รายงานข่าวจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประกาศราคาแนะนำสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์ม วันพระที่ 17 มกราคม 2565 โดยเกษตรกรทั่วประเทศ ทั้งภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคอีสา ภาคเหนือ และภาคใต้ ร่วมกันยืนราคาสุกรที่ 110 บาทต่อกิโลกรัม ต่อเนื่องเป็นพระที่ 2 เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระผู้บริโภค โดยราคาจำหน่ายปลีกเนื้อสุกร ชิ้นส่วนสะโพก หัวไหล่ ในห้างค้าปลีก ราคาอยู่ที่ 175-185 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่โครงการพาณิชย์ลดราคา ขายหมูเนื้อแดงกิโลกรัมละ 150 บาท ปัจจุบันดำเนินการกระจายในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยสมาชิกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และรายกลาง ให้ความร่วมมือในการนำผลิตภัณฑ์เนื้อสุกร ร่วมสนับสนุนโครงการฯ เพื่อกระจายเนื้อสุกรราคาประหยัดช่วยบรรเทาค่าครองชีพประชาชนให้มากที่สุด
สถานการณ์การผลิตสุกรในปัจจุบัน พบว่า แม่พันธุ์สุกร ลูกสุกร และสุกรขุน หายไปจากระบบมากกว่า 50% จากการที่เกษตรกรเลิกเลี้ยงและหยุดการเลี้ยงไปเกินกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ จากจำนวน 2 แสนราย เหลือเพียง 8 หมื่นราย เนื่องจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์ของอุตสาหกรรม ประกอบกับเกษตรกรต้องแบกรับภาระขาดทุนสะสมตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ยังมีปัญหาโรคระบาดในสุกร ความเสียหายจากภาวะน้ำท่วม และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น และการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด ที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ทำให้ผู้เลี้ยงมีต้นทุนแฝงสูงถึง 500 บาทต่อตัว
จากกลไกตลาด ที่ปริมาณผลผลิตหมูไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ราคาสุกรเพิ่งจะปรับขึ้นมาในช่วง 1 เดือนเท่านั้น ราคาที่จำหน่ายขณะนี้ ผู้เลี้ยงพอจะคุ้มทุนบ้าง แต่ไม่ได้มีกำไรเหลือมากมาย เพราะต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มขึ้นทั้งหมด เกษตรกรแค่พอมีรายได้ใช้หนี้คงค้างและมีทุนในการเลี้ยงสุกรรุ่นต่อไปเท่านั้น โดยเกษตรกรร่วมกันรักษาระดับราคาสุกรหน้าฟาร์มไว้เช่นนี้ไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อช่วยลดค่าครองชีพของผู้บริโภคและช่วยให้ตลาดปรับตัวได้ นอกจากนี้ เกษตรกรไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการนำเข้าเนื้อหมู เนื่องจากเป็นการซ้ำเติมปัญหา กระทบกับภาวะราคาตกต่ำจากผลผลิตล้นตลาด และยังลดแรงจูงใจของเกษตรกรผู้เลี้ยงที่กำลังจะกลับเข้าระบบ กลายเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาซัพพลายสุกรที่ภาครัฐกำลังเร่งดำเนินการอยู่./