“เพื่อไทย” ไปทางไหนกัน? – เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

ให้มันได้ยังงี้ซี….
ไม่งั้นเสียยี่ห้อ “มือกฎหมาย” พรรคเพื่อไทยหมด!
เรื่องการมี “รัฐธรรมนูญ” ฉบับใหม่ นั้น
“ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้แต่ปีที่แล้วว่า…
“รัฐสภามีหน้าที่และอํานาจจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้

โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญ
ได้ลง “ประชามติ” เสียก่อนว่า

“ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่?”

และเมื่อจัดทําร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว

ต้องให้ประชาชนลง “ประชามติ” เห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”

ผมจำได้ว่า หลังจากศาลฯ มีคำวินิจฉัย “คณะศึกษาแนวทางจัดทำประชามติ” ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน
ศึกษากันแล้ว ได้ข้อสรุปว่า

ต้องทำประชามติ ๓ ครั้ง!

คิดสะระตะแล้วค่าทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สนองตัณหาการอยู่กินของนักเลือกตั้งฉบับนี้
ใช้เงินภาษีชาวบ้านขั้นต้น ๑๕,๗๐๐ ล้านบาท!

ส่วนใครมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ศาลฯ ระบุไว้ชัด
“รัฐสภา” คือ “สส.-สว.” เท่านั้น มีหน้าที่และอำนาจจัดทำ

เมื่อระบุตัวผู้จัดทำคือผู้เขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ศาลฯ ก็มอบ “กุญแจ ๒ ดอก” ให้สมาชิกรัฐสภา ไขไปสู่ประตูจักรวาลตัณหา

ดอกที่ ๑ ไปทำประชามติ “ถามประชาชน” ก่อนว่า
“ประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่?”

การทำประชามตินั้น…
ต้องยึดเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ใน ๒ ระดับ สมมติ ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ มี ๕๐ ล้านคน

ขั้นแรก ต้องมีคนลงประชามติ ๒๖ ล้านเสียงขึ้นไป

ขั้นที่ ๒ ก็มานับกันดู ระหว่างคะแนน “เห็นชอบ” กับ “ไม่เห็นชอบ” ใครจะมากกว่ากัน?

ถ้า “คนเห็นชอบ” มากกว่า….
คือ “ประสงค์ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” รัฐสภาก็ไปจัดทำ คือไปเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมา

เมื่อเขียนเสร็จแล้ว ก็ใช้กุญแจ “ดอกที่ ๒” คือเอา “ร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับเขียนใหม่ นั้น
ไปทำประชามติ คือถามประชาชนอีกครั้ง ว่า

อย่างนี้ดีมั้ย… “เอาไม่เอา” กับ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับเขียนใหม่นี้?

ถ้าเสียงข้างมากเอา คือเห็นชอบ
ก็นำ “รัฐธรรมนูญ” ฉบับ “ประชาชนเห็นชอบ” นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้แทนฉบับปัจจุบันต่อไป

นี่ เป็นขั้นตอนในส่วนสมมติ “ประชามติ” เห็นชอบผ่านทั้ง ๒ ขั้นตอน

แต่ถ้าคน “ไม่เห็นชอบ” มากกว่า ตั้งแต่ขั้นตอนแรกแล้ว คือ “ไม่ประสงค์ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

กระสันสส.ก็ปิดฉากไปเลย ตังแต่ขั้นตอนแรกแล้ว ใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ “ปราบโกง” ปัจจุบันที่ “อาจารย์มีชัย” ลงยันต์ไว้ต่อไป!

นี่…ผมปูพื้นเพื่อง่ายต่อความเข้าใจในเรื่องที่เราจะคุยกันต่อจากนี้

ในความเห็นผม เรื่องการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ศาลรัฐธรรมนูญให้ทำประชามติก่อนทำและหลังทำเสร็จ รวม ๒ ครั้ง
ไม่ใช่ ๓ ครั้ง อย่างที่คณะ “นายภูมิธรรม” ลงความเห็น!

ทีนี้ ประเด็นมันเกิดตรงนี้……..
ถ้า “หน้าซื่อ-ใจซื่อ” อยากเขียนใหม่ ก็ต้องยึดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และเดินตามแนวที่ศาลฯ วินิจฉัยให้เดิน มันก็จบเรื่อง

คือ ศาลฯ วินิจฉัยแล้ว ให้เขียนใหม่ได้
แต่การเขียนใหม่ เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา คือสส.-สว.ร่วมกันจัดทำในรัฐสภา ตามเงื่อนไขประชามติ

ทีนี้ รัฐบาลเพื่อไทย โดยพรรคเพื่อไทย เขาต้องการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ คือ “ตั้ง ส.ส.ร.” เป็นผู้จัดทำแทนรัฐสภา
ซึ่งมันทำอย่างนั้นไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญ เพราะ “สสร.ไม่ใช่รัฐสภา”

ทางเพื่อไทยซึ่งมากไปด้วย “นักกฎหมายหัวหมอ” ก็เลยหาทางออกด้วยการ
เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ “เป็นไส้ติ่ง” ไว้ใน “หมวด ๑๕” ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน นำร่องก่อน
เป็น “หมวด ๑๕/๑”….

“ให้มี สสร.ไปจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”!

ทีนี้ การให้มีหมวด ๑๕/๑ มันมีผลเท่ากับ “ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน” ไปเลย ทั้งฉบับ

ซึ่งจะทำอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าจะทำ ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติก่อน นี่เป็นไปตาม “หลักการสำคัญ”

ตามที่คณะผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเดิมเขียนปกป้องคุ้มครองรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ไว้

สรุปก็คือ พรรคเพื่อไทย ต้องการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒๕๖ ให้มีสสร.ก่อน จากนั้น ค่อยทำประชามติถามประชาชน

ขืนทำประชามติไปก่อน ก็จะไม่มีช่องให้ตั้งสสร.!?
เพื่อดันให้มีสสร.จัดทำรัฐธรรมนูญแทนรัฐสภา แต่ไม่รู้จะดันยังไง เพราะศาลรัฐธรรมนูญชี้ทางเดินไว้ให้หมดแล้ว

เมื่อวาน (๒๒ มค.๖๗)
“นายชูศักดิ์ ศิรินิล” รองหัวหน้าเพื่อไทย “มือกฎหมาย” ผู้ไม่พบความสำเร็จเป็นชิ้น-เป็นอัน พร้อมคณะ

เพราะต้องการแก้รัฐธรรมนูญ “สอดไส้สสร.” ไว้ก่อนมีการทำประชามติถามประชาชน”ประสงค์ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่”?

ก็เลยยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่..) พ.ศ…. ต่อประธานรัฐสภา

คือ ทำเป็นไม่เข้าใจการทำประชามติตามวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่าต้องทำกี่ครั้งกันแน่ ๓ ครั้ง หรือ ๒ ครั้ง?

ทำอย่างนี้-อย่างนั้น หรือทำพร้อมกันกับประชามติได้มั้ย พูดง่ายๆ ทำเป็นนักกฎหมาย “ตาใส-ใจบอด” เสนอร่างแก้ไขสะเปะสะปะเข้าไปให้ประธานรัฐสภา

หวังให้ประธานรัฐสภาไม่บรรจุ
จะได้เป็นเหตุว่า “เกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา” เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความอีก

เนี่ย….
ที่เห็นนายชูศักดิ์แถลงพร้อมวอลเปเปอร์เพื่อไทยเป็นแผง เมื่อวานนั้น ที่ไป-ที่มา ก็ประมาณนี้

ซึ่งเป็นเรื่องซับซ้อนในซ้อนซับตามลีลา-เหลี่ยมเล่ห์นักกฎหมาย มันยากที่จะอธิบายให้คนทำมาหากินทั่วไปเข้าใจกันได้ง่ายๆ

รัฐบาลเพื่อไทย ตอนหาเสียง บอกว่า ๙ ปีรัฐบาลลุงตู่ ทำประเทศล้าหลัง-ล้มเหลว ประชาชนอดอยาก จะตายกันหมดแล้ว

เรื่องปากท้องชาวบ้าน เป็นปัญหาเร่งด่วนที่เขาจะเข้ามาแก้ไขเป็นอันดับแรก
แล้วไง…เข้าเดือนที่ ๕ เพื่อไทยแก้ปัญหาปากท้องอะไรไปบ้าง?

นายกฯ เอาแต่ยกโขยงเป็น “พระยาน้อยชมตลาด”
ผายลมให้ชาวบ้านดมไปมื้อๆ รัฐบาลก็ผลาญเงินในส่วนยิบๆย่อยๆสนุกสนาน ส่วนชาวบ้านปากแห้งยันตูด

พรบ.งบปประมาณ ปี ๖๗ ก็ยังคาสภา

๕ แสนล้าน “เงินแจก” ก็แถกเหงือก ทั้งที่รู้ว่าแจกก็คุก ก็ยังเอาปลาทูทาจมูกให้ชาวบ้านหลงกลิ่นตาม

ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้รับการแก้ไข มุ่งแต่แก้รัฐธรรมนูญตั้งสสร.ไปสู่การเขียนใหม่ และแก้กฎหมายประชามติให้ตรงสเปกพรรค!

พูดไปก็เท่านั้น…
จะบอกให้ ทั้งกู้มาแจก ทั้งแก้เพื่อเขียนใหม่ มันไม่สำเร็จทั้ง ๒ เรื่อง
ที่ “เสร็จ” คือเศรษฐา..ชัวร์!

เปลว สีเงิน
๒๓ มกราคม ๒๕๖๗

 

Written By
More from plew
จากสภาสู่ “พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์”
ค่า “แค่สลึง”…..! แต่ตีฟอง “ล้นบาท” มันไม่เป็นการ “ให้ราคาตัวเอง” เกินจริงมากไปหน่อยหรือ คุณธนาธร? การเป็นกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพรบ.งบประมาณ หรืออนุกมธ.พิจารณางบท้องถิ่น นั่นน่ะ มันชั่วคราว….....
Read More
0 replies on ““เพื่อไทย” ไปทางไหนกัน? – เปลว สีเงิน”