ผักกาดหอม
วันก่อนกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐประกาศรายชื่อ ๑๑๐ ประเทศ ที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย (Summit for Democracy)
เป็นการประชุมทางออนไลน์ ระหว่างวันที่ ๙-๑๐ ธันวาคม ที่ผ่านมา
วัตถุประสงค์เพื่อช่วยหยุดยั้งการเสื่อมถอยทางประชาธิปไตย และการพังทลายของสิทธิและเสรีภาพทั่วโลก
ในการประชุมในวันนั้น มี ๓ ประเทศอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ได้รับเชิญเข้าร่วม
แต่ไม่มีประเทศไทย
ก๊วนแฟนคลับไม่เอาลุงตู่ พากันตะโกนด่า โห่ฮาป่า รัฐบาลไทยเฮงซวย เผด็จการไม่มีใครคบ
วานนี้ ๑๕ ธันวาคม “แอนโทนี บลิงเคน” รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ เดินมาถึงไทย อยู่ต่อถึงวันนี้
เป็นการเยือนไทย ประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นชาติสุดท้าย หลังเข้าพบประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย
และผู้นำมาเลเซีย ก่อนเดินทางมาไทย
แก๊งเกลียดลุงตู่ยังเงียบกริบ!
ทางโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐระบุถึงประเด็นการมาเยือนไทยว่า “บลิงเคน” จะยืนยันความมุ่งมั่นของสหรัฐต่อพันธไมตรีในสนธิสัญญาระหว่างสหรัฐกับไทย
เช่น การทำงานเพื่อฟื้นฟูทางเศรษฐกิจหลังการเกิดโรคระบาด
การรับมือสถานการณ์วิกฤตสภาพภูมิอากาศ
รวมทั้งจะหยิบยกประเด็นสถานการณ์ที่เลวร้ายยิ่งขึ้นในเมียนมามาพูดถึงด้วย
“แอนโทนี บลิงเคน” จะเข้าพบ “ลุงตู่” ตัวเป็นๆ ไม่ใช่ออนไลน์
ครับ…อเมริกา ยังคบไทยอยู่
แถมวาระนี้สำคัญกว่า ประชุมประชาธิปไตยทางออนไลน์ หลายเท่าตัว
ก็เอาเป็นว่า ไทย ยังเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของสหรัฐ ในการคานอำนาจกับจีน
ไทยไม่จำเป็นต้องบ้าดีเดือดแบบกัมพูชา
“ลุงตู่” ไม่จำเป็นต้องบู๊ล้างผลาญแบบ สมเด็จฮุน เซน
ทำแบบนั้นบรรยากาศในภูมิภาคตึงเครียดเปล่าๆ
การทูตแบบ “เอามัน” ระยะยาวประเทศเสียหายได้
พูดถึงการให้มหาอำนาจคานอำนาจกันเอง บรรพบุรุษของเรา ภายใต้การนำของ สถาบันพระมหากษัตริย์ พิสูจน์ให้ทั้งโลกเห็นแล้วว่า ไทยมีความล้ำลึกทางการทูตขนาดไหน
ปัจจุบันทั้ง จีน และ อเมริกา ต่างต้องการเข้ามามีบทบาทในอาเซียน เพราะมีผลประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคง
สถานะของอเมริกาคือ พยายามยึดฐานที่มั่นเดิมคืน
ขณะที่จีนรุกคืบอย่างหนักหน่วง มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจล่อใจ
ที่เถียงกันเรื่องรถไฟจีน-ลาว เวียงจันทน์-คุนหมิง ทำให้ลาวเจริญกว่าไทยไปแล้ว ขนาดอดีตรัฐมนตรีคมนาคมของพรรคเพื่อไทยยังเอาไปแชร์เป็นตุเป็นตะ พอเขาด่าพวกขายชาติทำเป็นรับไม่ได้
ช่างเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ และไร้สาระจริงๆ
เรื่องรถไฟความเร็วสูงไม่สูง เถียงกันไปก็เท่านั้น เพราะวิ่งจริง ๑๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง มันก็คือความเร็วสูงสุดของ แอร์พอร์ตลิงก์ บ้านเรา
แต่ที่ต้องไปศึกษากันให้ถี่ถ้วนคือ ลาวได้อะไรจากโครงการนี้บ้าง
และไทยได้รับผลกระทบอะไรบ้าง
ข่าวล่าสุดบอกว่าผัก-ผลไม้จีน จากคุนหมิง ถึง ตลาดไท ไม่เกิน ๒ วันทะลักท่วมตลาดแล้ว
ที่น่ากังวลคือจะทุบราคาพืชผลทางการเกษตรของไทยร่วงไปด้วย
เรื่องนี้เหมือนหนังเก่ามาถ่ายทำใหม่
โครการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน บางคนบอกว่าช้า ไม่ทันกิน ชาติหน้าจะได้นั่งหรือเปล่า เรื่องแบบนี้เอามันไม่ได้นะครับ
ก็ไม่รู้ตั้งใจหรือบังเอิญ ที่ “รัฐบาลลุงตู่” สร้างท่อนกรุงเทพฯ-โคราช ก่อนส่วนโคราช-หนองคาย จะตามมาทีหลัง
มันเป็นพล็อตเรื่องเก่าที่ย้อนกลับไปสมัยปลายรัชกาลที่ ๕ และต้นรัชกาล ๖ ยุคที่ไทยตัดสินใจสร้างทางรถไฟ มีการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกเป็นเดิมพัน
ไม่ต่างจากการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนและอเมริกาในขณะนี้
การก่อสร้างทางรถไฟสายใต้คือหัวใจของเรื่อง
ปี ๒๔๔๐ ไทยรู้ข่าวว่ารัฐบาลอังกฤษมีโครงการสร้างทางรถไฟจากพม่าผ่านประเทศไทยไปถึงแหลมมลายู โดยรัฐบาลอังกฤษสนับสนุนให้บริษัทอังกฤษเข้ามาขอสัมปทานจากไทย ทำให้ไทยเกรงว่า ถ้ายอมเช่นนั้น อังกฤษจะฉวยโอกาสผนวกเอาภาคใต้ของไทยเข้าเป็นอาณานิคม
รัชกาลที่ ๕ จึงตัดสินใจสร้างทางรถไฟสายใต้เอง โดยเริ่มต้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๒
ขั้นตอนการก่อแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของรัชกาลที่ ๕ ที่เจ้าลัทธิอาณานิคมไม่สามารถเอาเปรียบได้เลย
พนักงานผู้ดำเนินการก่อสร้างต้องใช้ชาวยุโรปเป็นหลัก แต่เพื่อไม่ให้ถูกครอบงำโดยอังกฤษ พนักงานผู้ดำเนินการก่อสร้างจึงมีคนไทย ๑๓ คน อังกฤษ ๔ คน เยอรมันที่ขณะนั้นมีความเป็นมิตรกว่าอังกฤษ ๕ คน อิตาลี ๑ คน
ช่วงการก่อสร้างก็มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด มีการแบ่งเป็นตอนๆ
เพชบุรี-ชะอำ
ตรัง-พัทลุง
สงขลา-พัทลุง
ชุมพร-นครศรีธรรมราช
พัทลุง-นครศรีธรรมราช
บ้านชะอำ-ชุมพร
และสุดท้าย สงขลา-ระแงะ
เดิมทีกำหนดสร้างช่วงสงขลา-ระแงะ ไว้ในปีที่สอง แต่ถูกเปลี่ยนเป็นท้ายสุด ให้การก่อสร้างจากเพชรบุรีมาถึงสงขลา แยกไปตรัง ไปนครศรีธรรมราช ให้เสร็จก่อน
วัตถุประสงค์เพื่อให้การขนส่งค้าขายระหว่างจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้เชื่อมถึงกันหมด และเพื่อให้ประชาชนตั้งรกรากริมทางรถไฟให้หนาแน่น
จัดวางรูปแบบการปกครองให้ชัดเจน
เสร็จแล้วการสร้างทางรถไฟจากสงขลา-ระแงะ เพื่อเชื่อมสิงคโปร์ อาณานิคมของอังกฤษ จึงดำเนินการได้
มีบันทึกระบุว่า อังกฤษไม่พอใจอย่างมาก เพราะได้ประโยชน์จากทางรถไฟสายใต้ของไทยน้อยมาก อีกทั้งยังใช้เยอรมันถ่วงดุล ทำให้อังกฤษไม่กล้าผนวกภาคใต้ของไทยเป็นอาณานิคมเหมือนที่ตั้งใจไว้แต่แรก
ครับ…นี่คือตัวอย่าง บรรพบุรุษของเราต่อสู้มาให้คนรุ่นหลังมีแผ่นดินอยู่อาศัย
เมื่อเทียบกับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน วันนี้ส่งสัญญาณชัดเจนที่ตลาดไท
แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเลิกสร้าง
เราควรเชื่อมกับจีนโดยรถไฟความเร็วสูง และเชื่อมไปถึง มาเลเซีย-สิงคโปร์ ประเทศอาณานิคมเก่าของอังกฤษ
แต่เชื่อมอย่างไรไม่ให้ไทยเสียประโยชน์อย่างที่ลาวกำลังเป็น
ถูกแล้วที่ไทยลงทุนสร้างเอง บริหารเอง ใช้เทคโนโลยีจีน โดยมีข้อตกลงจีนถ่ายทอดเทคโนโลยีให้
อีกมุมหนึ่งเรายังมีเวลารับมือ การทะลักเข้ามาของจีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน หรือสินค้า
“ลุงตู่” บอกว่ารถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงโคราช-หนองคาย-เวียงจันทน์ จะเสร็จภายในปี ๒๕๗๑ เหลือเวลาอีก ๖ ปี
เตรียมตัวให้พร้อม
เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า