วันที่ 14 มกราคม 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงผลการประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค. หรือ ศบค.ชุดเล็ก) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นำเสนอ โดยเห็นควรให้มีการเปิดการเรียนการสอนแบบ On-site โดยสถานศึกษาดังกล่าวจะต้องผ่านการประเมิน TSC + และต้องปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัย 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) และแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา อย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด
นางสาวตรีนุชกล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบให้มีการเตรียมการจัดการฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียนอายุ 5-11 ปี ซึ่งจากการสำรวจของ ศธ.ล่าสุด พบว่ามีผู้ปกครองให้ความยินยอมที่จะให้บุตรหลานของตนเข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ถึงร้อยละ 71 จากนี้ไป ศธ.จะประสานการจัดหาวัคซีน และเตรียมขั้นตอนปฏิบัติการฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียนทั่วประเทศ
“ทั้งนี้สถานศึกษาสามารถเลือกรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับบริบทตามการแพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่ และได้เน้นย้ำและกำชับให้ผู้บริหารทุกระดับให้ความสำคัญในการตรวจเยี่ยมสถานศึกษาในกำกับของตนเองที่มีการเปิดเรียนแบบ On-site เพื่อตรวจสอบมาตรการ 6-6-7 และที่สำคัญมีแผนเผชิญเหตุหากมีการพบผู้ที่มีความเสี่ยงสูง หรือผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าว
ทั้งนี้ ทางกระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดทำแผนเผชิญเหตุหากพบผู้ที่มีความเสี่ยงสูง หรือผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยได้กำหนดแนวทางและหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติที่เหมาะสมทั้งในระดับคุณครู และระดับสถานศึกษา ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนด และเห็นชอบ และได้เน้นย้ำให้คุณครู และผู้บริหารสถานศึกษายืดถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด โดยแนวปฏิบัติหลัก หากพบผู้ที่มีความเสี่ยง หรือพบผู้ติดเชื้อจะต้องทำการคัดแยกเด็กดังกล่าว และรายงานเหตุให้ผู้บังคับบัญชาทราบ จากนั้นประสานและแจ้งต่อหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เข้าดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับทราบ
สำหรับมาตรการความปลอดภัย 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) ได้แก่ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ คัดกรองวัดไข้ ลดการแออัด และทำความสะอาด ส่วน 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) ประกอบด้วย ดูแลตนเอง ใช้ช้อนกลาง กินอาหารปรุงสุกใหม่ ลงทะเบียนเข้าออกโรงเรียน สำรวจตรวจสอบ และกักกันตัวเอง และแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา ได้แก่ การประเมิน TSC+ รายงานผลผ่าน MOE COVID อย่างต่อเนื่อง, การทำSmall Bubble สำหรับกิจกรรมแบบกลุ่มย่อย, การจัดอาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหารและหลักโภชนาการ, การอนามัยสิ่งแวดล้อม ทั้งอากาศ ความสะอาด น้ำ ขยะ , การทำ School Isolation โดยมีแผนเผชิญเหตุและซักซ้อม, การทำ Seal Route ดูแลการเดินทางจากบ้านไปกลับโรงเรียน และการจัดให้มี School Pass สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษา