ปัญหาผิวหนังที่พบบ่อยในนักท่องเที่ยว

ปัญหาผิวหนัง เป็นหนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยที่สุดในนักท่องเที่ยว โดยโรคที่พบมากได้แก่ แมลงสัตว์กัดต่อย อาการคันจากผิวแห้ง และผิวไหม้จากแสงแดด โดยแต่ละพื้นที่จะพบปัญหาผิวหนังที่แตกต่างกัน ดังนั้นก่อนออกเดินทาง เราควรศึกษาหาข้อมูลของสถานที่ท่องเที่ยวให้ละเอียด เพื่อเตรียมป้องกันตนเองจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปค่ะ บทความนี้ขอเน้นเรื่องแมลงสัตว์กัดต่อย ตามประเภทของแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ มาเรียนรู้กันว่า เราอาจจะพบเจ้าถิ่นแบบไหนและป้องกันอย่างไรก่อนเดินทางนะคะ

เที่ยวทะเล ….

1.ริ้นทะเล (ปึ่ง) 

ริ้นทะเลมีขนาดเล็กกว่ายุง เป็นแมลงบิน อยู่กันเป็นฝูงตามชายหาดและป่าชายเลน เรามักจะมองไม่เห็นตัวริ้นได้ยินแต่เสียงหึ่ง ๆ ริ้นทะเลบินได้ไม่สูงและไม่ไกลเกิน 1กิโลเมตร ตัวเมียดูดเลือดสัตว์เป็นอาหารเพื่อใช้ในการผลิตไข่ ตัวผู้กินแมลง ซากเน่าเปื่อย ออกหากินเวลาเช้าตรู่และพลบค่ำ 

ส่วนของปากที่ใช้ดูดเลือดมีอวัยวะตัดเฉือนเนื้อเยื่อ ทำให้ผื่นผิวหนังของคนที่ถูกริ้นทะเลดูดเลือดจะมีรูตรงกลางเห็นได้ชัด ไม่ใช่เป็นจุดเล็กๆแบบยุงกัด มักพบหลายตุ่มบริเวณผิวหนังนอกร่มผ้า บางครั้งผื่นอาจเป็นคล้ายจ้ำเลือดเพราะขณะที่ริ้นทะเลกัดจะปล่อยสารยับยั้งการแข็งตัวของเลือด …การป้องกัน ไม่ไปเดินเล่นชายหาด บริเวณที่มีพุ่มไม้รก หรือป่าชายเลน ช่วงโพล้เพล้ ใส่เสื้อผ้ามิดชิด ใช้ยากันแมลงพ่นที่ตัวเรา

2.พยาธิชอนไชผิวหนัง

เกิดจากการเคลื่อนที่ตัวอ่อนของพยาธิสัตว์บนผิวหนังชั้นนอกของคน ตัวอ่อนของพยาธิไชเข้ามาขณะที่เรานั่งหรือนอนเล่นบนพื้นทรายที่มีการปนเปื้อนของมูลสัตว์ เช่น สุนัข แมว เนื่องจากคน ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่พยาธิเติบโต พยาธิตัวอ่อนจึงอยู่ได้แค่ในผิวหนังกำพร้าแล้วตายไปในที่สุด ผื่นผิวหนังตอนแรกจะเกิดเป็นตุ่มเล็ก ๆ สีแดงก่อน คันมาก

เมื่อตัวอ่อนพยาธิเริ่มเคลื่อนที่จะเห็นผื่นเป็นเส้นนูนคดเคี้ยว สีแดงกว้าง 23 มิลลิเมตร ผื่นอาจมีความยาวได้ถึง 20 เซ็นติเมตร พบมากที่บริเวณเท้า ก้น ลำตัว ขา หรือบริเวณอื่น ๆ ที่สัมผัสกับดินโดยตรงการป้องกัน หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่า การนั่งหรือใช้มือสัมผัสดินปนทรายนาน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อพยาธิมากกว่าบริเวณที่น้ำทะเลท่วมถึง

3.แมงกะพรุนไฟ

แมงกะพรุนไฟ มีเข็มพิษจำนวนมากอยู่ที่บริเวณหนวด เมื่อสัมผัสโดนผิวหนังเรา เข็มพิษจะแตกออก ปล่อยพิษเข้าสู่คน ทำให้เป็นผื่นแดง ไหม้ พุพอง บริเวณที่โดนพิษได้ ผื่นจากแมงกะพรุนไฟจะเป็นแนวยาวตามเส้นหนวดของแมงกะพรุนที่พาดกับผิวเรา แมงกระพรุนพบได้ทั้งฝั่งทะเลอันดามัน และ ฝั่งอ่าวไทย พบมากในช่วงเดือน กรกฎาคมถึง ตุลาคม การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกแมงกระพรุน ทำตามลำดับ ดังนี้ 

1) เรียกให้คนช่วย อยู่นิ่ง ๆ 2) ห้ามขัดถูบริเวณที่ถูกแมงกะพรุนหรือราดน้ำจืด เพราะจะทำให้มีการปล่อยพิษเพิ่มขึ้น ให้ราดน้ำส้มสายชู บริเวณที่มีร่องรอยจากการสัมผัสแมงกะพรุนให้ทั่วนานอย่างน้อย 30 วินาที จากนั้นค่อย ๆ ดึงเข็มพิษออกจากผิวหนังอย่างระมัดระวัง … การป้องกัน ศึกษาหาข้อมูลว่าหาดที่เราจะไปมีแมงกะพรุนชุกในช่วงใดของปี ไม่เล่นน้ำทะเลในฤดูฝน เล่นน้ำทะเลบริเวณที่ทางราชการจัดให้

4.หอยเม่น

เมื่อเล่นน้ำทะเลหรือดำน้ำบริเวณที่มีปะการังมักพบเห็นหอยเม่นที่พื้นทรายใต้ทะเล ถ้าเหยียบบนพื้นหรือจับโขดหินโดยไม่ระวัง อาจถูกหนามของหอยเม่นตำ ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด หรือเป็นแผล และมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมา หอยเม่นบางชนิดมีเข็มพิษทำให้ปวดมาก การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกหนามของหอยเม่นตำ ให้ใช้ปากคีบดึงหนามออก แช่มือหรือเท้าบริเวณที่ถูกตำในน้ำร้อน 45 องศาเซลเซียส นาน 3090 นาทีเพื่อทำลายพิษจากหอยเม่น

 เที่ยวป่า ภูเขา น้ำตก…

1.เห็บ

คนจะโดนกัดเมื่อเข้าไปในถิ่นที่อยู่ของเห็บ เช่น ตามพุ่มไม้ บริเวณที่รก เห็บอาศัยตามใบไม้คอยกระโดดเกาะและดูดเลือดคนหรือสัตว์ที่ผ่านมา ขณะเห็บกัดคนมักไม่รู้สึกเพราะเห็บจะค่อย ๆ สอดส่วนปากลงไปในผิวหนังและน้ำลายของเห็บมีสารที่ทำให้รู้สึกชา สารยับยั้งการแข็งตัวของเลือด สารยับยั้งการอักเสบของร่างกาย 

เห็บสามารถกัดได้ทุกส่วนของร่างกาย อาการของเห็บกัดเกิดได้จากส่วนที่เหลือของปากเห็บที่ค้างในผิวทำปฏิกริยากับภูมิคุ้มกัน โดยชนิดและความรุนแรงของผื่น ขึ้นอยู่กับชนิดของเห็บ ระยะเวลาการโดนดูดเลือด ขนาดของส่วนปากของเห็บ ประวัติการโดนเห็บกัดมาก่อนและปฏิกริยาภูมิคุ้มกันของแต่ละคน …

ริ้นดำ

การป้องกัน ใส่เสื้อผ้ามิดชิด ไม่เดินไปในที่รก ใบไม้หนาทึบ ใช้ยากันแมลงพ่นที่ตัวเรา  ถ้าถูกเห็บกัด ให้ใช้ปากคีบจับที่ส่วนหัวของเห็บดึงออกในแนวตรง ตั้งฉากกับผิวหนัง เมื่อเห็บหลุดออกมาให้สังเกตว่า มีส่วนของปากหลุดออกมาครบ และควรทำความสะอาดแผลด้วยการฟอกสบู่และทายาฆ่าเชื้อโรค

2.ริ้นดำ (คุ่น)

ริ้นดำจะมีรูปร่างลักษณะคล้ายริ้นทะเล  แต่มีถิ่นที่อยู่ต่างกัน คือ ริ้นดำจะวางไข่บริเวณก้อนหินบนลำธารน้ำไหล ตัวอ่อนต้องการน้ำที่มีออกซิเจนสูง ชอบอากาศเย็น จึงพบบริเวณลำธารบนภูเขาทางภาคเหนือของไทย ออกหากินทั้งเวลากลางวันกลางคืน ตัวเมียจะดูดเลือดสัตว์เป็นอาหาร ผื่นผิวหนังจากริ้นดำกัดจะมีลักษณะคล้ายกับที่โดนริ้นทะเล การป้องกัน ใส่เสื้อผ้ามิดชิด ใช้ยาทากันแมลง

เรือด

โรงแรมที่พัก โฮมสเตย์

เรือด

ตัวเรือดมีลำตัวแบนสีน้ำตาลแดง ขนาดประมาณ 6มิลลิเมตร ไม่มีปีก อาศัยอยู่ตามซอกรอยแตก ตะเข็บของที่นอน หมอนหรือเฟอร์นิเจอร์ ตัวเรือดจะออกมาเฉพาะกลางคืน เพื่อดูดเลือดจากสิ่งมีชีวิต อาจมาสู่บ้านของนักท่องเที่ยว โดยติดมากับกระเป๋าเดินทาง จึงควรเก็บกระเป๋าเดินทางออกจากพื้น และปิดฝากระเป๋าเมื่อไม่ใช้งานแล้ว ตัวเรือดกำจัดยากต้องใช้ความร้อนสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส       

ตัวเรือดมักกัดบริเวณใบหน้า คอ แขน ลำตัว รอยกัดจากตัวเรือดจะเป็นตุ่มแดงคันขนาด 2-5 มิลลิเมตร ไม่เจ็บ ส่วนมากจะเรียงตัวกันเป็นแนว 3ตุ่ม ผื่นเกิดหลังถูกกัด เป็นชั่วโมงหรือหลายวันได้ รอยกัดของตัวเรือดเป็นอาการเฉพาะที่ หายได้เองภายใน 2-4 สัปดาห์

จะเห็นว่าผื่นผิวหนังที่เกิดกับนักท่องเที่ยวไม่น่ากังวล และสามารถป้องกันได้ โดยการศึกษาข้อมูลและเตรียมเสื้อผ้า ของใช้ให้เหมาะสมต่อการเดินทางในแต่ละสถานที่ที่จะไปและกิจกรรมที่จะทำ อยากเชิญชวนให้เที่ยวเมืองไทย ประเทศของเรามีธรรมชาติที่สวยงามและขนมธรรมเนียมประพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของเราเอง

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดเช่นนี้ อย่าลืม รักษาระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย และ ล้างมือด้วยสบู่หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ นะคะ สำหรับผู้สนใจที่ต้องการศึกษาเพิ่มเติม สามารถเข้าชมข้อมูลได้ที่เพจ “ครบเครื่องเรื่องผิวหนัง” ได้ที่ https://fb.watch/aaSe_LfGQt/ หรือเข้าศึกษาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย (WWW.DST.OR.TH) ค่ะ

รศ.ดร.พญ.จิตติมา ฐิตวัฒน์ และรศ.พญ.กัญญรัตน์ กรัยวิเชียร

อ.พญ.สุพิชชา กมลรัตนกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย

                                                                                                                                                                 ภาพโดย : คุณยุทธนา สามัง


Written By
More from pp
เกษตรกร ให้ความสนใจ เข้าร่วมงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชนต้นแบบ จ.น่าน พร้อมลด ละ เลิก การใช้สารเคมี โดยองค์ความรู้จากโครงการหลวง จัดโดย สวพส.
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ร่วมกับ จังหวัดน่าน จัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชนต้นแบบ (Field Day) การลด ละ เลิก การใช้สารเคมี โดยองค์ความรู้จากโครงการหลวง ช่วงระหว่างวันที่...
Read More
0 replies on “ปัญหาผิวหนังที่พบบ่อยในนักท่องเที่ยว”