ผู้สร้าง ‘โอไมครอน’-ผักกาดหอม

Coronavirus or virus causing blood clots to form in the blood system. Clot in blood vessels, arteries and capillaries.3d illustration

ผักกาดหอม

ดูเหมือนโลกกำลังสิ้นหวัง

เจ้า โอไมครอน ไวรัสหน้าใหม่ ยังไม่มีใครรู้นิสัยที่แท้จริง แต่เพราะการกลายพันธุ์ที่น่ากลัวของมัน ทำให้ทุกประเทศกลับมายกการ์ดสูงกันอีกครั้ง

แต่จะโทษ โอไมครอน ก็ไม่ได้ ต้องโทษที่ตัวมนุษย์เอง

โดยเฉพาะมนุษย์ที่อ้างว่าตัวเองเจริญแล้ว อยู่ในประเทศที่ร่ำรวย

เรื่องนี้โยงกลับไปที่วัคซีนป้องกันโควิด-๑๙

องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนมานานแล้วว่า การกักตุนวัคซีนของบรรดาประเทศร่ำรวย จะส่งผลกระทบใหญ่หลวง เพราะหลายพื้นที่ในโลกที่ขาดแคลนวัคซีน จะกลายเป็นสวรรค์ของโควิด-๑๙ ในการพัฒนาสายพันธุ์ ให้ดุขึ้น แข็งแกร่งขึ้น

อันตรายกว่าเดิม

และมันเกิดมาตั้งแต่สายพันธุ์เดลตาในอินเดียแล้ว

แต่ดูเหมือนชาวโลกไม่ตระหนักว่า กำลังถูกลงโทษจากธรรมชาติ

มีบทสัมภาษณ์ที่น่าสนใจของ ดร.ริชาร์ด แฮตเชตต์ ซีอีโอกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations: CEPI)

เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ทำงานสนับสนุนโครงการเพื่อความเท่าเทียมทางวัคซีนโคแวกซ์ขององค์การอนามัยโลก

ดร.ริชาร์ด บอกว่า “ไวรัสโอไมครอน เป็นนักฉวยโอกาสที่ไร้ความเมตตา และความไม่เท่าเทียม ซึ่งสะท้อนการจัดการกับการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลก ก็ได้กลายเป็นกรรมตามสนองให้เราเห็นกันในเวลานี้”

ความไม่เท่าเทียมที่ ดร.ริชาร์ด กล่าวถึงคือ ประเทศในแอฟริกา ได้รับวัคซีนน้อยที่สุด

ประชาชนไม่ถึง ๗% ของประชากรทั้งทวีปที่ฉีดวัคซีนแล้ว

มีข้อมูลจากโครงการโคแวกซ์ ที่ตั้งเป้าจะกระจายวัคซีน ๑.๔ พันล้านโดส ให้แก่ประเทศที่ยากจนภายในสิ้นปีนี้

ก็เท่ากับโครงการโคแวกซ์ ต้องกระจายวัคซีนให้ได้ประมาณ ๒๕ ล้านโดสต่อวัน ไปประเทศเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกา

แต่ข้อเท็จจริงคือ นับแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา บางวันมีการส่งมอบไม่ถึง ๑ ล้านโดส

น้อยกว่าที่ฉีดในไทยเสียอีก

นั่นคือ โครงการโคแวกซ์ ที่นักการเมืองไทยบางกลุ่ม มวลชนบางพวก บอกว่า ทำไมรัฐบาลไทยไม่เข้าร่วม จนทำให้คนไทยเสียโอกาส

แล้วผลเป็นไง?

เกือบทุกคนมีแอปหมอพร้อมในโทรศัพท์ ลองเปิดดู

ข้อมูล ณ เวลา ๑๒.๒๖ น. วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ประเทศไทยฉีดวัคซีนไปแล้ว ๙๓,๑๒๗,๓๗๒ โดส

คนไทยฉีดวัคซีนครบ ๒ เข็ม แล้วมีถึง ๔๑.๔ ล้านคนนะครับ

โดยที่เราไม่ต้องเข้า โครงการโคแวกซ์

ขณะเดียวกัน ตอนนี้วัคซีนมีล้น ถึงกับต้องควานหาคนมาฉีด

หลายจังหวัด ออกแคมเปญ ลดแลกแจกแถม

ฉีดวัคซีนลุ้นรับทองกันแล้ว

ก็สังเกตดูได้พวกที่เอาแต่ด่าก่อนนี้ มาวันนี้เงียบกริ๊บ

โอน้อยออก!

ทีนี้…มาดูประเด็น “โอไมครอน” น่ากลัวจริงหรือไม่ เพราะข้อมูลที่หลั่งไหลออกมา ยังขัดๆ กัน อยู่ที่ใครเป็นคนพูด

“สเตฟาน แบนเซล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท โมเดอร์นา อิงค์ คาดว่าวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันจะมีประสิทธิภาพลดลงในการป้องกันไวรัสโควิด-๑๙ สายพันธุ์ “โอไมครอน”

“บรรดาบริษัทเวชภัณฑ์อาจต้องใช้เวลานานหลายเดือนจึงจะสามารถผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนได้อย่างเพียงพอ”

“ประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนนั้น จะไม่เท่ากับสายพันธุ์เดลตา

ผมคิดว่ามันน่าจะลดลงมาก ผมไม่รู้ว่ามากเท่าไร เพราะเราต้องรอข้อมูล แต่จากนักวิทยาศาสตร์ทุกคนที่ผมได้คุยด้วย เหมือนว่ามันไม่ค่อยดีเท่าไหร่”

ในมุมผู้ผลิตวัคซีน “โอไมครอน” สามารถสร้างหายนะให้โลกได้

แต่นักการเมืองจะพูดอีกแบบ

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน บอกว่า แม้โอไมครอนจะเป็น เหตุให้กังวล ก็จริง แต่ไม่ใช่ เหตุให้ตระหนก

“อเมริกา ยังสามารถรับมือกับการระบาดของโอไมครอนได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการล็อกดาวน์ ณ ขณะนี้”

“ถ้าใครฉีดครบ ๒ เข็มแล้ว ก็ให้ไปฉีดเข็มบูสเตอร์ พร้อมๆ กับการใส่หน้ากากทั้งในอาคารและนอกอาคาร ในขณะเดียวกัน ถ้าจำเป็นต้องมีวัคซีนหรือบูสเตอร์พิเศษเพื่อรับมือกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ รัฐบาลสหรัฐฯ ก็พร้อมทำงานกับผู้ผลิตวัคซีน และจะช่วยเร่งการพัฒนาและแจกจ่ายวัคซีนพิเศษให้รวดเร็วที่สุด”

ก็ถูกของ “โจ ไบเดน” เพราะหากประชาชนตื่นตระหนก ผลกระทบตามมาเป็นลูกโซ่แน่ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ

เช่นเดียวกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกกับคนไทยว่า อย่าให้ “โอไมครอน” มาทำให้วิตกกังวลมากเกินไป

แต่ขณะที่ อเมริกา เริ่มตั้งการ์ดใหม่ เพราะห่วงตัวเอง

จีนกับอินเดียเลือกที่จะส่งวัคซีนไปยังประเทศในแอฟริกา เพื่อหยุดยั้งการระบาดของ “โอไมครอน”

สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน บอกว่า จะส่งมอบวัคซีนโควิดอีก ๑ พันล้านโดส ช่วยเหลือบรรดาประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกา

ร่วมถึงกระตุ้นให้บรรดานักลงทุนจีนร่วมลงทุนในภูมิภาคนี้ไม่ต่ำกว่า ๑ หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง ๓ ปีนับจากนี้

จีนบริจาควัคซีนให้แอฟริกาแล้วเกือบ ๒๐๐ ล้านโดส

ส่วน อินเดีย ประกาศว่าจัดส่งวัคซีนที่ผลิตขึ้นภายในประเทศกว่า ๒๕ ล้านโดสให้แก่ ๔๑ ประเทศในแอฟริกา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจัดส่งผ่านโครงการโคแวกซ์

ไม่กี่วันก่อน “โจ ไบเดน” เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ สละการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาวัคซีนโควิด-๑๙ ภายหลังการตรวจพบ “โอไมครอน” ในแอฟริกาใต้

“โจ ไบเดน” ใช้คำว่า ให้ประเทศอื่นๆ แสดงน้ำใจ ให้เท่ากับสหรัฐฯ และบริจาควัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ ให้มากขึ้น มิฉะนั้น การระบาดใหญ่จะไม่หยุดนิ่ง

คำพูดดูหรูหราหมาเห่า แต่การบริจาควัคซีนของอเมริกามักมาพร้อมกับ เงื่อนไขทางการเมืองระหว่างประเทศเสมอ

ที่สำคัญหลังพบ “โอไมครอน” ไม่ปรากฏว่า อเมริกาเร่งส่งวัคซีนให้ประเทศในแอฟริกาแต่อย่างใด

สำหรับประเทศไทย “โอไมครอน” ยังไม่มา

แต่ก็มีสัญญาณชัดเจนจากฝั่งรัฐ และเป็นไปตามคาด

คุณหมอเกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่า ทางอากาศยังกั้นได้อยู่ แต่อาจมาทางบกหรือลักลอบได้ทุกเมื่อ

เมื่อรู้ล่วงหน้าแล้วว่า ถ้าหลุดเข้ามาก็จุดนี้แหละ ก็ต้องโฟกัสไปที่ชายแดนรอบทิศ

แต่คุณหมอก็บอกว่า…

“…โอไมครอน มีข้อมูลเปลี่ยนแปลงตลอดทุกชั่วโมง เบื้องต้นองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ลักษณะการระบาดใกล้เคียงกับสายพันธุ์เดลตา ซึ่งยังไม่พบว่ามีความรุนแรงมากกว่า

อาการสำคัญเหมือนโรคไข้หวัด คือ เพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ประมาณ ๒-๓ วันก็จะดีขึ้น ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง…”

หากตั้งสมมติฐานว่า หลุดเข้ามาได้จะทำอย่างไร

“สาธิต ปิตุเตชะ” รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข วันนี้รักษาการรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข เพราะ “เสี่ยหนู” บินไปประชุมองค์การอนามัยโลก ที่สวิตเซอร์แลนด์ พูดเอาไว้ชัดเจน

“หากมีผู้ติดเชื้อโอไมครอน ไทยจะล็อกดาวน์ประเทศทันที เพราะเป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรีและต้องตัดสินใจเร็วที่สุด โดยใช้อำนาจในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.”

ครับ…นี่คือสถานการณ์ล่าสุดของ “โอไมครอน” แม้ข้อมูลยังไม่นิ่ง แต่ความเคลื่อนไหวทั้งโลกนั้นเยอะพอควร

“โอไมครอน” ระบาดแล้ว ๑๘ ประเทศ

โอกาสมาไทยมีแน่ แต่ไม่ควรตื่นตระหนก

ก็เหมือนเดลตามาใหม่ๆ อาจกลัวกันบ้าง แต่เมื่อรู้จักมากขึ้นก็ควบคุมสถานการณ์ได้

“โอไมครอน” ก็เช่นกัน สุดท้ายเราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโควิด-๑๙


Written By
More from pp
“ยืมมั้ย” ผนึก “เวลธ์ติ” ทุ่ม 400 ล้านบาท ปล่อยสินเชื่อซื้ออุปกรณ์ไอทีเพื่อการเรียน ลุยสนับสนุนนักศึกษาทุกรั้วมหาวิทยาลัย
“ยืมมั้ย” (Yuemmai) บริการยืมโทรศัพท์มือถือรายแรกในไทย ผนึกกำลัง “เวลธ์ติ” (Wealthi) ฟินเทคสตาร์ทอัพผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านการเงินที่สร้างขึ้นเพื่อให้บริการสินเชื่อกับผู้ไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์การเงินของธนาคาร จัดโครงการสินเชื่อเพื่อซื้ออุปกรณ์ไอทีเพื่อการศึกษาสำหรับนิสิต นักศึกษา และบุคลากรทุกรั้วมหาวิทยาลัย ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ 400 ล้านบาท รุกตลาดมหาวิทยาลัย สนับสนุนการใช้อุปกรณ์ไอทีที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนสอนอย่างเต็มกำลัง
Read More
0 replies on “ผู้สร้าง ‘โอไมครอน’-ผักกาดหอม”