แม่มะลิ
วันดีคืนดี เพื่อนแม่มะลิมาปรารภ “ไม่รู้ทำไมอยู่ดีๆ อยากไปพุทธคยา” แน่ะ..แม่มะลิกำลังคิดอยากไปเหมือนกัน เพียงแต่ไม่ได้เล่าให้นางฟังเท่านั้นเอง พอมีเพื่อนเท่านั้นแหละ ไอเดียบรรเจิด แผนมา ๑ ๒ ๓ ๔ นู่น..นี่..นั่น จองตั๋วเครื่องบินเรียบร้อยภายใน ๒ วัน อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิดจริงๆ แม่มะลิเชื่อแล้วชะตาฟ้าลิขิต เบื้องบนกำหนดมา บทจะได้ไป ก็ไปกันได้ง่ายๆ เรื่องบางเรื่องที่คิดอยากจะทำเป็นปีก็ยังได้แต่คิด
วันที่พวกเราวางแผนไว้ บังเอิญโชคดีมาก ตรงกับช่วง งาน “สาธยายพระไตรปิฎก” ประจำปี ที่เจดีย์พุทธคยา หรือที่ “ต้นพระศรีมหาโพธิ์”
กลุ่มแม่มะลิ เราไปกัน ๓ สาว (เหลือ) น้อย พักที่ “วัดไทยพุทธคยา” ผู้ใหญ่ใจดีกรุณาเป็นธุระให้ และแนะนำเราให้ขนเสบียงบุญไปให้โรงครัวของวัด ทั้งพริกแกงมัสมั่น แกงเขียวหวาน แกงเผ็ด เห็ดหอม วุ้นเส้น เส้นหมี่ หมี่เตี๊ยว เห็ดหูหนู ลำไยอบแห้ง พริกไทย พริกแห้ง กะทิ ขนมแจกเด็กๆ ฯลฯ
ตอนช้อปนี่สารภาพหน้ามืดตามัว ไม่ได้คิดอะไรเล้ย ถึงเวลาบินน้ำหนักเกินที่ซื้อไว้ เราขนจากประเทศไทยไปถวายวัดรวมกัน ๓ คน ๗๐ กว่ากิโล ต้องแยกมาหิ้วขึ้นเครื่องกันอีกคนละ ๗ กิโล แต่ก็แบกถึงวัดกันโดยสวัสดิภาพ แม่ครัวถึงกับปลื้มปริ่ม ยังไงเสียทำกับข้าวด้วยวัตถุดิบจากไทย รสชาติที่ได้มันก็ไม่เหมือนวัตถุดิบของอินเดีย
จบวันแรกด้วยการเดินเล่นนิดหน่อยในวัด นอกวัด พอให้รู้อะไรอยู่ตรงไหน เช้าวันใหม่ค่อยลุยต่อตามแผน แม่มะลิกับเพื่อนไปกัน ๔ วัน ๓ คืน มีเวลาเยอะ ช่วงเดือนธันวาคมนี้ อากาศดีมากมาก
วันที่สอง พวกเราตื่นแต่เช้า เสียงสวดมนต์ทำวัตรของพระคุณเจ้าดังกังวาน ปลุกพลังในตัวให้พร้อมรับวันใหม่อย่างสดชื่น อาบน้ำแต่งตัว รับอาหารเช้าที่โรงทาน เรียบร้อยดีแล้วเตรียมตัวเดินไปเจดีย์พุทธคยา แม่มะลิกับเพื่อนๆ มีหนังสือสวดมนต์ไปกันคนละเล่ม เดินจากวัดไปประมาณ ๑๕ นาที ถึงเจดีย์พุทธคยา
ตรวจกระเป๋าเรียบร้อย ชำระค่ากล้อง กล้องละ ๑๐๐ รูปี (ห้ามมือถือ และ Power Bank) เดินเข้าด้านใน ตรงไปกราบนมัสการพระพุทธเมตตา ร่วมถวายผ้าไตรจีวรห่มองค์ท่าน พร้อมถวายข้าวมธุปายาส
“พระพุทธเมตตา” พระพุทธปฏิมากรปางชนะมารซึ่งมีอายุ ๑,๔๐๐ ปีเศษ ที่รอดพ้นจากการถูกทำลายจากกษัตริย์ฮินดู อย่างปาฎิหาริย์ ประดิษฐานอยู่ในพระมหาเจดีย์พุทธคยาด้วยพระพักตร์ที่แสดงถึงพระเมตตาและกรุณาอันเปี่ยมล้น แม่มะลิกับเพื่อนๆ ฟังเสียงสวดของพุทธศาสนิกชนที่ร่วมห่มผ้าฯ และถวายข้าวฯ พร้อมกัน พอเงยหน้าขึ้นไปมองตาท่าน เห็นดวงตาท่านที่มองลงมาที่เรา รู้สึกได้ถึงความเมตตา กรุณา พวกเราปลื้มปีติจนน้ำตาคลอ
หลังจากนั้น พวกเราเดินเวียนประทักษิณ (เดินเวียนขวา) รอบองค์พระมหาเจดีย์พุทธคยา ๓ รอบ นำดอกไม้มาวางถวาย (๓ ถาด ๑๐๐ รูปี) ร่วมกับพุทธศาสนิกชนท่านอื่นๆ ที่ด้านหน้ามหาเจดีย์ ถวายดอกไม้เรียบร้อย ก็พากันหาที่นั่งใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทำจิตทำใจให้สงบ นั่งสาธยายพระไตรปิฎกร่วมกัน ใครใคร่สวดมนต์ต่อก็สวดไป ใครใคร่นั่งสมาธิก็นั่งไป ส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชนจากทั่วโลก ต่างชาติ ต่างภาษา แต่ก็มีศูนย์รวมจิตใจอยู่ที่เดียวกัน
การสาธยายพระไตรปิฎก ณ พุทธคยา จะสวดเป็นภาษาบาลี มีนักบวชจากนานาชาติต่างสาธยายธรรมะหมวดต่างๆ สลับช่วงเวลากัน บ้างก็สวดมนต์ เดินจงกรม ปฏิบัติภาวนา ตามแต่สมควร แม่มะลิเห็นด้วยตาตัวเอง พระภิกษุ สามเณร แม่ชี แม้จีวรที่สวมใส่จะคนละสี คนละแบบ เสียงสวดภาวนาจะคนละสำเนียง คนละภาษา ท่ากราบไหว้แม้จะแตกต่างกันไปคนละแบบ เหล่านี้ทำให้แม่มะลิคิดได้ว่า “พระธรรม” คือสิ่งเดียวที่สร้างความสามัคคีให้แก่ชาวพุทธทั่วโลก ซึ่งทำให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ได้มาอย่างยาวนานกว่า ๒,๕๐๐ ปี จนกระทั่งปัจจุบัน
การสาธยายพระไตรปิฎกปี ๒๕๖๒ นี้ มีประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพ ณ วันนี้ มีพระไตรปิฎก เป็นภาษาไทยเล่มใหญ่ แจกให้ชาวไทย ที่เข้าร่วมงาน สำหรับอ่านสาธยายไปพร้อมๆ กับการสาธยายของประเทศอื่นๆ เมื่อคิดว่าอ่านจนพอใจแล้ว ก็นำไปคืนที่เดิม นับว่าสะดวกสบายสำหรับพุทธศาสนิกชนชาวไทย แม่มะลิขอขอบคุณผู้ที่จัดทำพระไตรปิฎกภาษาไทย ซึ่งอำนวยความสะดวกให้พุทธศาสนิกชนชาวไทย ที่เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก
พุทธคยา ถือว่าเป็นสถานที่สำคัญที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวพุทธทั่วโลก เป็นศูนย์รวมของการจาริกแสวงบุญของพุทธศาสนิกชนจากทั่วโลก รวมทั้งนักท่องเที่ยวทั่วไป และพุทธคยาเป็นสังเวชนียสถานแห่งที่ ๒ คือสถานที่ตรัสรู้ของ องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า
ในอาณาบริเวณพุทธคยาจะมีวัดชาวพุทธเป็นจำนวนมาก เรียกว่าวัดพุทธนานาชาติ อาทิ ทิเบต เนปาล จีน ญี่ปุ่น พม่า ศรีลังกา บังคลาเทศ อินเดีย เวียดนาม เกาหลี ภูฏาน สิกขิม รวมทั้งวัดไทยอีกหลายสิบวัด
พุทธคยาถือว่าเป็น “ปฐวีนาภี สะดือของโลก” เป็นจุดศูนย์กลางของโลก อัคคัญญสูตรได้กล่าวไว้ว่า มีพรหมจากชั้นอาภัสราพรหมได้ลง มากินง้วนดินในบริเวณแห่งนี้ และเป็นจุดกำเนิดมนุษย์
เนื่องจากในสมัยก่อน แผ่นดินอินเดียถูกคุกคามจากสงคราม เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรม พุทธคยาจึงถูกปล่อยทิ้งร้าง ฮินดูเข้าครอบครอง นำมหาโพธิเจดีย์มาเป็นเทวสถาน ในปี พ.ศ. ๒๑๓๓ นักบวชฮินดูชื่อ โคเสนฆมัณฑิคีร์ ได้ตั้งสำนักเล็กๆ ใกล้กับ พระมหาโพธิเจดีย์
กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๑๗ พระเจ้ามินดง กษัตริย์แห่งพม่า ได้ส่งคณะทูตมายังอินเดียเพื่อขอบูรณะปฏิสังขรณ์พระวิหาร และจัดการบางประการ เพื่อดูแลรักษาพุทธสถานแห่งนี้ เมื่อได้รับความยินยอมจากพวกมหันต์ และรัฐบาลอินเดียแล้ว จึงได้เริ่มทำการบูรณะ โดยทางรัฐบาลอินเดียได้ส่ง นายพล เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม กับ ดร.ราเชนทรลาละ มิตระ เข้าเป็นผู้ดูแลกำกับการบูรณะ หลังจากนั้นคณะผู้แทนจากพม่าจำเป็นต้องเดินทางกลับ ทางรัฐบาลอินเดียจึงรับงานบูรณะทั้งหมดมาทำแทน และเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๔๒๗
และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ รัฐบาลอินเดีย โดยการนำของ เยาวหราล เนห์รู นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดีย ได้เฉลิมฉลอง พุทธชยันตี (วิสาขบูชา) โดยเชิญชวนประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั่วโลก มาสร้างวัดไว้ในดินแดนพุทธภูมิแห่งนี้ และประเทศไทยโดยการนำของ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้ตอบรับและดำเนินการสร้างวัดชื่อว่า “วัดไทยพุทธคยา”
ช่วงบ่ายแม่มะลิกับเพื่อน กราบลาพระพุทธเมตตา และต้นพระศรีมหาโพธิ์ ออกมาเดินชมเมืองคยา ใครอย่ามาค่อนขอดประเทศอินเดียของแม่มะลินะ “อินเดีย” วันนี้ไม่เหมือนก่อนแล้ว
โต๋เต๋กันไปเรื่อยเปื่อย ๓ ป้า ชมสินค้ารายทาง ทั้งหม้อไห ปิ่นโตสเตนเลส ผลไม้ ดอกไม้ เสื้อผ้า ที่เด็ดเลยแม่มะลิชอบร้านตัดผม ฯลฯ โอ้ยย…สารพัด ทุกอย่างหาได้ข้างทาง เดินไปดูไปให้คิดถึงเมืองไทยเมื่อก่อนจริงๆ ยังไงยังงั้นเลย เสียงเรียกของพ่อค้างี้ ชวนหมดตัวอย่างมาก เดินไปทางไหน ก็ คนสวย..คนสวย..ไม่ได้เรียกเอาฮานะเธอ เรียกเอาตังแม่มะลิกับเพื่อนอ่ะ..คนสวยก็ใจอ่อนเป็นธรรมดา ก็ควักกันไป เฮียพูดไทยได้ทุกร้าน เห็นชัดเลยว่าอิทธิพลแรงซื้อของชาวไทยเนี่ยขนาดไหน
เด็กๆ ขอทานยังเยอะเหมือนเดิม แม่อุ้มลูกมาขอตังมุกเดิมๆ ก็ยังมีตลอดทาง แต่ก็นะ..อินเดียก็คืออินเดีย ถ้าจะใจอ่อนก็ดูซ้ายดูขวาดีๆ ระวังจะโดนรุม แม่มะลิกับเพื่อนเตรียมตัวมาพร้อมทำทานค่ะ มองซ้ายมองขวาดีๆ มีไม่เกิน ๔-๕ คน ก็รีบๆ ควักให้ไปเลย ถ้ามองแล้วมีแววโดนรุม อย่าให้เด็ดขาด มันจะเป็นทำบาป ตอนนี้เดินไปหาของกินไป ถ้าซื้อ ๑ ต้องซื้อถึง ๔-๕-๖ เพราะมีเด็กๆ มารอขอ ใจอ่อนกันก็ซื้อแจกไปอี๊กกก แต่ซื้อของกินให้ปลอดภัยกว่าให้เงินนะ มารอคิวให้พ่อค้าทำให้ทีละคน เสร็จแล้วเราค่อยจ่ายทีเดียว ไม่โดนรุมทึ้ง โดนดึงนี่ดึงจริงจังนะคะ ไม่ไม่ได้ดึงเล่นๆ โดนกันทั่วแต่ยังไงก็ทำใจไว้แล้ว สบายๆ ค่ะ
เดินไปเดินมา แอบเห็นร้านกาแฟชิคๆ น่ารัก ชื่อ BE HAPPY มองเข้าไปด้านใน โห..เหมือนร้านกาแฟบ้านเราแฮะ ลูกค้าเยอะอ่ะ ส่วนใหญ่ต่างชาติ (ฝรั่ง) เห็นว่าเจ้าของร้านเป็นสาวชาวแคนาดานะ พวกเราเลยแวะนั่งพักขา จิบชา กาแฟ ยามบ่าย มีเค้ก เบเกอรี่ เหมือนบ้านเราเลย มีอาหารบริการ พวกพิซซ่า สปาเกตตี แต่ร้านเค้าเป็นมังสวิรัต พิกัดร้านใกล้ๆ OM Hotel เค้กอร่อยซะด้วยขอบอก เราสั่งกาแฟ และบลูเบอรี่ชีสเค้ก และอะไรอีกนิดหน่อย รองท้องกัน แต่อย่าเอ็ดไป..ราคางี้ อื้อฮือ เป็นมิตรมากมาย สบายใจ สบายกระเป๋า
หน้าหนาวที่นี่มืดมาก ประมาณ ๑๗.๓๐ น. นี่ก็มืดละ อากาศกลางคืนช่วงนี้จะอยู่ประมาณ ๑๐ องศาต้นๆ เย็นสบาย สาวน้อยทั้งหลายพากันเดินลอยชายกลับวัด ไปรับอาหารเย็นที่อู่ข้าว (โรงอาหาร) แหมคิดถึงตอนเป็นนักเรียนขึ้นมาทันใด วันนี้อาหารเย็นกินในถาดหลุม ไม่ฟินวันนี้จะไปฟินวันไหน แกงจืด แกงส้ม ไข่เจียว แกงไก่ ข้าวสวย ข้าวผัด แม่มะลิพูดเลย แม่ครัววัดไทยทำกับข้าวอร่อยมาก
จบวันนี้ด้วยความสุขสุดๆ หลับสบาย
วันที่สาม ตกลงกันไว้ว่าช่วงเช้าจะ Sight Seeing ช่วงเย็นจะเข้าไปกราบพระพุทธเมตตา และนั่งสวดมนต์กันที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์
เช้าตื่นมารับข้าวต้มไข่เจียว ที่อู่ข้าว แอบแม่ครัวมาต่อโรตี ราดนม ที่โรงทาน อีกคนละแผ่นสองแผ่น เรียบร้อยดี ก็มาขึ้น Auto RickShaw (ตุ๊กตุ๊กอินเดีย) ที่ตกลงเช่ากันไว้ว่าครึ่งวันตะลุยทั่วเมือง (๕๐๐ รูปี)
ทีเด็ดก็อยู่ที่วันนี้แหละ เด็กๆ ทั้งเมืองเปลี่ยนชื่อแม่มะลิเรียบร้อยโดยไม่ได้สมัครใจ ขับรถผ่านไปทางไหนเด็กๆ ก็วิ่งตามเรียกแม่มะลิตลอดทาง อ๊ะ..ให้เดา เค้าเรียกแม่มะลิว่าอะไร..NO NO NO ไม่ใช่คนสวย
Hello..Money Hello..Money เนี่ยๆๆๆๆ ตลอดทาง ครึ่งวัน วันนี้ แม่มะลิชื่อ Money ไปเลย ฮาผสมอึ้ง ใครที่มาเห็น มาได้ยินเอง จะเข้าใจ วิ่งตะลุยตามรถตะโกน Hello Money ตลอดทาง ลืมบอกไปวันนี้ต้องใส่ Mask นะคะ นั่ง RickShaw ไปนอกเมือง ฝุ่นเยอะมาก
โชเฟอร์ขับรถออกนอกเมืองผ่านหมู่บ้าน ชมวิถีชีวิตอินเดียแท้ๆ รายทาง ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใสดี ทักทายตลอดทาง โดยเฉพาะเด็กๆ นี่แหละ Hello Money แว่วๆ มาเข้าหูตลอดทางผ่าน
พักใหญ่ๆ มาถึง “ต้นไทร” ที่นางสุชาดา ถวายข้าวมธุปายาสแด่พระพุทธองค์ โดยข้าวมธุปายาสของนางสุชาดานั้น ถือเป็นภัตตาหารมื้อแรก หรือการถวายอันสำคัญ ก่อนที่พระบรมโพธิสัตว์จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ความปรารถนาของนางสุชาดา อ่านได้ที่ http://www.watthumpra.com/buddha3-prasuti/prasuti31-suchada.html
เรื่องเด็ดสุดของวันนี้ที่อยากจะเล่าให้ผู้อ่านฟัง คือ พอเราไหว้ศาลนางสุชาดาเสร็จ ก็จะมีกลุ่มคน (ผู้ใหญ่ดูสูงอายุ) ซึ่งรู้จุดอ่อนชาวพุทธ โดยเฉพาะคนไทย ว่าขี้สงสาร ใจอ่อน การขอเงินเดี๋ยวนี้มีพัฒนาการ วิธีการคือ มาเลียบๆ เคียงๆ ชวนคุย ตะล่อมเรา บอกว่าบริเวณนี้ มีโรงเรียนเยอะ มีเด็กยากจนมาก ครูก็ไม่พอสอน เอารูปมาให้ดู พวกเราก็ดูแล้วเฉยๆ สงสารนิดหน่อย เพื่อนแม่มะลิเริ่มใจอ่อนละ แต่เฮียก็ Hard Sale มากคับ สารพัดวิธีพูดโน้มน้าวจูงใจ จากสงสารเริ่มรำคาญ ทีนี้เผ่นดีกว่า บอกโชเฟอร์ไปต่อ
นั่งรถออกมายังไม่ได้ ๕ นาที มีมอเตอร์ไซด์ตามมาฮะ บรี้นนน บรื้นนนน แหม มันจะรีบไปไหน อ้าวเฮ้ย ไม่แซงไปวุ้ย ขับมาเทียบรถเราฮะ อินเดียน ๒ นายนี่ยังหนุ่มวัยรุ่น พอเห็นเรามองหน้า ก็เริ่ม Sale อีนี่นาย พวกโพ้มเป็น Teacher สอนอยู่โรงเรียนแถวนี้นะนาย โพ้มสอนอยู่โรงเรียนแถวนี้ มีนักเรียนสองร้อยกว่าคน ไม่มีเงินยากจนมาก โรงเรียนก็กันดาร นักเรียนไม่มีหนังสือ ไม่มีอาหาร โอ้วแม่เจ้า ตะกี้แม่มะลิว่า Hard Sale แล้วนะ อีนายนี่ Sale Harder พยายามจะลากไปโรงเรียนให้ได้ เฮอะ แม่มะลิก็ปล่อยให้เค้าพล่ามไป แม่มะลิก็ถ่ายวิดีโอมาฝากผู้อ่านนี่แหละ เผื่อมีใครไปเที่ยวจะได้จำหน้าได้
แม่มะลิไม่รู้นะว่าโรงเรียนยากจนแค่ไหน เด็กนักเรียนเป็นยังไง คือไม่ได้สนใจจะไปดู เริ่มจะกลัว รู้สึกปานประหนึ่งจะโดนตบทรัพย์เลย คือถ้าไปกันเยอะๆ เป็นกรุ๊ปใหญ่คงไม่น่ากลัว นี่ไปกันสามคน แต่ก็ยังโอเคนะเส้นทางไม่ได้เปลี่ยวอะไร เป็นถนนหลักมีผู้คนสัญจรไปมาเยอะพอสมควร รถก็เยอะ เดินทางกันขวักไขว่ พี่แกก็มีความอดทนสูง ตามมาจิกตี กดดันตลอด จนกว่าจะพ้นหมู่บ้านไปเลย คงเป็นแก๊งวางแผนส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ แม่มะลิเชื่อ ถ้าบริจาคไปตั้งแต่ตอนอยู่ที่ศาลนางสุชาดา รับรองไม่มีใครตามมาแน่ ตอนขึ้นรถออกมายังไม่เห็นใครเลย สักพักมีมอเตอร์ไซด์เร่งตามมา เฮ้อ..นะ อินเดีย
โชเฟอร์พาไปอีกที่ สถานที่นี้เป็นต้นไทรใหญ่มาก ร่มรื่น และไม่มีนักท่องเที่ยวเลย สงบร่มเย็นมาก ถามคนขับรถก็ฮินดูไม่ค่อยจะได้เรื่องราวอะไร เข้าใจว่าก็คงเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้นไทรใหญ่ท่าทางจะอายุยาวนานมาก สันนิษฐานจากสายตามีรากใหญ่เป็นอุโมงค์ให้พวกเราลอดได้ นี่ก็คงหลายร้อยปี
(เนื่องจากอยากรู้ว่าต้นไทรนี้มีความสำคัญอย่างไร กลับมาถึงวัดแม่มะลิมาถามพระคุณเจ้าที่เป็นวิทยากร ท่านกรุณาบอกว่าเป็นที่พระองค์ทรงประทับเมื่อตรัสรู้สัปดาห์ที่ ๘ เรียกว่า “นิโครธเจดีย์” พอมาหาดูใน Google ก็หาไม่เจอ เห็นแต่ สัปดาห์ที่ ๕ ที่เรียกว่า “อชปาลนิโครธเจดีย์” คือ ต้นไทรที่ศาลนางสุชาดานั่นเอง เผื่อท่านผู้อ่านมีความรู้เรื่องสัปดาห์ที่ ๘ อยากจะรบกวนมาเพิ่มเติมความรู้ให้แม่มะลิบ้าง จะเป็นพระคุณค่ะ จะถามพระวิทยากรก็เกรงใจท่าน ท่านงานยุ่งมากค่ะ)
จากตรงนี้รถพากลับเข้าตัวเมือง แวะบ้านนางสุชาดาบ้าน อยู่ในเขตเมืองคยา ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากพุทธคยามากนัก
ระหว่างทางไปบ้านนางสุชาดาจะต้องนั่งรถผ่านแม่น้ำเนรัญชรา ที่ตอนนี้มีแต่ทรายแห้งแล้งมากในช่วงฤดูหนาว ได้ยินว่าฤดูที่มีน้ำก็มีน้ำพอสมควร
ถึงจุดหมาย “สถูปบ้านนางสุชาดา” พวกเราลงจากรถ ก็เห็นกองอิฐขนาดใหญ่ ซึ่งบอกเล่าต่อกันมาว่า ณ ที่กองอิฐนี้เมื่อก่อนเป็นสถานที่ตั้งบ้านของนางสุชาดา ผู้ที่ถวายข้าวมธุปายาส (ข้าวที่หุงด้วยนมโคล้วน) ให้กับพระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ พวกเราเดินชมรอบๆ สักครู่ก็กลับออกมา
ประมาณ ๑๑.๐๐ น. โชเฟอร์บอกว่าวัดนานาชาติ ทุกวัดจะปิดเที่ยง ให้เข้าชมอีกทีจะเป็นบ่ายสอง เราเลยตัดสินใจรีบไปให้ทันครึ่งวันเช้า
กลับเข้าตัวเมือง ตะลุยเที่ยววัดนานาชาติทุกวัด ก็สะดวกมาก เพราะอยู่ใกล้ๆ กันทั้งหมด ทั้งภูฏาน ทิเบต ญี่ปุ่น ไทย เวียดนาม ฯลฯ วัดทุกวัดสวยงาม มีจุดเด่นแตกต่างกันออกไป ถ้าจะเล่าทุกวัดคงใช้เวลานาน ผู้อ่านที่สนใจพอจะหาดูได้จากรีวิวอื่นๆ เพราะใครมาเที่ยวพุทธคยา ส่วนใหญ่ก็ต้องมาเที่ยววัดเหล่านี้กันทั้งนั้น แม่มะลิก็มีรูปมาฝากให้ดูกันเพลินๆ ค่ะ
จบทัวร์ที่วัดญี่ปุ่นถ่ายรูปกับ Big Buddha เป็นที่ระลึก นี่ถ้าไม่บอกว่ามาอินเดีย จะนึกว่าอยู่ญี่ปุ่นกันเลยทีเดียว
เที่ยงเป๊ะท้องร้องตามเวลา สาวน้อยอนามัย ชวนโชเฟอร์กินข้าวด้วยกัน เฮียก็ OK แต่ก็พาพวกเรามาร้านข้าวราดแกงแบบ Local Food ข้างทาง เราดูแล้วก็หน้าตาดีอยู่ น่ากินพอควร แต่เรามีร้านในใจของเราแล้ว ที่เมื่อวานเย็นไปเดินผ่านมา อยากไปกินร้านนั้นมากกว่า ก็เลยถามเฮีย เฮียยืนยันว่าจะกินร้านนี้ เราก็เลยจ่ายตังให้เค้า แม่ค้าบอก ๔๐ รูปี แล้วบอกว่าไปส่งเราที่ร้าน Fujiya Green พิกัดใกล้ๆ ร้านกาแฟ Be Happy นั่นแหละ
ถึงร้านเดินเปิดประตูเข้าไป ลูกค้าเยอะมากเลย ค่อยอุ่นใจขึ้นมาหน่อยน่าจะเลือกร้านไม่ผิด มีทั้งนั่งด้านในด้านนอก เราเลือกนั่งด้านใน เพราะกลัวฝุ่น ดูแล้วเจ้าของคงจะเป็นอินเดียเพราะเมนูและอาหารนี่ก็ Local Food แบบหน้าตาดี แต่ชื่ออาหารไม่รู้จักสักอย่าง ดูจากรูปแล้วก็ชี้ๆ เอา เลือกมาหลายอย่างอยู่ มองโต๊ะข้างๆ ดู เห็นเค้าสั่งอะไรก็ชี้ๆ ไป
หลังจากสั่งอาหารเสร็จก็ส่งสายตาสำรวจไปรอบๆ เห็นแขก enjoy eating อ่ะ โอ้ยยยยย…เค้าใช้มือกิน เราเลยตกลงกันว่าจะใช้มือบ้าง เพื่อสัมผัสประสบการณ์ที่แท้จริง ยังไม่ทันเริ่มกินก็หนุกหนานกันละ
อาหารมาแล้วจ้า ดูรูปกันเลยนะ ที่สั่งมาไม่รู้อะไร ที่รู้มีแต่ไก่ย่างไก่ทอด อย่างอื่นชี้ๆ เอา แต่แม่มะลิคอนเฟิร์มนะ อร่อยทุกอย่าง โดยเฉพาะ NAN (แป้งแผ่น) อร่อยที่สุดในสามโลก โชคดีอาหารที่สั่งมาใช้มือได้ ไม่มีอะไรเละๆ ไม่เลอะเทอะ แต่ถ้าใครไม่สะดวกใช้มือ ที่โต๊ะก็มีช้อนส้อมวางไว้ให้ค่ะ
โต๊ะแม่มะลิก็ Enjoy Eating มากๆ ค่ะ เช็กบิลมานี่ โอ๊ยยยยย Happy เข้าไปอีก แม่เจ้า อาหารขนาดนี้ ราคาดีจนแม่มะลิบรรยายไม่ถูกเลยอ่ะค่ะ
ถึงเวลานัด ประมาณบ่าย ๒ โชเฟอร์กลับมารับพวกเราไปส่งที่พัก (วัด) กลับไปอาบน้ำล้างตัว พักผ่อนแป๊บนึง พอบ่ายแก่ๆ ประมาณ ๔ โมงเย็น ก็จะออกไปต้นโพธิ์อีกครั้ง เพื่อสวดมนต์รอบเย็นกัน เพราะคืนนี้ต้องแพ็กกระเป๋าแล้ว พรุ่งนี้เช้าตื่นมากินข้าวเช้าเสร็จก็ต้องไปสนามบิน คิดๆ ก็ใจหาย แป๊บเดียว ๔ วันแล้วหรือนี่
จะว่าไปแล้ว มาอยู่ที่นี่รู้สึกดีเหลือเกิน ชีวิตไม่มีรีบร้อน จะไปไหน จะทำอะไร Slow Life จริงๆ ค่ะ
๔ โมงเย็นพร้อมเดินไปต้นพระศรีมหาโพธิ์ สวดมนต์กันอีกรอบก่อนกลับเมืองไทย เจอแม่ชีธัญญธร ที่อู่น้ำ (สถานที่บริการเครื่องดื่มในวัด) ด้านหน้าวัด เลยรวมเงินกันฝากเป็นเจ้าภาพน้ำปานะถวายพระคุณเจ้า หลังทำวัตร
เย็นวันนี้เข้ามาด้านในไปกราบลาพระพุทธเมตตา พวกเรารู้สึกใจหาย ต่างกับวันแรกตอนมาถึง ที่จะรู้สึกปลื้มปีติ จากนั้นก็ออกมาเดินเวียนประทักษิณรอบองค์พระมหาเจดีย์พุทธคยา ๓ รอบ ครบแล้วก็ต่างคนต่างหาที่นั่งทำสมาธิสวดมนต์กันตามศรัทธาใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์
สวดมนต์กันจนอิ่มใจ พวกเราจึงได้กราบลาพระพุทธองค์ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ในใจมุ่งหมายว่าหากมีโอกาส ขอให้พวกเราได้กลับมาพุทธคยา เมืองแห่งการตรัสรู้ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง
ขากลับวัดเดินผ่านร้านค้ารายทาง สาวน้อยอย่างเราก็ช้อปกันอีกรอบนึง พรุ่งนี้กลับแล้ว วันนี้วันสุดท้ายเราก็เปิดปฏิบัติการ “ละลายรูปี” ทิ้งทวน ชอบอะไร ก็จัดไป ทั้งเสื้อผ้า ร้านหิมาลายา นี่แทบจะกวาดทุกสิ่ง ขนมข้างทางหน้าวัด ผลไม้
ไหนๆ พรุ่งนี้กลับแล้ว จะจู๊ดๆ ก็คงไม่เป็นไร ตัดสินใจลองชิมทุกอย่าง ทั้งถั่วยำ ทั้งบาเยียร์ ทั้งซาโมซ่า ปานีปูรี ฯลฯ ปรากฏว่าอร่อยทุกอย่างแฮะ ที่ซื้อมาลองชิมแม่มะลิชอบ “ปานีปูรี” มากๆ เลย ข้างถนนที่หน้าวัดไทยที่อินเดีย อร่อยกว่าโรงแรมห้าดาวในเมืองไทยอีกค่ะ เสียดายรู้งี้ลองตั้งแต่วันแรกแล้วค่ะ
ใครไปอินเดียแม่มะลิแนะนำต้องลองนะคะ จะได้รู้ สัมผัสประสบการณ์ใหม่ หาที่ไหนไม่ได้ ทุกอย่างราคาชิ้นละ ๑๐ รูปี ประทับใจค่ะ
กลับมาถึงวัดทันร่วมถวายน้ำปานะพระคุณเจ้า หลังท่านทำวัตรเย็น และเราก็ร่วมดื่มด้วย วันนี้แม่ชีธัญญธร ทำน้ำกล้วยปั่น อร่อยมากๆ ไม่เคยลองที่ไหนมาก่อนเลยค่ะ
จบตรงนี้แล้วนะคะ รุ่งขึ้นวันสุดท้าย ตื่นนอนเก็บกระเป๋า กลับเมืองไทยด้วยความอิ่มเอม ยังไม่ทันได้บินกลับไทย ก็คิดถึงพุทธคยาซะแล้วสิ
ทริปหน้าไปเที่ยวที่ไหน ถ้าแม่มะลิมีเวลา จะมาเล่าสู่กันฟังอีกนะคะ อ้อ ขากลับมานี่อย่าคิดว่าเอาเสบียงบุญถวายวัดแล้ว กระเป๋าจะเบากลับไทยนะคะ หิมาลายาหนักมากค่า
สาธุธรมผู้อ่านทุกท่านค่ะ ปีใหม่ที่จะถึงนี้ แม่มะลิ ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย จงดลบันดาลให้ท่านผู้อ่านและครอบครัว ประสบความสุข ความเจริญ มีความสุขกาย สุขใจ สุขภาพแข็งแรงค่ะ
Note
ร้านอาหารที่เป็นภัตตาคาร หรือในโรงแรม อาหารร้อน อร่อย สะอาด ราคาถูกมาก แม่มะลิว่าน่าจะลองได้เกือบทุกร้าน
ร้านแลกเงินอยูที่ OM Hotel ราคาดี แลกได้ทุกสกุล (เงินไทย และเงิน US จะราคาดี)
กราบขอบพระคุณ
ท่านมหานิพล พระครูปลัดป้อม แม่ชีต้อย แม่ชีธัญญ่า
ขอบคุณ
น้องจ้ะ และน้องๆ ทุกคนในวัดไทยพุทธคยา
ข้อมูลบางส่วน จาก http://www.dhammahansa.com/bodhgaya.php