ข้าราชการกับงาน “หมู” – เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

ต้องบอกว่า……..
นี่มันไม่ใช่การแข่งกันหาเสียงซะแล้วหละ
แต่เป็นการห้ำหั่น-ประหัตประหารกัน
ชนิด “ต้องตกตาย” กันไปข้าง!
ระหว่าง “พลังประชารัฐ” กับ “ประชาธิปัตย์” ในศึกเลือกตั้งซ่อม สงขลา เขต ๑ กับ ชุมพร เขต ๑ พรุ่งนี้ (๑๖ มกรา.๖๔)
เอาเป็น-เอาตายกันขนาดไหน ก็ดูได้จากการจัดทัพชนกัน ในนัดปราศรัยส่งท้ายเมื่อคืนวันศุกร์ (๑๔ มค.)

ที่สงขลา พลังประชารัฐ “พลเอกประวิตร” ออกศึก คุมทัพเอง ส่วนที่ชุมพร มอบให้ “ร้อยเอกธรรมนัส” เลขาฯ พรรค ลงไปบัญชาการ

ประชาธิปัตย์ ที่สงขลา ให้ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” เลขาฯ พรรค คุมทัพยันสถานการณ์ ส่วนจุรินทร์ “หัวหน้า” คุมทัพหลวงลงไปประดาบก็เลือดเดือดกับพลังประชารัฐที่ชุมพร

ประชาธิปัตย์ เป็นการรบรักษา “พื้นที่เดิม”
ส่วนพลังประชารัฐ เป็นการรบชิงพื้นที่ “ประชาธิปัตย์!

อาทิตย์ที่ ๑๖ มกรา. “หวยออก” สองระลอก
ระลอกแรก หวย “กองสลาก”
ระลอกสอง หวย “พรรคร่วมรัฐบาล”

ระลอกแรกน่ะ ทั้งกินรวบและกินแบ่ง “เป็นประจำ” อยู่แล้ว แต่ระลอก ๒ นี่แหละ ไม่ว่าจะออกข้างไหน
มันจะต้อง “กินใจ” กันไป ระหว่างพรรคแกนรัฐบาล “พลังประชารัฐ” กับประชาธิปัตย์ “พรรคร่วม” ไปตลอดกาลนาน

ถ้าประชาธิปัตย์ รักษาพื้นที่เดิมไว้ได้
เพื่อประโยชน์ในสถานะรัฐบาลด้วยกัน พอ (เก็บอาการ) ฝืนใจอยู่ร่วมกันไปได้
แต่ถ้าแพ้ “เสียพื้นที่” ให้พลังประชารัฐละก็….

ที่หมอดูเขาว่า มีนา-เมษา.อาจมีปรับใหญ่ครม, หรือไม่ก็มีการยุบสภา
ถ้าไม่มีตอนนั้น ถึงกลางปีกระเดียดปลายๆ อาจถึงขั้นรัฐประหาร หรือไม่ก็ รัฐบาลจะถึงคราวต้องปรับเปลี่ยนตัวผู้นำ นั่นน่ะ
ทั้งหมดนั้น ผมไม่เชื่อหรอก

แต่หมอดูเขาพูดจากสถิติดวงดาว ส่วนผม ไม่มีตำรา-ไม่มีสถิติอะไรอ้างอิง พูดจากความรู้สึก
แต่พอเห็นพรรครัฐบาลด้วยกัน ตัวแม่ทัพใหญ่พรรคแกน “พลเอกประวิตร-ธรรมนัส” กับแม่ทัพใหญ่พรรคร่วม “จุรินทร์-เฉลิมชัย” นำทัพเข้าสัประยุทธ์ เอาเป็น-เอาตาย

ด้วย “ธรรมชาติประชาธิปัตย์”
“คับที่” อยู่ได้
แต่ถ้า “คับใจ” ละก็ เครื่องยนต์รัฐบาลรวนแน่ อาการ “ไฟตัน-น้ำมันช็อต” เกิดได้ง่ายๆ!

เท่าที่ฟัง ที่สงขลา “น้องน้ำหอม” ประชาธิปัตย์ ถึงแม้เป็นอันที่รักของชาวบ้านเหมือนลูกหลานในก้นครัวของทุกบ้านก็จริง

แต่เจอกลยุทธ์แยกศาสตร์ “หาเสียง” กับ “หาคะแนน” เป็นคนละเรื่องเดียวกัน ถ้า นส.สุภาพรหรือ “น้ำหอม” หลบกระสุนได้ ก็ “รอด”

ส่วนที่ชุมพร….
ด้วยบารมีอดีตสส.ลูกหมีที่ “ยอมตาย” เพื่อ “ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์” อันเห็นแล้ว เมื่อถูกให้พ้นสภาพ และส่ง “นายอิสรพงษ์” ลงซ่อมแทน ฟังว่าทั้งเสียง-ทั้งคะแนน “ยังแน่น” อยู่

ในภาวะประชาธิปัตย์ “ทั้งเจ้ากระทรวงพาณิชย์” นายจุรินทร์ และ “เจ้ากระทรวงเกษตร” นายเฉลิมชัย -ไปรบทัพจับศึกเลือกตั้งหมด

ท่ามกลาง “สนามปากท้องชาวบ้าน” ว่างเปล่า แม่ทัพที่จะออกศึกรับหน้า ว่าด้วยหมูแพง ไข่แพง สารพัดสินค้าพาเหรดขึ้นราคา
ประชาธิปัตย์ตกอยู่ในสภาพ “ศึกกระหนาบ” ขึ้นมาทันที!

เมื่อวาน (๑๔ มกรา.) จึงเห็น “นายกฯ ประยุทธ์” เชิญอธิบดีกรมปศุสัตว์ “สัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต” มาที่ทำเนียบ เพื่อช่วยกันหาทางคลี่คลายปัญหาหมู

เรื่องนี้ ควรทำความเข้าใจเบื้องต้นกันก่อน
เรื่องหมูเจอขาดแคลน จนราคาแพงกิโลละ ๒๕๐ บาท นั้น เหตุไม่ใช่เพิ่งเกิด
สาเหตุมันมีมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๒-๖๓ โน่นแล้ว คือหมูถูกโรคระบาดจนต้องกำจัดทิ้ง ทั้งลูก ทั้งพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ “ส่วนหนึ่ง” ส่งผลให้หมูขาดจากระบบในวันนี้

ปกติจะมีป้อนตลาด ๑๙ ล้านตัว/ปี ตอนนี้เหลือแค่ ๑๓ ล้านตัว และในจำนวน ๑๙ ล้านตัวนั้น บริโภคภายใน ๑๘ ล้านตัว ส่งออก ๑ ล้านตัว

ประเด็นหลักที่ด่ากัน คือ ไม่เห็นกระทรวงเกษตรฯ บอกเลยว่า เกิดการแพร่ระบาดโรค ASF ในสุกร หมูแพงโลดแล้วเพิ่งมาบอก

แสดงว่า นอกจากปกปิดเรื่องราวแล้ว กระทรวงเกษตรฯ ยังบกพร่อง ย่อหย่อน ปล่อยปละ ไม่บริหารปัญหาแต่ต้น จนนำมาสู่ “หมูแพง” ขณะนี้
แล้วทุกสารทิศก็จิกด่าไปที่ “อธิบดีกรมปศุสัตว์” ถึงขั้นว่าปลดไปเลย!

พูดกันตรงๆ ในฐานะที่ผมตาแฉะอยู่กับข่าวในแต่ละวัน จะว่าปกปิดก็คงไม่ใช่ เพราะจำได้ว่า เคยผ่านตาเหมือนกันว่าโรค ASF เข้าระบาดหมูในไทย
แต่ใครล่ะ…ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ?

เมื่อรู้แล้ว ก็ไม่สนใจที่จะบริหารปัญหาแต่ต้นมือ ปล่อยให้เกิดภาวะ “หมูขาดแคลน” ส่งผลถึงราคาแพงวันนี้
ก็โวยวาย โทษคนโน้น-โทษคนนี้ จนบัดป่านนี้ ก็ยังหาเจ้าภาพไม่ได้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ต้องเป็นแพะให้เชือดแทนหมูไปเต็มๆ คนเดียว

ในบทบาทบริหาร เมื่อเกิดเรื่องอย่างนี้ คนที่ต้องยืดอกรับปัญหาคือ “นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน” ในฐานะเจ้ากระทรวงเกษตรฯ
แต่ก็ไม่เห็น ก็คงไปติดพันประจัญศึกเลือกตั้งอยู่นั่นแหละ

จะโทษนายจุรินทร์ ก็โทษได้ครึ่งๆ ในฐานะ “รองนายกฯ” ผู้กำกับงานกระทรวงเกษตรฯ
ครั้นจะโทษอธิบดีกรมปศุสัตว์ นั่นก็แค่ “ผู้ปฎิบัติ” ตามคำสั่ง และเมื่อเกิดโรค ก็เคยผ่านหู-ผ่านตาว่าท่านแจ้งให้ทราบแล้ว

งั้น…แล้วใครล่ะ ระดับรัฐมนตรีที่ “กำกับดูแลงานกรมปศุสัตว์”?
ลองไปค้นการแบ่งงานดู ก็พบว่า รัฐมนตรีว่าการ มอบหมายหน้าที่กำกับดูแล-สั่งการ “กรมปศุสัตว์” ให้กับ “นายประภัตร โพธสุธน” ผู้เป็นรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ!

อืมมมม…..อย่างนี้นี่เอง
แล้วตั้งแต่เกิดเรื่อง-เกิดราว ใครเคยเห็นหน้า “รัฐมนตรีประภัตร” ออกมาบอกว่า เรื่องนี้เป็นงานในหน้าที่รับผิดชอบผมเองบ้าง?

นี่แหละ ก็ลำดับเรื่องให้ฟัง จะได้ด่าไล่เลียงกันไปถูกต้อง “ตามราคา” ของแต่ละผู้บริหาร
เห็นใจ “สัตว์แพทย์สรวิช” ท่านน่ะ ไม่งั้น จะมีคนพลิกประเด็นไปพูดทำนอง ว่า
“นายกฯ เรียกอธิบดีกรมปศุสัตว์ไปเฉ่งปี๋” จะปลดบ้าง

“นายกฯ ล้วงลูกรัฐมนตรีเกษตรฯ เรียกอธิบดีปศุสัตว์ไปสั่งการเอง” บ้าง
และถ้าเกษตรฯ ก็เฉย พาณิชย์ฯ ก็เฉย ซ้ำนายกฯ “หัวหน้ารัฐบาล” เป็นทองไม่รู้ร้อนไปอีกคน ปล่อยให้ปัญหาหมูแพงเป็น “ศพไม่มีญาติ” ไปเรื่อยๆ

ไม่ถามหรอกว่า “อะไรมันจะเกิด”
แต่จะถามว่า “มันถูกต้องมั้ย?”

ผมอ่านข่าวที่เขารายงาน ด้วยอยากรู้ นายกฯ เรียกอธิบดีปศุสัตว์ไปพบด้วยทัศนคติไหน
เมื่อทราบก็อดชมในใจไม่ได้ว่า “เดี๋ยวนี้นายกฯ” ผลึกเย็นแล้ว”!
ไม่เป็นลาวาเหมือน ๔-๕ ปีแรก ที่ “ร้อนแบบทหาร” ในการบริหารปัญหา

แต่ตอนนี้ “เย็นแบบนักการเมือง” มืออาชีพ ในการบริหาร
คือ ตอนนี้ ทุกคนรู้แล้วว่า “หมูแพง”

แพงเพราะเกิดโรคระบาดในหมู ต้องฆ่าหมูส่วนหนึ่งทิ้ง ส่งผลถึงดีมานด็-ซัพพลายวันนี้
แล้วที่ชาวบ้านอยากรู้ และต้องการคำตอบชัดๆ คือ
“จะต้องแพงต่อไปอีกนานขนาดไหน จะแก้อย่างไร?”

ไม่ใช่เอาแต่ด่ากันไป โทษกันไป เอะอะเสนอครม.เอาเงินมาโปะตะพึด ซึ่งมันไม่ใช่การแก้ปัญหาโดยตรง
แต่มันเป็นการฉกฉวยปัญหาเอาเงินมาผลาญกันไปเฉพาะหน้ามากกว่า!

ก็ได้คำตอบจากอธิบดีปศุสัตว์ว่า ราคาหมูจะเข้าภาวะปกติได้ ต้องใช้เวลา ๘-๑๒ เดือน!
นายกฯ ก็ใช้มหาดไทยไปช่วยกรมปศุสัตว์สำรวจหมูทั่วประเทศให้รู้จำนวนแน่นอน เพราะถ้าจะบริหารปัญหาให้ได้ผล

ขั้นแรก ก็ต้องรู้ “ปริมาณที่มี” เสียก่อน
ทำไมต้องนานเป็นปี?
ก็ตอนระบาด ไม่แค่ลูกหมูในฟาร์มถูกกำจัด “พ่อพันธุ์-แม่พันธุ์” ก็ถูกกำจัดไปด้วย

แล้วคิดดูซิ ไม่ใช่หมูออมสิน ที่จะปั้นเอาได้ แต่นี่หมูมีชีวิต ต้องเริ่มตั้งแต่พ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ แล้วกว่าจะออกมาเป็นลูกหมูป้อนตลาด ๑๘-๑๙ ล้านตัว/ปี

กรมปศุสัตว์ไปจัดการตามที่ปรึกษาหารือกับนายกฯ ได้ตามกำหนดเวลานั้น
กันยา.นี้ อธิบดีสรวิชจะเกษียณ จะต่ออายุราชการให้ท่านอีกซักปี ก็คุ้ม

ซ้ำจะเป็นตัวอย่างดีๆ ให้ข้าราชการที่ดีๆ ที่มีไฟ-มีพลัง ทุ่มเททำงานให้ชาติบ้านเมืองด้วยซ้ำ!
นักการเมืองน่ะ “เดี๋ยวมา-เดี๋ยวไป” อำนาจเอา ความรับผิดชอบในหน้าที่ ไม่ค่อยเอา

ต่างกับข้าราชการ กว่าจะไต่เต้าขึ้น ซี ๙ ซี ๑๐ ถ้าไม่มี “พลังศรัทธาข้าราชการ” ในตัว ยากนะ กว่าจะไปถึงจุดนั้น

ข้าราชการแต่ละหน่วยงาน ลมหายใจเขาอยู่ในนั้น ใช้เขาให้ถูก เขารู้ปัญหา แต่เขาไม่มีอำนาจบริหาร-สั่งการโดยตรง
ถ้านักการเมืองใช้พระคุณแทนพระเดชกับเขา และใช้ให้เขาทำงานราชการเพื่อประชาชน ไม่ใช่เป็นลูกมือหาเงินเพื่อนักการเมือง

เผลอๆ ๔-๕ เดือน ……
จากโลละ ๒๕๐ จะลงมาเหลือ ๑๕๐ เชื่อเหอะ!

เออ…แต่ว่า “รัฐมนตรีประภัตร” ท่านยังอยู่มั้ยเนี่ย?



Written By
More from plew
ยิ่งนาน “ตั้งรัฐบาล” ยิ่งเละ-เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน ตกลง คำว่า “แป๊บๆ” นี่…. มันหมายถึง “เร็ว” หรือ “ช้า” กันแน่นะ ชักสับสนแฮะ?
Read More
0 replies on “ข้าราชการกับงาน “หมู” – เปลว สีเงิน”