“Pig Sandbox” โมเดลต้นแบบการเลี้ยงสุกร สู่มาตรฐานสากล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู (African swine fever : ASF) เป็นเหตุให้จำนวนหมูหายไปจากตลาดจำนวนมาก และส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในประเทศไทย

โดยข้อมูลล่าสุดจากกรมปศุสัตว์รายงานผลการสำรวจข้อมูลการเลี้ยงปัจจุบัน เปรียบเทียบกับจำนวนเกษตรกรและจำนวนสุกร ณ เดือนมกราคม 2565 พบว่า เกษตรกรปี 2565 มี 107,157 ราย ลดลง 43.35% มีหมู 10.847 ล้านตัว ลดลง 11.81% หมูแม่พันธุ์ 0.979 ล้านตัว ลดลง 11.16%

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา ได้มีการติดตามสถานการณ์ของการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู (ASF) มาเป็นเวลาหลายปี ซึ่งเมื่อมีการระบาดที่รุนแรงในปี 2564 ก็มีการสั่งการให้กรมปศุสัตว์มีการหามาตรการในการควบคุม และป้องกันโรคดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

โดยนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้เปิดตัว “Pig Sandbox” กำหนดเขตพื้นที่ควบคุมพิเศษเพื่อนำร่อง ส่งเสริม-ฟื้นฟูการผลิต และควบคุมป้องกันโรคสุกร ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ ประกอบด้วย เขตพื้นที่นำร่องและพื้นที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder)

โดยใช้หลักการ 3S ได้แก่
1. Scan ภายใต้มาตรการประเมินความเสี่ยง แล้วให้พื้นที่ Pig Sandbox กลับมาเลี้ยงได้ก่อน
2. Screen ตั้งแต่ผู้เลี้ยง คอก เครื่องมือ อุปกรณ์ที่มีความพร้อมและเหมาะสม
3. Support สนับสนุน ช่วยเหลือ ด้านการจัดการเลี้ยงดู การตลาด และแหล่งทุน โดยให้คำแนะนำ อบรม ในการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ เพื่อยกระดับและปรับระบบการเลี้ยงเข้าสู่มาตรฐาน GFM/GAP
เนื่องจากในปัจจุบัน ยังไม่มียารักษาและวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู (ASF) ทำให้การยกระดับและปรับระบบการเลี้ยงเข้าสู่มาตรฐานมีความจำเป็นอย่างมาก ซึ่ง Pig Sandbox นั้นไม่เพียงแต่สร้างพื้นที่นำร่อง แต่ยังจะขยายพื้นที่ปลอดโรค ASF – Free Zone และยกระดับมาตรฐาน โรงฆ่า ตัดแต่ง ห้องเย็น เขียง เพื่อสร้างความมั่นใจกับผู้บริโภคว่าผ่านการผลิตที่ได้มาตรฐาน “ปศุสัตว์ OK” ปลอด ASF, FMD, PRRS 100%
ทั้งนี้ Pig Sandbox จะเป็นเขตควบคุมพิเศษกำหนดให้เลี้ยง เคลื่อนย้าย และจำหน่ายได้เฉพาะในพื้นที่ Sandbox ลักษณะเดียวกับการทำ Sandbox ในโรคโควิด-19 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในวงกว้าง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มสินค้าปศุสัตว์ที่มีคุณภาพและความปลอดภัยให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้มีการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งเสริมและฟื้นฟูการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายเล็ก และเกษตรกรรายย่อย เพื่อยกระดับฟาร์มให้มีมาตรฐานที่ดี เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค และส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกร
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 574.11 ล้านบาท เพื่อจ่ายชดเชยแก่ผู้เลี้ยงสุกรที่ถูกทำลายตามมาตรการป้องกันโรคใน 56 จังหวัด ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 23 มี.ค. 2564 – 15 ต.ค. 2564
โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดให้กรมปศุสัตว์เร่งดำเนินการตามขั้นตอนจ่ายเงินชดเชยโดยเร็ว และสั่งการให้ให้ปศุสัตว์ทุกพื้นที่ทั่วประเทศให้ข้อมูลข่าวสารและให้คำปรึกษาต่างๆ แก่ผู้เลี้ยงสุกรอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงมาตรการต่างๆ ของทางการ


Written By
More from pp
รับสมัครทุนเรียนพยาบาล “ปลูกต้นกล้าพยาบาล 3 สถาบันฯ” ประจำปีการศึกษา 2567 รอบ 3 สานฝัน ต่ออนาคต นางฟ้าชุดขาว
มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และโรงพยาบาลหัวเฉียว ร่วมกับ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ จัดโครงการ “ปลูกต้นกล้าพยาบาล 3 สถาบัน” ประจำปีการศึกษา 2567 รอบ 3...
Read More
0 replies on ““Pig Sandbox” โมเดลต้นแบบการเลี้ยงสุกร สู่มาตรฐานสากล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์”