการดูแลและเฝ้าสังเกตอาการของโรคไข้เลือกออกกับโรคโควิด 19 โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กควรดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเด็กเล็กจะป่วยง่าย และเด็กในกลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปี ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด 19  หากพบว่าไม่สบาย มีไข้ ปวดเมื่อยร่างกาย ท้องเสียตรวจ ATK แล้วผลเป็นลบให้ระวังไข้เลือดออกร่วมด้วย

นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง  ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี  กรมการแพทย์  กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุของโรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ มี 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค

ส่วนโรค โควิด 19 เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่2019 (SARS-CoV-2) สามารถแพร่จากคนสู่คนได้ทางละอองฝอย เสมหะน้ำลาย ผ่านการสัมผัสเยื่อบุตา จมูก ปาก แต่ในกรณีถ้าเกิดการระบาดพร้อมๆ กัน ก็จะมีโอกาสพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด 19 และเป็นไข้เลือดออกได้

ผู้ป่วยไข้เลือดออกในระยะวิกฤต จะมีน้ำเหลืองรั่วออกนอกเส้นเลือด ทำให้เกิดภาวะช็อก ซึ่งถ้าไม่ได้รับสารน้ำทดแทนอย่างทันท่วงที จะทำให้เกิดภาวะช็อกนาน จนเกิดตับวาย ไตวาย และอวัยวะอื่นๆ ทำงานล้มเหลว จนเสียชีวิตได้

สำหรับโควิด 19 “โอไมครอน” ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคล้ายกับโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะอาจมีไข้สูง อาเจียน หรือท้องเสียได้ ประวัติการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโควิดในระยะ 7 – 10 วัน และการทำ ATK ด้วยตนเอง จะช่วยคัดกรองแยกโรคได้

ในกรณีที่แยกไม่ได้ การตรวจเลือด เช่น การหาค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (complete blood count) และการตรวจหาโปรตีนเอ็น เอส-หนึ่ง ของไวรัสไข้เลือดออก โดยเฉพาะในช่วง 3 วันแรกของไข้จะช่วยวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก สัญญาณอันตรายที่น่าสงสัยว่า เป็นไข้เลือดออกในระยะวิกฤต และมีโอกาสเข้าสู่ภาวะช็อก ได้แก่

ปวดท้องรุนแรง กระสับกระส่าย หรือร้องงอแงผิดปกติในทารก มือเท้าเย็น ปัสสาวะออกน้อยลง ต้องนำส่งโรงพยาบาลทันที ในรายที่มีไข้สูง 2-3 วัน โดยไม่มีอาการไอ น้ำมูกที่ชัดเจน ควรพาไปตรวจที่โรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์วินิจฉัย หรือส่งตรวจเลือดเพื่อเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก ก่อนจะเข้าสู่ระยะวิกฤตได้ ด้านการรักษาไข้เลือดออกปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัส


สำหรับโรคไข้เลือดออก การรักษาจึงเป็นไปตามอาการ มีไข้ให้เช็ดตัวและรับประทานยาพาราเซตามอลลดไข้เท่านั้น ห้ามใช้แอสไพรินไอบูโพรเฟน ถ้าผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อย อาจให้ดื่มนม น้ำผลไม้ หรือน้ำเกลือแร่ร่วมด้วย

โควิด 19 หากอาการไม่รุนแรง จะรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เมื่อมีไข้หรือปวดศีรษะ ให้ทานยาลดไข้ ส่วนใหญ่จะมีอาการไข้ไม่เกิน 2 – 3 วัน จะค่อยๆ ดีขึ้น หากมีน้ำมูก ให้ทานยาลดน้ำมูกเท่าที่จำเป็น หรือถ้าน้ำมูกข้นเขียว ในเด็กโตสามารถล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ

หากมีอาการไอให้รับประทานยาแก้ไอตามอาการ และจิบน้ำอุ่นบ่อยๆ หากไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจหอบเร็วกว่าปกติ หน้าอกบุ๋ม ปีกจมูกบาน ตอนหายใจ ปากเขียว ระดับออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 94% ซึมลง งอแง ไม่ดูดนม ไม่กินอาหาร ถ่ายเหลว หรืออาเจียนมากต่อเนื่องกัน  ควรรีบนำเด็กไปโรงพยาบาลตามสิทธิ์หรือ โรงพยาบาลในเขตพื้นที่รับผิดชอบ

Written By
More from pp
มิตซูบิชิ แอททราจ ซิตี้คาร์ยุคใหม่ ตอบโจทย์เรื่องการใช้งานและความประหยัด
มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เผยโฉมซิตี้คาร์ แอททราจ ใหม่ และ มิราจ ใหม่ ยกระดับความโดดเด่นด้วยรูปลักษณ์โฉบเฉี่ยว พร้อมรองรับการใช้งานได้อย่างครบครันยิ่งขึ้น...
Read More
0 replies on “ไข้เลือดออกต่างกับโควิด 19 อย่างไร”