ปัจจุบันคุณภาพอากาศในหลายพื้นที่เริ่มกลับมาวิกฤติอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงจังหวัดที่มีการเกิดไฟป่าด้วย และมักจะพบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สูงเกินมาตรฐานซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้
นอกจากประเด็นเรื่องค่าฝุ่นที่สูงเกินมาตรฐานแล้ว สิ่งที่พึงระวังคือการปนเปื้อนของสารมลพิษที่เกาะอยู่กับเม็ดฝุ่นนั้น เช่น โลหะหนัก และสารก่อมะเร็งอย่างโพลีไซคลิกอะโรมาติไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons) หรือเรียกสั้นๆ ว่า PAHs ซึ่งมีปริมาณสูงมากในอนุภาคฝุ่น
ดร.ภูวดล ธรรมราษฎร์ ผู้จัดการอาวุโส ห้องปฏิบัติการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ จำกัด (N Health) ระบุว่า เราอาจได้รับ PAHs เข้าสู่ร่างกายจากแหล่งต่างๆ อาทิ ไอเสียจากเครื่องยนต์ ไอเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม เขม่า ควันไฟ ควันธูป ควันบุหรี่ อาหารปิ้งย่าง อาหารรมควัน ยาหรือเครื่องสำอางบางชนิด
นอกจากนี้ยังสามารถได้รับจากการทำงานที่มีการใช้วัตถุดิบที่มี PAHs ปนเปื้อนอยู่ด้วย และให้ข้อมูลด้านสุขภาพว่า PAHs มีคุณสมบัติเป็นอนุมูลอิสระ (Free Radical) ดังนั้นการได้รับในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย เช่น ระบบภูมิคุ้มกันลดลง ระบบทางเดินหายใจมีปัญหา ปอดถูกทำลาย มีอาการคล้ายหอบหืด นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า PAHs เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์และก่อมะเร็งได้
ทั้งนี้ PAHs เป็นกลุ่มสารที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของสารประกอบอินทรีย์ เช่น ถ่านหิน น้ำมันดิบ น้ำมันปิโตรเลียม ต้นไม้ หญ้า ขยะ บุหรี่ เป็นต้น
สาร PAHs มักจะเกาะกลุ่มกันเป็นอนุภาคเล็กๆ หรือจับกับฝุ่นขนาดเล็ก (PM2.5 และ PM10) แล้วล่องลอยไปในอากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของเกิดปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม
เมื่อ PAHs เข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นสารเมตาบอไลต์ชนิดต่างๆ โดยตัวที่สำคัญ คือ 1–Hydroxypyrene (1-OHP) ในปัสสาวะ ซึ่งสามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biomarker) สำหรับตรวจติดตามระดับการได้รับสาร PAHs เพื่อประเมินความเสี่ยงและวางแผนการดูแลสุขภาพได้
อย่างไรก็ตาม วิธีป้องกันตัวเองจากสารมลพิษทางอากาศที่ดีและง่ายที่สุดคือการสวมหน้ากากหรือใช้ผ้าปิดจมูกเพื่อกันฝุ่น หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่มีฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน หลีกเลี่ยงการจราจรช่วงติดขัด นอกจากนี้การเปิดเครื่องฟอกอากาศ และหมั่นทำความสะอาดที่อยู่อาศัย ก็สามารถช่วยลดการสัมผัสฝุ่นได้
ห้องปฏิบัติการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยของ N Health เป็นห้องปฏิบัติการเอกชนเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ให้บริการตรวจวิเคราะห์สาร 1-Hydroxypyrene (1-OHP) ในปัสสาวะเพื่อใช้เป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพสำหรับตรวจติดตามระดับการได้รับสาร PAHs ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Liquid Chromatography Tandem Mass Spectrometry (LC-MS/MS) ซึ่งมีความจำเพาะต่อโมเลกุลของสารที่ตรวจ และให้ผลการวิเคราะห์ที่แม่นยำแม้ว่าจะมีปริมาณน้อยๆ ก็ตาม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2762-4000 หรือ Email: [email protected] และ @Nhealth