‘ทักษิณ’ จะกลับ พ.ศ.นี้-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

น่าสนใจครับ

วานนี้ (๒ มีนาคม) ที่พรรคเพื่อไทยคึกคักยิ่งกว่ามีหนังกลางแปลง

อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร ประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย จัดกิจกรรมเวิร์กช็อป หัวข้อ “คิด-เปลี่ยน-โลก สร้างโลกที่ดีกว่าและแก้ปัญหาด้วยความคิดเชิงนวัตกรรม”

ว่าไปแล้วนี่คือมิติใหม่ของพรรคเพื่อไทยเลยทีเดียว

เพราะมันต่างไปจากที่ หมอชลน่าน ศรีแก้ว, ประเสริฐ  จันทรรวงทอง หรือ สุทิน คลังแสง อภิปรายในสภาอย่างสิ้นเชิง

เพื่อไทยหันมาพูดเรื่องกระบวนการคิดเชิงนวัตกรรม  เป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนครับ

โดยทั่วไปนวัตกรรมเป็นคำพูดที่สวยหรู เมื่อนำมาใช้กับการเมือง สิ่งแรกที่จะถูกตั้งคำถามคือ สร้างภาพให้เข้ากับคนรุ่นใหม่หรือเปล่า

แต่การเมืองกับการสร้างภาพเป็นของคู่กัน ไม่ใช่เฉพาะการเมืองไทยครับ แต่การเมืองทั่วโลกล้วนต้องสร้างภาพทั้งสิ้น

นวัตกรรมอาจฟังดูเข้าถึงยากถึงต้องมีกระบวนการคิดเชิงนวัตกรรม

ตามตำราอธิบายว่า การคิดเชิงนวัตกรรม (Innovative  Thinking) คือกระบวนการคิดในแนวสร้างสรรค์เพื่อสร้างนวัตกรรมสิ่งใหม่ๆ ที่สามารถแก้ปัญหาของผู้ใช้งานได้

ในที่ประชุมพรรคเพื่อไทย “อุ๊งอิ๊ง” แสดงวิสัยทัศน์ไว้แบบนี้ครับ

 “…พรรคเพื่อไทยซึ่งมีรากจากพรรคไทยรักไทย ได้ใช้วิธีการลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาเพื่อให้เข้าใจปัญหา จนนำมาสู่การแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้สำเร็จผ่านหลากหลายนโยบาย เช่น ๓๐ บาทรักษาทุกโรค รวมถึงกองทุนหมู่บ้าน  ฯลฯ 

แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว  พรรคการเมืองจึงต้องปรับวิธีการเก็บข้อมูล ที่ต้องมาจากประชาชนและการรับฟัง เพื่อเข้าใจปัญหาที่แท้จริง นำมาผ่านกระบวนการคิดและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคโนโลยี ผ่านวิธี DIWK รวม ๔ ขั้นตอน ได้แก่

๑.D : Data จัดเก็บข้อมูลดิบ

๒.I : Information ประมวลผลออกมาข้อมูลที่สามารถใช้ประโยชน์ได้

๓.W : Wisdom ใช้ภูมิปัญญาในการแก้ไขปัญหา

๔.K : Knowledge ใช้องค์ความรู้ในการสร้างนโยบาย

เมื่อผ่านกระบวนการทั้ง ๔ ขั้นตอน จะได้มาซึ่งสมมติฐาน (Hypothesis) แล้วจึงนำมาสร้างวิธีการแก้ปัญหา  (Solution) ออกมาเป็นนโยบายใหม่ๆ ต่อไป

พรรคเพื่อไทยสานต่อแนวคิดการลงพื้นที่รับฟังปัญหาประชาชนทั่วประเทศ ก่อนนำเสนอเป็นนโยบายของพรรคไทยรักไทย

ซึ่งขณะนี้ ในบริบทที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่เรายังไม่เปลี่ยนคือ การรับฟังและการค้นหารากของปัญหาที่แท้จริง เป็นกระบวนการคิดใหม่ที่พรรคการเมืองควรเพิ่มเสริมเข้าไปเพื่อตอบสนองสนองสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนและประเทศ…”

ก็ว่าไปตามทฤษฎีนั่นแหละครับ

ประโยชน์ของการคิดเชิงนวัตกรรม การสร้างนวัตกรรมให้องค์กร ทำให้องค์กรมีไอเดียใหม่ๆ ถ้าเป็นพรรคการเมืองก็จะมีนโยบายใหม่ๆ ออกสู่สายตาประชาชน

นั่นจะสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งทางการเมือง

แต่ “อุ๊งอิ๊ง” ข้ามขั้นตอนไปหน่อย

ก่อนเกิดการคิดเชิงนวัตกรรม สร้างนโยบาย อย่างแรกที่ต้องทำคือปรับองค์กรก่อน

นวัตกรรมขององค์กรถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้า องค์กรนั้นต้องมีผู้นำหรือผู้บริหารที่มีความรู้และสามารถเข้าถึงความรู้ สามารถจัดการความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคม ผู้นำองค์กร ซึ่งก็คือผู้บริหารพรรคการเมือง จะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ สลัดทิ้งทักษะเดิมๆ

ในทางการเมือง ผู้นำที่สร้างความขัดแย้ง หรือเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ยากที่จะนำพาการคิดเชิงนวัตกรรมไปสู่การปฏิบัติได้

การบริหารองค์กรในยุคปัจจุบันจึงมิอาจที่จะใช้วิธีการแบบดั้งเดิมที่เคยใช้มาในอดีต องค์กรจะต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวตลอดเวลา

ฉะนั้นเมื่อพรรคเพื่อไทย จะก้าวไปอีกขั้นด้วยการนำความคิดเชิงนวัตกรรมมาใช้ ก็ต้องปรับโครงสร้างพรรคใหม่เสียก่อน

อย่างแรกสลัดภาพพรรคนายทุน

หรือพรรคของตระกูลชินวัตรให้พ้นเสียก่อน

แค่เริ่มต้นก็ยากน่าดู เพราะยังมองไม่เห็นแนวโน้มว่า  “ทักษิณ” จะปล่อยมือจากเพื่อไทย

ตลอดสิบกว่าปีมานี้ “ทักษิณ” แทรกแซงพรรคพลังประชาชน เพื่อไทย พรรคแตกแบงก์พัน ล้วนเป็นหนึ่งในต้นตอที่สร้างความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ขณะที่ลูกสาวคุยเรื่อง ความคิดเชิงนวัตกรรม แต่พ่อไปอีกทาง

“โทนี่” ตั้งก๊วนกับกลุ่มแคร์ ใน Clubhouse ประกาศแบบไม่แคร์ใคร

 “พ.ศ.นี้กลับแน่นอน”

ประเด็น “ทักษิณ” กลับไทย คือความล่มสลายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

กลับโดย พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เป็นไปไม่ได้ เป็นการปลุกมวลมหาประชาชนที่รับไม่ได้กับรัฐบาลโคตรโกง


ถ้ายังใช้วิธีเดิม ก็จะวนกลับไปสู่สถานการณ์เดิม

มวลมหาประชาชนออกมาขับไล่รัฐบาลระบอบทักษิณอีก

แต่ประเด็นสำคัญคือ “ทักษิณ” เชื่อว่า เพื่อไทยจะได้เป็นรัฐบาลภายในปีนี้

วางตัว “อุ๊งอิ๊ง” เป็นนายกรัฐมนตรี

แผนนี้เห็นแล้วหวาดเสียวแทน

ยังมีหนทางอื่นให้ “ทักษิณ” กลับมาอีกหรือ

เท่าที่เป็นไปได้ และเท่ที่สุดคือ กลับมาติดคุกก่อน

ส่วนคดีที่เหลือก็เบิกตัวไปขึ้นศาลเป็นคราวๆ ไป

นอกจากคดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ซึ่งศาลสั่งจำคุก ๒ ปี และหมดอายุความไปแล้ว ยังมีคดีที่จบแล้วและโทษจำคุกรออยู่อีกหลายคดี

เช่น

คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว  ๒ ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก ๒ ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗

คดีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ ๔ พันล้านบาทแก่รัฐบาลสหภาพพม่า ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก ๓ ปี  ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๒  (เดิม)

คดีให้บุคคลอื่น ถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด  (มหาชน) แทน โดยบริษัท ชินคอร์ปฯ เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ และเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก ๕ ปี ไม่รอลงอาญา

แบ่งเป็น ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จำคุก ๒ ปี

ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น จำคุก ๓ ปี

มีคดีอยู่ใน ป.ป.ช.อีก ๒ คดี

คดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ลอตสอง  จำนวน ๘ สัญญา

คดีการอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 และ  A340-600 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี ๒๕๔๕-๒๕๔๗ ทำให้การบินไทยมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น

ฉะนั้นถ้ากลับมา พ.ศ.นี้ก็ประมาณนี้ครับ

หากจะใช้วิธีเดิม หรือทางลัดอื่นๆ เป็นนวัตกรรมมืด  “อุ๊งอิ๊ง” ก็จะจบเหมือน “ยิ่งลักษณ์”.

Written By
More from pp
“พ่นน้ำยา ด้วยน้ำใจ สู้ภัยโควิด” CARRO อาสาดูแลรถตู้ขนส่งสาธารณะ พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ลดความเสี่ยง COVID – 19
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลให้กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางโดยรถขนส่งสาธารณะ ที่จัดว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงกว่าบุคคลทั่วไปที่เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว
Read More
0 replies on “‘ทักษิณ’ จะกลับ พ.ศ.นี้-ผักกาดหอม”

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save
'); }); var ratingTotalIndicator = function() { var indicator = document.querySelectorAll('.rating-total-indicator'); if (typeof indicator === 'undefined' || indicator === null) { return; } for ( var i = 0, len = indicator.length; i < len; i++ ) { var circle = indicator[i].querySelector('.progress-ring__circle'); var radius = circle.r.baseVal.value; var circumference = radius * 2 * Math.PI; circle.style.strokeDasharray = `${circumference} ${circumference}`; circle.style.strokeDashoffset = `${circumference}`; function setProgress(percent) { const offset = circumference - percent / 100 * circumference; circle.style.strokeDashoffset = offset; } var dataCircle = indicator[i].getAttribute('data-circle'); setProgress(dataCircle); } }; ratingTotalIndicator(); var slideDock = function() { var slide_dock = document.querySelector('.slide-dock'); if (typeof slide_dock === 'undefined' || slide_dock === null) { return; } function isVisible (elem) { var { top, bottom } = elem.getBoundingClientRect(); var vHeight = (window.innerHeight || document.documentElement.clientHeight); return ( (top > 0 || bottom > 0) && top < vHeight ); } viewport = document.querySelector('#footer'); window.addEventListener('scroll', function() { if ( isVisible(viewport) ) { slide_dock.classList.add('slide-dock-on'); } else { slide_dock.classList.remove('slide-dock-on'); } }, false); var close = document.querySelector('.close-dock'); close.addEventListener('click', function(e) { e.preventDefault(); slide_dock.classList.add('slide-dock-off'); }); }; slideDock();