ผักกาดหอม
อย่าเพิ่งเบื่อ “โอมิครอน”
เพราะดูแนวโน้ม ยังต้องพูดถึงไปอีกหลายเดือน
แม้จะมีข่าวดีว่า ยังไม่พบผู้ป่วยรายที่สองในไทย แต่ก็ใช่ว่าจะหยุดอยู่ที่รายที่หนึ่ง
ลักษณะการระบาดของ “โอมิครอน” ในอเมริกา และยุโรป เป็นเครื่องยืนยันว่า อีกไม่นาน ไวรัสโควิด-๑๙ สายพันธุ์นี้ จะลามไปทั่วโลก
มาไทยเต็มๆ เมื่อไหร่ ไม่ต้องไล่เช็กบิล อ้างว่ามีคนปล่อยให้ “โอมิครอน” เข้ามา เพราะถ้าทำแบบนั้น ทุกประเทศทั่วโลกต้องไล่รัฐบาลตัวเองออก
ไม่มีใครอยากให้ไวรัสระบาดหรอกครับ
แต่การสู้กับสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่านั้น มันไม่ง่าย
อย่าไปด่าคุณอนุทิน ที่บอกว่า “จะช้าหรือเร็วทุกประเทศต้องพบเชื้อโอมิครอน” เพราะมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ
เพราะขนาด ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังยอมรับว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่เคสผู้ติดเชื้อโอมิครอนจะเกิดขึ้นในสหรัฐฯ
หรือดูกรณีอังกฤษเป็นตัวอย่าง
ตัวเลขผู้ป่วยโควิด “โอมิครอน” ในอังกฤษล่าสุด อาจมีมากกว่า ๑ พันคนแล้ว
คิดเป็นเกือบสี่เท่าของตัวเลขที่มีการรายงานอย่างเป็นทางการ
มีคาดการณ์ว่า “โอมิครอน” แพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา มากกว่า ๒ เท่า ฉะนั้นมีความเป็นไปได้ว่า “โอมิครอน” จะกลายเป็นโควิดสายพันธุ์หลักในระยะเวลาประมาณหนึ่งเดือนนับจากนี้
ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ประเทศยักษ์ใหญ่ต่างไม่รอดจาก “โอมิครอน”
ประเด็นนับจากนี้จึงอยู่ที่การรับมือของภาครัฐ ว่ามีประสิทธิภาพแค่ไหน
ถ้าดูจากความตั้งใจ ณ ปัจจุบันยังถือว่าโอเคอยู่
อย่างกรณีการพบเชื้อรายแรก ต้องนำตัวอย่างมาปั่นหาเชื้อถึง ๓๖ รอบจึงจะพบ ก็แสดงให้เห็นว่า เจอปัญหาแล้วไม่ได้ปล่อยผ่าน
ก็ยังพอสบายใจได้ แม้จะเจอ “โอมิครอน” รายแรกในไทย ก็เหมือนยังไม่เจอ เพราะเจอในพื้นที่ปิด ผู้ป่วยมีเชื้อเล็กน้อย แพร่เชื้อยาก
แต่อนาคตอันใกล้ต้องเจออีก
เป็นไปไม่ได้เลยที่ประเทศไทยประเทศเดียวจะปลอดเชื้อ ขณะที่ “โอมิครอน” ระบาดไปทั่วโลก
ฉะนั้น นอกจากตัว “โอมิครอน” แล้ว การตื่นตัวของประชาชน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ที่ตัดสินว่า การระบาดเวฟ ๕ จะรุนแรง หรือเบากว่ารอบที่ผ่านๆ มา
ข้อมูลจนถึงวันนี้ ยังไม่มีประเทศไหนในโลกประกาศปิดเมืองเพราะ “โอมิครอน”
สถานการณ์ปัจจุบันยังเป็นการเฝ้ามอง และตรวจสอบ ว่า “โอมิครอน” จะสามารถก่อความรุนแรงได้แค่ไหน แต่เท่าที่เห็น ระบาดง่าย แต่ความดุของเชื้อต่ำ
ถ้าอาการเจ็บป่วยดีกรีพอๆ กับไข้หวัดธรรมดา มนุษย์ก็จะอยู่ร่วมกับ “โอมิครอน” เหมือนกับอยู่ร่วมกับไข้หวัด โดยไม่ต้องตื่นตระหนก วิตกกังวลกันอีกต่อไป
ในส่วนที่เอารัฐบาลไปด่ากันในโซเชียล ว่าถ้าไม่รีบปิดประเทศ ต้องรับผิดชอบ หาก “โอมิครอน” ระบาด ก็ต้องใจเย็นๆ
เปิด-ปิด ประเทศ ไม่ใช่เล่นขายของ เพราะเกี่ยวข้องกับผู้คนมากมาย หลากหลายสาขาอาชีพ
เผด็จการชี้นิ้วสั่งง่ายอยู่แล้วครับ
แต่ประเทศไทยมันไม่ได้เป็นแบบนั้น
สุ่มสี่สุ่มห้าปิดประเทศตอนนี้รัฐบาลโดนถล่มเละ
ขุดโคตรพ่อโคตรแม่มาด่าสนุกปาก
สู้กับโควิด เอาแต่ใจไม่ได้ มันต้องเอาข้อมูลที่โลกมีอยู่มาแบ เพราะขณะนี้ทั่วโลกล้วนได้รับข้อมูลเกี่ยวกับ “โอมิครอน” ไปพร้อมๆ กัน
ประเด็นที่น่าสนใจ และมีการตั้งคำถามกันเยอะ แล้วเราต้องอยู่กับโควิดไปอีกนานเท่าไหร่
ถ้าเทียบกับไข้หวัดสเปน ก็พอมองเห็น แสงสว่างปลายอุโมงค์อยู่บ้าง
จุดสิ้นสุดของไข้หวัดสเปน หลังจากการระบาดรุนแรงรอบที่สองในช่วงปลายปี ๒๔๖๑ ผู้ป่วยรายใหม่ลดลงอย่างฉับพลัน อย่างไม่น่าเชื่อ
แทบจะไม่มีผู้ป่วยเลยหลังจากผ่านจุดระบาดสูงสุดในระลอกที่สอง
เช่นกรณีการระบาดในฟิลาเดลเฟีย มีผู้เสียชีวิต ๔,๕๙๗ ราย เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ในวันที่ ๑๖ ตุลาคม ปีดังกล่าว
แต่มาถึงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ไข้หวัดสเปนกลับหายตัวไปจากเมืองอย่างไร้ร่องรอย
มีคำอธิบายหนึ่งสำหรับการลดลงอย่างรวดเร็วของโรคนี้คือ ความรู้ทางการแพทย์มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการป้องกันและรักษาโรคปอดบวมที่พัฒนาขึ้นหลังจากผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส
นอกจากนี้ยังมีอีกทฤษฎีหนึ่งเชื่อว่า เชื้อไวรัสได้กลายพันธุ์อย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นสายพันธุ์ที่มีความร้ายแรงน้อยลง
นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วไปกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ กล่าวคือ มีแนวโน้มว่าไวรัสก่อโรคจะมีความร้ายแรงน้อยลงตามกาลเวลา
เนื่องจากสายพันธุ์ที่อันตรายมากกว่ามีแนวโน้มที่จะตายจากไปจนหมด
คล้ายกับการหายไปของเดลตาในญี่ปุ่น
“อิทูโระ อิโนอุเอะ” นักพันธุศาสตร์จากสถาบันพันธุศาสตร์แห่งชาติ เชื่อว่าญี่ปุ่นโชคดีที่ได้เห็นสายพันธุ์เดลตาซึ่งส่วนใหญ่กำจัดไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์อื่นๆ ได้กำจัดตัวมันเอง
ไวรัส RNA แบบเดียวกับที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-๑๙ มักจะมีอัตราการกลายพันธุ์ที่สูงมาก ซึ่งช่วยให้พวกมันปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมได้อย่างรวดเร็ว
ในมุมกลับกัน นี่ก็เป็นการเปิดประตูสำหรับสิ่งที่เรียกว่า หายนะจากข้อผิดพลาด
เมื่อมีการกลายพันธุ์ที่ไม่ดี
ในที่สุดก็ทำให้เกิดการสูญพันธุ์อย่างสมบูรณ์
แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่า “โอมิครอน” คือโควิดตัวสุดท้าย เพราะติดง่าย แต่อาการน้อย จนเป็นหนึ่งในหายนะจากข้อผิดพลาดหรือไม่
หรือจะยังมีการกลายพันธุ์ต่อไปเรื่อยๆ
ก็อาจเป็นเรื่องโชคดีของมวลมนุษยชาติที่ “โอมิครอน” โผล่มาในช่วงที่ประชาชนหลายประเทศในโลกฉีดวัคซีนกันไปเยอะแล้ว
ติดง่าย แต่อาการน้อย มุมหนึ่งเหมือนมนุษย์มีแต้มต่อไวรัส
ท่ามกลางข้อกังวลว่า “โอมิครอน” จะไปจบที่ไหน
เศรษฐกิจก็น่าห่วง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ในสถานการณ์ของเดลตา เศรษฐกิจทั้งปี ๒๕๖๕ ยังน่าจะสามารถฟื้นตัวได้ที่ ๓.๗%
ในกรณีเลวร้ายสุด สายพันธุ์โอมิครอน มีความรุนแรงเทียบเท่ากับสายพันธุ์เดลตา และประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันลดลงอย่างมาก
ส่งผลต่อความจำเป็นต้องมีการนำมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศมาใช้ อาทิ ปิดประเทศ รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศตามระดับความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่
จะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี ๒๕๖๕ ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ ๒.๘%
ก็พอจะมีข่าวดีอยู่บ้าง “โอมิครอน” มิได้ชกมนุษย์เพียงข้างเดียว
บริษัทยาอังกฤษชื่อว่าแกล็กโซสมิทไคล์นหรือ GSK ประกาศว่า การรักษาโควิด-๑๙ ด้วยแอนติบอดี ที่ทางบริษัทได้พัฒนาร่วมกับบริษัท Vir Biotechnology ของอเมริกา ใช้ได้ผลกับการกลายพันธุ์ของไวรัสที่หนามโปรตีนทั้งหมด ๓๗ จุดที่ระบุได้จนถึงปัจจุบัน
นั่นหมายความว่า สามารถรักษาโควิดกลายพันธุ์ได้ทุกชนิด
รวมทั้ง “โอมิครอน”
ผลการทดลองที่เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แสดงให้เห็นว่า ตัวยา ชื่อ “โซโตรวิแมบ” ใช้ได้ผลกับ “โอมิครอน” อย่างมีนัยสำคัญ
ครับ…ข้อกังวลหลังจากนี้ อาจไม่ใช่ “โอมิครอน” แต่เป็นมนุษย์
มนุษย์ที่หยิบเอา “โอมิครอน” มาเล่นการเมือง
เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า