แก้ รธน.สกัด ‘ประยุทธ์’-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ขยันจริง

วานนี้ (๒๓ กุมภาพันธ์) พรรคเพื่อไทย เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ตามมาตรา ๒๕๖ อีกจำนวน ๓ ฉบับ  ดังนี้

๑.แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักการว่าด้วยที่มาของนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๕๙ ซึ่งแก้ไขให้มาจาก  ส.ส.เท่านั้น

และดำเนินการตามมาตรา ๘๘ คือให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯ ได้ แต่ผู้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขมาตรา ๑๗๐ (๒) ว่าด้วยการสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งของนายกฯ เป็นการเฉพาะให้สิ้นสุดลงเพราะเหตุอันสิ้นสมาชิกภาพของ ส.ส.ด้วย

๒.แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน

เพิ่มบทบัญญัติในมาตรา ๔๓ ว่าด้วยสิทธิของประชาชนเกี่ยวกับสิทธิบุคคลและชุมชน โดยเพิ่มเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ หลักประกันสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจนขึ้น ที่สำคัญได้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ต้องผ่านการรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน รวมถึงผ่านการประเมินคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังแก้ไขในมาตรา ๔๗ เพิ่มเติมให้มีหลักประกันเรื่องสุขภาพ ให้เข้าถึงการบริการด้านสุขภาพมีคุณภาพเท่าเทียมเสมอภาค และมีหลักประกันถ้วนหน้า

และมาตรา ๔๘ เรื่องสิทธิสวัสดิการประชาชน เพื่อเติมเต็มดูแลตั้งแต่ทารก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ

๓.การแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม ตามมาตรา ๒๙ เรื่องสิทธิประกันตนตามกฎหมายอาญา ให้ครอบคลุมเข้าถึงรวมถึงสิทธิการแสดงความคิดเห็นต้องได้รับความคุ้มครอง

และเพื่อไทยจะแก้สิทธิการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะด้วย โดยเพิ่มเติมให้คำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ

นั่นคือเนื้อหาทั้งหมดที่เพื่อไทยเสนอ

ร่างกฎหมาย ๓ ร่างนี้ เรียกว่าหนีบกันมา

เริ่มต้นที่ร่างที่ ๒ กันก่อน เพราะถูกหนีบกลางมา ดูเหมือนจะแก้เพื่อประชาชนโดยเฉพาะ แต่ก็มีนัยทางการเมืองซ่อนอยู่เช่นกัน

ช่วงนี้พรรคการเมืองเริ่มหาเสียง และน่าจะเป็นมิติใหม่  ที่การหาเสียงคืบคลานเข้าไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชานิยมมากขึ้น

คำถามคือทำไมต้องแก้ ๓ มาตรานี้

สาระที่บังคับใช้อยู่มีดังนี้ครับ

มาตรา ๔๓ บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ

 (๑) อนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ  วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณี อันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ

 (๒) จัดการ บํารุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

 (๓) เข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดําเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชน หรืองดเว้นการดําเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน และได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาข้อเสนอแนะนั้นโดยให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วยตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

เมื่อย้อนกลับไปดูข้อความที่พรรคเพื่อไทยต้องการแก้ไข ก็แทบไม่มีอะไรแตกต่างกัน แค่ใช้ภาษาที่แตกต่างกันเท่านั้น

ปัจจุบันการมีส่วนร่วมของประชาชนก็ถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว นั่นคือ มาตรา ๔๓ (๓)

ไปที่ มาตรา ๔๗ ปัจจุบันบัญญัติว่า บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

การที่พรรคเพื่อไทยเพิ่มเติม ถ้อยความ “ให้เข้าถึงการบริการด้านสุขภาพมีคุณภาพเท่าเทียมเสมอภาค และมีหลักประกันถ้วนหน้า” ก็เป็นอีกประเด็นที่ใช้คำซ้ำซ้อน แต่ความหมายไม่แตกต่างไปจากเนื้อหาในรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้อยู่มากนัก

พูดง่ายๆ ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเลย

ส่วนมาตรา ๔๘ ปัจจุบันบัญญัติ สิทธิของมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังการคลอดบุตรย่อมได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือตามที่กฎหมายบัญญัติ บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และบุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ

เพื่อไทยเพิ่มเติม เรื่องสิทธิสวัสดิการประชาชน เพื่อเติมเต็มดูแลตั้งแต่ทารก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ

คำถามคือ นี่คือรัฐสวัสดิการใช่หรือไม่

แล้วเพื่อไทยเสนอการปฏิรูปภาษีควบคู่มาด้วยหรือไม่

ถ้าไม่ ระวังหายนะทางงบประมาณของประเทศ

ทีนี้ย้อนกลับไปที่ร่างแก้ไขร่างแรกของเพื่อไทย คือการแก้ที่มาของนายกฯ นี่คือการแก้ไขเพื่อสกัด พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา โดยตรง

โดยหลักการ นายกรัฐมนตรีต้องยึดโยงกับประชาชนซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ

ในความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย ประเด็นที่มานายกรัฐมนตรีคือบาดแผลที่บาดลึก นำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

ช่วงปี ๒๕๓๔-๒๕๓๕ นักศึกษาประชาชน เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง เพื่อสกัดไม่ให้เผด็จการทหารเข้าสู่อำนาจ

แต่ท่ามกลางกระแสนายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้งนั้น  นายกฯ คนนอกอย่าง อานันท์ ปันยารชุน ที่หวนกลับมาคำรบสอง หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ กลับได้รับการยอมรับจากประชาชน มากกว่านายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งหลายๆ รัฐบาลเสียอีก

รัฐบาลนายกฯ คนนอกอย่าง อานันท์ ปันยารชุน มาสานฝัน นายกฯ มาจากการเลือกตั้งให้เป็นจริง มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. ประกาศใช้วันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๕

และใช้ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐

แต่ก็ใช่ว่านายกฯ มาจากการเลือกตั้งทุกคนจะได้รับการยอมรับจากประชาชน เท่านายกฯ คนนอกอย่าง อานันท์  ปันยารชุน ในอดีต

ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหากเพื่อไทยจะแก้ที่มานายกฯ ให้มาจาก ส.ส.อีกครั้ง

จะยิ่งเป็นเรื่องน่าสรรเสริญด้วยซ้ำ หากเพื่อไทยแก้ที่มาของ ส.ส.ให้ได้คนมีคุณภาพเข้าสภาไปในคราวเดียวกันด้วย

เพราะ ส.ส.ในสภาปัจจุบันจำนวนมากยังเล่นเกม “สภาล่ม” กันอยู่เลย

ร่างแก้ไขสุดท้าย อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ สืบเนื่องมาจากการประกันตัวม็อบสามนิ้วคดี ม.๑๑๒ เป็นหลัก

คดีอาญาโดยทั่วไป การให้ประกันตัวศาลกำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจนอยู่แล้ว

ไม่ก่อคดีซ้ำ ไม่ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน ไม่หนี

แต่กรณีแกนนำสามนิ้ว ฉีกเงื่อนไขศาลเป็นว่าเล่น

ถามจริง! เพื่อไทยไม่คิดแก้รัฐธรรมนูญเพื่อยกระดับคุณภาพ ส.ส.บ้างหรือ

หรือว่าดีสุดได้แค่นี้แล้ว


Written By
More from pp
โครงการ “กำลังใจ” ของเจ้าหน้าที่ อสม. อสส. และรพ.สต. เปิดลงทะเบียน 25 ก.ค. นี้ สำหรับผู้มีสิทธิ 1.2 ล้านรายที่ขึ้นทะเบียนกับ สธ.
22 ก.ค.63 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าโครงการ “กำลังใจ” ของเจ้าหน้าที่ อสม. อสส.และเจ้าหน้าที่รพ.สต. จะเริ่มลงทะเบียนตั้งแต่ 25...
Read More
0 replies on “แก้ รธน.สกัด ‘ประยุทธ์’-ผักกาดหอม”