ผสมโรง
สันต์ สะตอแมน
ไปร่วมส่งดวงวิญญาณครูชาลี อินทรวิจิตร ศิลปินแห่งชาติ สู่สรวงสวรรค์
หัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ คุณพรพิมล มั่นฤทัย สตรีแกร่งบอสใหญ่ค่ายโคลีเซียม ได้ทำหน้าที่ให้คนใน-นอกวงการบันเทิงได้ประจักษ์ถึงความเป็น “ผู้มีความกตัญญูกตเวที” ได้อย่างน่ายินดี-ชื่นใจยิ่ง
เสียดาย..ศิลปิน ดารา นักร้อง และผู้เกี่ยวข้องในวงการเข้าร่วมพิธีบางตาไปหน่อย ซึ่งก็เข้าใจได้กับสถานการณ์ ที่ต่างก็ต้องดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของเจ้าโอมิครอน..
ยิ่งคนเก่า-คนแก่ทั้งมิตรสหาย-ลูกศิษย์ลูกหาด้วยแล้ว แม้ใจอยากไปเคารพศพเป็นครั้งสุดท้าย แต่อีกใจก็ไม่อยากขัดลูกๆหลานๆ เลยจำนอนอยู่กับบ้านเพื่อความปลอดภัย เข้าใจว่าอย่างนั้น!
กระนั้น..แขกที่ไปร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพเท่าที่กวาดตามอง ดูจะเป็นระดับผู้อาวุโส 70 ปีขึ้นเสียส่วนใหญ่ แต่จะมีใครบ้างนั้น ถ้าจะนำมาบรรยาย-บอกเล่ากันตรงนี้ เห็นที่เนื้อที่จะไม่พอ
อย่างไรก็ตาม นามหนึ่งที่ต้องเอ่ยคือ “คุณเพชรา เชาวราษฎร์” ศิลปินแห่งชาติ อดีตนางเอกฉายา “นัยน์ตาหยาดน้ำผึ้ง” แม้ปัจจุบันดวงตาสองข้างจะมืดมิด..
ท่านก็ยังควง (จูง) แขนสามี คุณชรินทร์ นันทนาคร ไปร่วมส่งดวงวิญญาณครูชาลี ผู้ที่แต่งเพลง “หยาดเพชร” ให้ทั้งสองได้รักและครองเรือนกันมายาวนานตราบวันนี้
และจากหนังสือรวมชีวประวัติ-ผลงานครูชาลีเล่มหนาที่มอบเป็นของชำร่วย คุณชรินทร์ได้เขียนถึงครูว่าอย่างนี้ครับ
ชาลี..กวีผู้มีทำนอง
เดิมเขาชื่อ “สง่า อินทรวิจิตร” รูปร่างหน้าตาสง่างาม เป็นดาราละครและใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักร้องเหมือน “สถาพร มุกดาประกร” หรือ “สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์”
แต่จนแล้วจนรอด เขาก็เป็นดาราธรรมดาที่โชว์หุ่นอันสง่างามเท่านั้น
พอละครเวทีรูดฉากปิดสนิทสิ้นชีวิตไปจากวงการบันเทิงไทยใครจะนึกว่า “สง่า” จะกลายมาเป็น “ชาลี อินทรวิจิตร” นักแต่งเพลงผู้มีความสามารถจนได้เป็นศิลปินแห่งชาติ
ชาลีไม่เคยเรียนอักษรศาสตร์ ไม่เคยเป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยใดๆ แต่บทกวีที่มีทำนองของเขามีคุณค่ามหาศาลและเป็นอมตะตลอดมา
ตั้งแต่วัยจรดปากกาเขียนอักษรตัวแรกมาจนถึงทุกวันนี้ ตลอดไปไร้กาลเวลา
ถ้าไม่มี “ชาลี” … “ชรินทร์ นันทนาคร” คงไม่ยืนหยัดมาได้ “เรือนแพ” “ท่าฉลอม” “แสนแสบ” และอีกหลายสิบเพลงที่ยังก้องหูซึมซับเข้าสู่หัวจของผู้ฟัง เกิดจากมันสมองที่สง่างามสมชื่อ
มองฟ้า มองดิน มองหิน มองโคลน เขาร้อยเรียงออกมาได้อย่างไรไพเราะผสมกลมกลืน ประหนึ่ง “สุนทรภู่” ผู้ลอยเรือร่อนเร่เขียนกาพย์กลอนจนกลายเป็นภาษิตสอนผู้คน
ทุกบทกลอนของชาลี ถ้าตีราคา จะมีคุณค่ามหาศาลประมาณมิได้ แต่ในชีวิตจริง เขาโดดเดี่ยวเดียวดาย ไร้แม้แต่ที่พักพิงเป็นที่เป็นทางเหมือนนักกลอนในอดีตไม่ผิดเพี้ยน
เขาอาจขาดหลายสิ่งในชีวิต แต่สิ่งหนึ่งที่เขาไม่เคยขาด คือ “น้ำใจ” ที่มีให้เพื่อนฝูงทุกคน ซึ่งค่าของมันมากล้นยิ่งกว่า “น้ำเงิน” หลายเท่านัก
ทุกบทเพลงจากมันสมองของเขา ผมได้ปฏิบัติหน้าที่ถ่ายทอดออกมาอย่างตั้งใจที่สุด เพื่อให้สมกับที่เขาได้จินตนาการออกมา
บางครั้งเราเอาหัวชนกันเพื่อผลิตงานออกมาตลอดทั้งคืน โดยไม่มีอาหารสัมผัสท้องสักมื้อเดียว
“…หิวหรืออิ่มก็ยิ้มพอกัน…” ก็มาจากสิ่งเหล่านี้
ถ้าบทกวีของเขาเป็น “หยดหมึก” ผมก็คือ “กระดาษซับ” มันกระเซ็นมาหยดแล้วหยดเล่า จนกระดาษซับเต็มแผ่น ผมก็ยังเก็บถนอมไว้ไม่เคยฉีกทิ้ง
เพราะหมึกทุกหยดมีค่ายิ่งกว่ากระดาษซับเหลือเกิน
“ชาลี..กวีผู้มีทำนอง” และ
“เพื่อนผู้มากน้ำใจยิ่งกว่าเงิน”
ครับ..ผมขออนุญาตห้อยท้ายด้วยซาบซึ้ง-ประทับใจ..
หยาดเพชร หยาดละอองผ่องใส แม้อยู่ในความมืดมน!