เพื่อไทยอยากกลับมา-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ตามคาด…

เพื่อไทยส่งเสียง ให้รัฐบาล ยุบสภา-ลาออก

“ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย บอกว่า

“พลเอกประยุทธ์ ยุบสภา จะไปกราบขอบคุณเป็นคนแรก เพราะถือเป็นการทำเพื่อชาติบ้านเมือง หรือประกาศเลยว่าจะไม่อยู่เกินวาระ ๘ ปี  ขออย่าเห็นแก่ตัว เห็นแก่อำนาจหรือประโยชน์พวกพ้อง”

เลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่ เป็นการสั่งสอนรัฐบาล แต่อาจไม่ถึงขั้นให้ยุบสภา ฉะนั้นเพื่อไทยไม่ควรตีขลุมว่าคนกรุงเทพฯ ไม่ต้องการรัฐบาลประยุทธ์แล้ว

ผลเลือกตั้ง “สุรชาติ เทียนทอง” ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ได้คะแนน ๒๙,๔๑๖ คะแนน แม้ทุกคะแนนของประชาชนมีความสำคัญเสมอ แต่ยังไม่อาจสรุปได้ว่านี่คือเสียงไล่รัฐบาลล้วนๆ ไม่มีเสียงอื่นปะปน

อย่าลืมว่า การเลือกตั้งซ่อม สงขลา และ ชุมพร ประชาธิปัตย์นำโด่ง เพื่อไทยไม่ส่งผู้สมัคร ส่วนก้าวไกลเรี่ยติดดิน

ชุมพร “อิสรพงษ์ มากอำไพ” พรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนน  ๔๙,๐๑๔ คะแนน

สงขลา “สุภาพร กำเนิดผล” พรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนน  ๔๕,๕๗๖ คะแนน

ทุกเขตเลือกตั้งมีศักดิ์มีศรีเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นเมืองหลวง หรือต่างจังหวัด

เพราะ ส.ส. ๑ คน มี ๑ เสียงในสภาเท่ากัน

ฉะนั้นการเหมารวมว่า รัฐบาลหมดสภาพนั้น เป็นการด่วนสรุปไปหน่อย

แต่ถ้าบอกว่า พลังประชารัฐ ขาลง ประเด็นนี้มีเค้าความจริง เพราะแพ้เลือกตั้ง ๓ เขตเลือกตั้งติดกันในรอบ ๑ เดือน

ยกเว้นเพื่อไทยจะสรุปเอาเองว่า กรุงเทพฯ คือ ประเทศไทย เมื่อพรรครัฐบาลแพ้เลือกตั้งในเมืองหลวง ก็สมควรยุบสภา หรือ ลาออก ซึ่งประเด็นนี้น่าสนใจ

ถ้าใช้ตรรกะ กรุงเทพฯ คือ ประเทศไทย ลองเปรียบเทียบสนามเลือกตั้งที่ใหญ่กว่าเลือกตั้งซ่อม ส.ส. นั่นคือเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

ช่วงรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๑ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” จากพรรคประชาธิปัตย์  ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนน ๙๙๑,๐๑๘ เสียง คิดเป็น ๔๕.๙๓%

“ประภัสร์ จงสงวน” พรรคพลังประชาชน ได้ ๕๔๓,๔๘๘ คะแนน  คิดเป็น ๒๕.๑๙%

ถัดมา ๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๑ รัฐบาลสมชายพังพาบ เพราะนายกฯ ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ๕ ปี

การจากไปของรัฐบาลสมชาย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชัยชนะของพรรคประชาธิปัตย์ในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งใหญ่กว่า การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขตเดียวอย่างมาก

ช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. วันที่ ๑๑  มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒

พรรคประชาธิปัตย์ส่ง “หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ลงสมัคร และชนะเลือกตั้งด้วยคะแนน ๙๓๔,๖๐๒ เสียง

ส่วนพรรคเพื่อไทย ส่ง “ยุรนันท์ ภมรมนตรี” แพ้อีกตามเคย ได้  ๖๑๑,๖๖๙ คะแนน

ชัยชนะของ คุณชายสุขุมพันธุ์ ก็ไม่ได้การันตีว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์จะอยู่ยาว หนำซ้ำเจอม็อบเสื้อแดง ปิดกรุงเทพฯ เผาบ้านเผาเมือง

นายกฯ อภิสิทธิ์ ไม่ได้อยู่ครบเทอม แต่ยุบสภาในวันที่ ๕ สิงหาคม  พ.ศ.๒๕๕๔ ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่

ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. วันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖

พรรคประชาธิปัตย์ ส่ง คุณชายสุขุมพันธุ์ เข้าวินอีกครั้ง ได้ถึง  ๑,๒๕๖,๓๔๙ คะแนน

ส่วนเพื่อไทย ส่ง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ไล่กวดมาที่  ๑,๐๗๗,๘๙๙ คะแนน

จบการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. “ยิ่งลักษณ์” ยังอยู่ต่อจนถึงต้นปี  ๒๕๕๗ ก่อนถูก ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งขณะรักษาการ หลังจากยุบสภาผู้แทนราษฎร

และเกิดการรัฐประหารในที่สุด

ฉะนั้นหากพรรคเพื่อไทยสรุปว่า เพราะ “สุรชาติ เทียนทอง” ชนะการเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่ ด้วยคะแนน ๒๙,๔๑๖ คะแนน ดังนั้นรัฐบาลต้องยุบสภา หรือลาออก ก็ให้พรรคเพื่อไทยย้อนกลับไปดู การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

ที่ผู้สมัครจากพรรคฝ่ายค้านชนะเลือกตั้งคะแนนเรือนล้าน

แต่รัฐบาลสมชาย รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่ได้แสดงสปิริตด้วยการลาออก เพราะคนกรุงเทพฯ นิยมฝ่ายค้านมากกว่ารัฐบาล แม้แต่ครั้งเดียว

จะอ้างว่าสนามเลือกตั้งต่างกันความนิยมต่างกันไม่ได้ เพราะผู้สมัครรับเลือกตั้งล้วนสังกัดพรรคการเมืองด้วยกันทั้งนั้น

วานนี้ (๓๑ มกราคม) บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตอบกระทู้ถามในวุฒิสภา เรื่องการกำหนดวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

“….เรื่องงบประมาณเตรียมพร้อมแล้ว คาดว่าหลังวันที่ ๒๑  กุมภาพันธ์เป็นต้นไป กระทรวงมหาดไทย และ กกต.จะหารือร่วมกัน เพื่อนำเข้า ครม.ในช่วงต้นมีนาคม 

จากนั้น ครม.จะมีมติอย่างไร สัปดาห์ถัดไปจะแจ้ง กกต.ให้ประกาศ

เบื้องต้นที่คาดการณ์ได้คือ ปลายเดือนมีนาคมที่จะทราบว่า กกต.จะประกาศให้มีการเลือกตั้งในวันใด

จากที่มีมติ ครม. ต้องประกาศ และหลังจากประกาศเลือกตั้งต้องจัดเลือกตั้งภายใน ๖๐ วัน เบื้องต้นคาดการณ์ว่าในเดือนพฤษภาคมจะเหมาะสม…”

เดือนพฤษภาคมนี้ มีแนวโน้มสูงว่า เพื่อไทยไม่ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เพราะหาตัวเจ๋งๆ ไม่ได้

แต่จะโหมหาเสียงให้ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”

ส่วนประชาธิปัตย์ส่ง “พี่เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์”

ก้าวไกล ส่ง “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร”

พลังประชารัฐมีข่าวแว่วๆ จะส่ง “อนุสรี ทับสุวรรณ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) เคยดำรงตำแหน่งเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. สมัยคุณชายสุขุมพันธุ์

ถ้า “ชัชชาติ” ชนะเลือกตั้ง ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะมีเสียงเรียกร้องจากเพื่อไทยให้ “ลุงตู่” ลาออกหรือไม่ อ้างเหตุผลว่า คนกรุงไม่เอารัฐบาลแล้ว

แล้ว เพื่อไทย จะตอบคำถามอย่างไรหาก มีคนตั้งคำถามว่า แล้วทำไม “ยิ่งลักษณ์” ไม่ลาออก ตอนที่ “คุณชายสุขุมพันธุ์” ชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

ในแง่ข้อเท็จจริงทางการเมือง ยุบสภา ลาออก ณ ตอนนี้จะเกิดอะไรขึ้น

จะมีการเปลี่ยนแปลงแค่ไหน

ด้วยศักยภาพของพรรคเพื่อไทย และก้าวไกล มีเพียงพอที่จะพาประเทศให้ดีกว่าขณะนี้ได้หรือไม่

ถ้าไปถามแฟนคลับแต่ละฝั่ง ก็จะได้คำตอบที่รู้ๆ กันอยู่แล้ว

แต่ความเป็นจริงนั้น…ต่างออกไป

เพื่อไทย และ ก้าวไกล ไม่ได้มีความพร้อมที่จะเป็นรัฐบาล

รัฐบาลยิ่งลักษณ์สร้างความเสียหายเอาไว้มาก และประชาชนยังจดจำอยู่

แม้กระทั่งการส่งผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เพื่อไทย และก้าวไกล ก็ยังมีปัญหาในการเฟ้นหาคนที่ใช่ที่สุด

เพื่อไทยหวังเกาะกระแส “ชัชชาติ” อดีตคนของพรรค เพราะหาคนของตัวเองลงสมัครไม่ได้

ส่วนก้าวไกล อยู่ในสภาวะ “ไม่มีตัวเลือก” จึงกัดฟันส่ง “วิโรจน์  ลักขณาอดิศร”

ถ้าพูดถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีล่ะ ๒ พรรคนี้หาคนที่เหมาะสมได้หรือไม่

อย่าบอกว่า “อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร” เป็นอันขาด ถ้าทำเช่นนั้นจะซ้ำรอย “ยิ่งลักษณ์”

เอาง่ายๆ ขนาดเลือกหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยังเคาะไปที่ “ชลน่าน  ศรีแก้ว”

นี่คือความไม่พร้อม แต่กลับอยากได้อำนาจ



Written By
More from pp
กรุงไทย ยืนยัน ไม่มีนโยบายส่ง SMS ให้ประชาชนลงทะเบียนรับเงินเพิ่ม 5,000 บาท
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เผยแพร่ข้อมูลกรณีมีข่าวปรากฏในสื่อออนไลน์ประเด็นเรื่องธนาคารกรุงไทย ส่ง SMS ให้ลงทะเบียนรับเงินเพิ่ม 5,000 บาท
Read More
0 replies on “เพื่อไทยอยากกลับมา-ผักกาดหอม”

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save
'); }); var ratingTotalIndicator = function() { var indicator = document.querySelectorAll('.rating-total-indicator'); if (typeof indicator === 'undefined' || indicator === null) { return; } for ( var i = 0, len = indicator.length; i < len; i++ ) { var circle = indicator[i].querySelector('.progress-ring__circle'); var radius = circle.r.baseVal.value; var circumference = radius * 2 * Math.PI; circle.style.strokeDasharray = `${circumference} ${circumference}`; circle.style.strokeDashoffset = `${circumference}`; function setProgress(percent) { const offset = circumference - percent / 100 * circumference; circle.style.strokeDashoffset = offset; } var dataCircle = indicator[i].getAttribute('data-circle'); setProgress(dataCircle); } }; ratingTotalIndicator(); var slideDock = function() { var slide_dock = document.querySelector('.slide-dock'); if (typeof slide_dock === 'undefined' || slide_dock === null) { return; } function isVisible (elem) { var { top, bottom } = elem.getBoundingClientRect(); var vHeight = (window.innerHeight || document.documentElement.clientHeight); return ( (top > 0 || bottom > 0) && top < vHeight ); } viewport = document.querySelector('#footer'); window.addEventListener('scroll', function() { if ( isVisible(viewport) ) { slide_dock.classList.add('slide-dock-on'); } else { slide_dock.classList.remove('slide-dock-on'); } }, false); var close = document.querySelector('.close-dock'); close.addEventListener('click', function(e) { e.preventDefault(); slide_dock.classList.add('slide-dock-off'); }); }; slideDock();