‘ตุลา’ ฝีมืออเมริกา-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

วันนี้ ๖ ตุลาคม
๔๕ ปีที่แล้วคือวันมหาวิปโยคของชาติไทย
ท่วงทำนองของเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ในไม่กี่ปีมานี้แปร่งไปพอควร โดยเฉพาะปีนี้ ถูกนำมาเป็นเงื่อนไขโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหลัก
โดยเฉพาะ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
เรื่องราว ๔๕ ปีที่แล้วถูกเขียนเป็นตำรามากมายหลายเล่ม

    บางเล่มถูกนำมาตีความใหม่โดยความคิดของนักวิชาการรุ่นใหม่ ที่เกิดไม่ทันเหตุการณ์ ๖ ตุลา มีการเปลี่ยนมุมมองของเรื่องราว
จากขวา ก็ขวาอนุรักษนิยมมากขึ้น
ซ้าย ก็ซ้ายตกขอบกว่าเดิม

    โดยภาพรวมคือมุมมองเชิงแยกส่วนโดยตั้งธงไว้แต่แรก ไม่ได้มองถึงภาพรวมของเหตุการณ์ที่มีพัฒนาการแต่ละช่วงเวลา ก่อนนำไปสู่เหตุการณ์วิปโยค

    แต่ทั้งหมดคือบาดแผลของประเทศไทย ที่ถูกทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลัง ได้ถอดบทเรียน ซึ่งมีหลายบทเรียน แต่บางบทเรียนไม่มีใครอยากจะถอดสักเท่าไหร่

    เช่น หากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ประสบชัยชนะในวันนั้น วันนี้สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยของคนไทยจะเป็นแบบเวียดนาม จีน คิวบา หรือไม่
ได้ครึ่งสิทธิเสรีภาพที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือไม่

    ขณะเดียวกันการไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ประเทศมีนักการเมืองเป็นประมุข จะดีหรือแย่กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

    การรำลึกเหตุการณ์เดือนตุลา ในยุคที่ประชาชนไม่ได้แบ่งสีเสื้อ นักการเมืองไม่ได้แบ่งขั้ว คือการรำลึกการต่อสู้ในอดีตของคนไทยทั้งชาติ

    เมื่อบ้านเมืองพัฒนาความขัดแย้ง วันนี้มีแต่คำว่า “การล้มล้าง” การรำลึกเหตุการณ์เดือนตุลา เริ่มจะกลายเป็นการรำลึกของคนเฉพาะกลุ่ม

    ทั้งที่ประวัติศาสตร์ไม่เคยเปลี่ยน
แต่มีคนเข้าไปแบ่งแยกคนจากประวัติศาสตร์

    วันนี้จึงมีการสรุปแบบสั้นๆ ในโลกโซเชียลของคนรุ่นใหม่ ว่าทุกอย่างเป็นเพราะสถาบันพระมหากษัตริย์

    ครับ…ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า เล่าเรื่องราวบางตอนของเหตุการณ์ ที่มิได้รับรู้กันแพร่หลายนัก นั่นคือ บทบาทของอเมริกา

    “…การเคลื่อนไหวสนับสนุนการต่อสู้ของกรรมกรชาวนา และคนยากจน การมุ่งที่จะเรียกร้องเอกราชสมบูรณ์โดยคัดค้านการคงอยู่ของทหารและฐานทัพอเมริกาในประเทศไทย

    การขยายตัวของอุดมการณ์สังคมนิยมและการเกิดของพรรคการเมืองแนวทางสังคมนิยมที่ต่อสู้ทางรัฐสภา ที่เสนอคำขวัญให้ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

    ตลอดจนถึงการเกิดกระแสวิพากษ์สังคมและวัฒนธรรมในด้านต่างๆ ที่ดำเนินการโดยขบวนการนักศึกษาเป็นแกนกลางได้ก่อให้เกิดความวิตกอย่างมาก ในหมู่ผู้มีอำนาจและกลุ่มอนุรักษนิยม ที่มีความหวาดกลัวว่าผลประโยชน์ของตนจะต้องถูกกระทบกระเทือน

    และยิ่งเกิดการปฏิวัติไปสู่สังคมนิยมในประเทศกัมพูชา และเวียดนาม เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๑๘ และการปฏิวัติในลาวเมื่อเดือนธันวาคมปีเดียวกัน อันนำมาสู่การยกเลิกสถาบันกษัตริย์ในลาว ยิ่งก่อให้เกิดความวิตกอย่างยิ่งว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทำนองเดียวกันในประเทศไทย

    การเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา ได้สั่นคลอนผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยเช่นกัน     โดยเฉพาะกรณีการคัดค้านการตั้งฐานทัพในประเทศไทย การต่อต้านการครอบงำทางเศรษฐกิจและการขูดรีดทรัพยากรของสหรัฐ

    รวมทั้งการเปิดโปงโทษกรรมของอเมริกาในส่วนอื่นๆ  ของโลก
ด้วยเหตุนี้จึงสร้างความไม่พอใจให้กับสหรัฐอเมริกาอย่างมาก

    ความจริงแล้วตั้งแต่หลัง พ.ศ. ๒๔๙๓ หลังการรัฐประหารของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประเทศไทยและสหรัฐก็มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมาก

    สหรัฐได้เริ่มนำเอาระบบอุปถัมภ์เข้ามาใช้ในประเทศไทย  โดยการให้ความช่วยเหลือและค้ำจุนอำนาจของผู้มีอำนาจในประเทศไทย

    เช่น การที่องค์การสืบราชการลับ ซีไอเอ. สนับสนุน พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ และกระทรวงกลาโหมอเมริกาสนับสนุนจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้น

    ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส  จารุเสถียร สหรัฐก็ได้ใช้ระบบดังกล่าวค้ำจุนอำนาจเผด็จการของรัฐบาลนั้นไว้เช่นกัน

    กลายเป็นความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างผู้นำทางการทหารของไทยกับสหรัฐตลอดมา

    หลัง 14 ตุลาคม องค์การของอเมริกาเช่น ซีไอเอ. ยังคงมีบทบาทในประเทศไทยอย่างมาก

    จากการที่พลเอกสายหยุด เกิดผล ผู้อำนวยการ กอ.รมน. เคยให้สัมภาษณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ ยอมรับว่า ซีไอเอ. ยังมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับกองกำลังตำรวจตระเวนชายแดน

    และพลโทวิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมตำรวจก็ให้สัมภาษณ์ว่า ซีไอเอ. กำลังให้ความช่วยเหลือประเทศไทยอย่างจริงจัง

    และตัวเขาเองยังได้รับรายงานจาก ซีไอเอ. อย่างสม่ำเสมอ
แต่ได้กล่าวแก้ต่างว่า ซีไอเอ. เป็นหน่วยงานประชาธิปไตย
และเกลียดเผด็จการ

    เป็นที่เปิดเผยรู้กันทั่วไปว่า ซีไอเอ. เป็นผู้จ่ายเงินสนับสนุนพลโทวิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าหน่วยเสือพรานซึ่งไปรบในลาวในระยะก่อนหน้านี้

    นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายังเป็นผู้สนับสนุนอย่างแข็งขันต่อ กอ.รมน.ของไทย และรวมทั้งเงินทุนในการก่อตั้งนวพลด้วย

    ในวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๘ นายจอห์น รัสกิน ได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์สตาร์ทรีบูน ในเมืองมีนิอาโปลิส ในสหรัฐว่า ซีไอเอ.ได้ให้การช่วยเหลือด้านการเงินแก่  ‘นวพล’ และ ‘กระทิงแดง’ ถึง ๑๒.๕ ล้านเหรียญสหรัฐ

    และสำหรับการช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ รัฐบาลสหรัฐก็ยังให้เงินให้เปล่ากับรัฐบาลไทยถึง ๕๖๖ ล้านบาท

    ดังนั้น แม้ว่ากรณี ๖ ตุลาคมจะไม่ปรากฏหลักฐานว่า องค์กรหรือหน่วยงานใดของสหรัฐอเมริกาจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสังหารโหด

    ส่วนการเกี่ยวข้องทางอ้อมหรือท่าทีอย่างลับๆ ของสหรัฐอเมริกาต่อกรณี ๖ ตุลานั้นยังต้องศึกษาต่อไป…

    ปัจจุบันก็มิได้ศึกษาบทบาทอเมริกาในเหตุการณ์เดือนตุลากันมากนัก
แต่หลังจากผ่านพ้นเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ ขบวนการนักศึกษา มุ่งไปที่ประเด็นคัดค้านและต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมของสหรัฐอเมริกา เพื่อจะให้ถอนทหารและฐานทัพอเมริกาออกจากประเทศไทย

    เรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายเป็นอิสระทางด้านการต่างประเทศ แทนที่จะใช้นโยบายตามหลังอเมริกาแต่เพียงอย่างเดียว รวมทั้งขอให้เลิกสิทธิพิเศษต่างๆ แก่ฝ่ายอเมริกา

    และดูเหมือนว่าฝ่ายรัฐบาลสหรัฐเองก็จะตระหนักเช่นกันว่าสถานการณ์ในไทย อาจไม่เหมือนเดิมในยุคเผด็จการทหาร

    ดังนั้นในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๖ จึงได้ส่งนายวิลเลียม  อาร์. คินเนอร์ (William R. Kinner) มาเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยคนใหม่

Care แป้งเด็ก แคร์ คลาสสิค 380 กรัม รวม 2 ขวด สารสกัดธรรมชาติจากขมิ้น กลิ่นหอมอ่อนละมุน

    ขณะที่กลุ่มนักศึกษาได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ ๒๐  พฤศจิกายน มีใจความตอนหนึ่งว่า

    …ฉะนั้น ในโอกาสที่นายวิลเลียม อาร์. คินเนอร์ เอกอัครราชทูตอเมริกันคนใหม่ประจำประเทศไทย เดินทางมารับตำแหน่งนี้ เราจึงขอวิงวอนให้ พ่อแม่ พี่น้อง ประชาชนชาวไทย ได้ให้ความสนใจต่อการมาของบุคคลผู้นี้ให้จงดี เพราะประวัติของบุคคลผู้นี้ มีข้อน่าสังเกตหลายประการคือ

    เคยรับราชการในกองทัพบกอเมริกันเป็นเวลานาน (จาก  ๒๔๘๓-๒๕๐๔)
เคยเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายต่างประเทศของ PU ซึ่งเป็นหน่วยงานของ CIA โดยตรง

    เคยเขียนหนังสือร่วมกับกลุ่มที่วางแผนยุทธศาสตร์การปฏิบัติการรบในเอเชียอาคเนย์ ซึ่งทำงานรับใช้กลุ่มนายทุนวอลสตรีท ซึ่งเป็นนักค้าสงคราม…”

    ครับ…นี่คืออีกมุมหนึ่งของเหตุการณ์เดือนตุลาคม
หนึ่งในบาดแผลที่อเมริกาสร้างไว้กับคนไทย และคนรุ่นใหม่ควรศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม
ก่อนจะเข้าใจประวัติศาสตร์ผิดเพี้ยนแบบกู่ไม่กลับ.


Written By
More from pp
พีทีที สเตชั่น จับมือ บัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน มอบความคุ้มค่า เติมน้ำมันทุกชนิด ครบ 1,000 บาทขึ้นไป รับเงินคืน 3%
บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ร่วมกับ บริษัท เจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิส...
Read More
0 replies on “‘ตุลา’ ฝีมืออเมริกา-ผักกาดหอม”