มองอนาคต ‘ลุงตู่’-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

คึกคักจริงๆ

พรรคการเมืองเคลื่อนไหวกันถี่ยิบ

เริ่มที่พลังประชารัฐออกอาการไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะข่าวมุ้งการเมืองจะกลับบ้านเก่า

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจ พรรคการเมืองที่เกิดจากการรวมกลุ่มของมุ้งการเมืองต่างๆ ส่วนใหญ่พร้อมจะแตกเมื่อสถานการณ์ต้อง “จำจาก” มาถึง

อีกนัยหนึ่งนี่คือพรรคเฉพาะกิจ

พลังประชารัฐจะเข้าข่ายพรรคเฉพาะกิจหรือไม่ ให้ดูท่าทีกลุ่มสามมิตร กลุ่มธรรมนัสเป็นหลัก

ถ้าสองมุ้งนี้กลับบ้านเก่า พลังประชารัฐก็เซ ทันที

แต่จะล้มหรือไม่ ก็ต้องดูว่ามีกลุ่มอื่น เดินตามออกไปหรือไม่

เดิมทีกลุ่มการเมืองในพลังประชารัฐมีมากถึง ๑๐ กลุ่มหลัก

กลุ่มนายพลทหาร นำโดย ๓ ป. “ป้อม-ป๊อก-ประยุทธ์”

กลุ่ม ๔ ยอดกุมาร มี “อุตตม สาวนายน” “สุวิทย์ เมษินทรีย์” “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” และ “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” กลุ่มนี้ ถอนตัวไปก่อนใคร ไปตั้งพรรคใหม่ กำลังรวบรวมไพร่พลกันอยู่

กลุ่มอดีต กปปส.นำโดย “ณัฐพล ทีปสุวรรณ” และ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” ทั้งหมดหมดบทบาททั้งในพรรคพลังประชารัฐ และในรัฐบาลไปแล้ว

กลุ่มสามมิตร นำโดย “สมศักดิ์ เทพสุทิน-สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ถือเป็นกลุ่มใหญ่ ลำดับต้นของพรรค กำลังตกเป็นข่าว กลับเพื่อไทยบ้านเก่า

กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นกลุ่มที่เติบโตขึ้นมาก สามารถงัดกับกลุ่มสามมิตรได้

กลุ่มพ่อมดดำ นำโดย “สุชาติ ตันเจริญ”

กลุ่มชลบุรี ของ “สนธยา คุณปลื้ม”

กลุ่มโคราช นำโดย “วิรัช รัตนเศรษฐ”

กลุ่มเพชรบูรณ์ นำโดย “สันติ พร้อมพัฒน์”

กลุ่มกำแพงเพชร ของ “วราเทพ รัตนากร”

กลุ่มด้ามขวานทอง จากภาคใต้

ดูหน้าตา เกือบครึ่งย้ายมาจากพรรคเพื่อไทย

ถ้าทั้งหมดกลับบ้านเก่าจะเกิดอะไรขึ้น?

ในขณะที่ กติกาใหม่ในรัฐธรรมนูญ เพิ่งจะแก้ไขระบบเลือกตั้งใช้บัตร ๒ ใบ ที่เอื้อประโยชน์ต่อพรรคขนาดใหญ่

ครับ…การเมือง ไม่มีอะไรแน่นอน สถานการณ์สามารถเปลี่ยนได้เสมอ อยู่ที่การบริหารจัดการของผู้ที่มีอิทธิพลในพรรคการเมืองนั้นๆ ว่า มองอนาคตได้ไกลแค่ไหน

เกิดปรากฏการณ์คลื่นใต้น้ำใน พลังประชารัฐ มาพักใหญ่แล้ว ตั้งแต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา เพราะความไม่มีเอกภาพภายในพรรค

มีคนอยากใหญ่ เพราะคิดว่าเวลามาถึงแล้ว

ที่สำคัญธรรมชาติของมุ้งการเมืองขนาดใหญ่นั้น มักมีอำนาจต่อรองสูง

ขณะที่ ๓ ป. ต้องบริหารความพึงพอใจให้นักการเมือง แต่หลายเรื่องไม่เป็นที่พอใจของประชาชนผู้สนับสนุนพรรค

การรักษาเสถียรภาพภายในพลังประชารัฐ จึงเป็นเรื่องท้าทาย หาก “ลุงตู่” ยังถูกวางให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

บิ๊กเนมในพลังประชารัฐ โดยเฉพาะกลุ่มสามมิตร ตอบโต้ข่าวย้ายพรรคว่า ไม่อยู่ในความคิด เป็นการปล่อยข่าวหวังผลทางการเมืองบางประการ

แต่อย่าลืม เพื่อไทย กับกลุ่มการเมืองเก่าของเพื่อไทยที่ย้ายซบพลังประชารัฐ คือปลาน้ำเดียวกัน

เคยอยู่บ่อเดียวกันมาก่อน

ในมุมกลับ เงื่อนไขนี้ เป็นการเพิ่มอำนาจให้กลุ่มการเมือง ใช้ในการต่อรองกับ ๓ ป.อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะเมื่อ ๓ ป.ยังต้องพึ่งพากลุ่มการเมืองต่างๆ ก็ย่อมต้องยอมสูญเสียอำนาจ และบทบาทบางประการไปเช่นกัน

ขณะเดียวกัน หาก ๓ ป.มีศาสตร์ในการบริหารกลุ่มการเมือง สามารถสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นได้ การไหลเข้าของ ส.ส.ก็ไม่ใช่เรื่องยาก

จึงต้องมีการเมืองหลายหน้าใน ๓ ป.

ฉะนั้นที่เห็น ๓ ป.แตกคอ เบื้องลึก เบื้องหลัง ก็อาจจะไม่ใช่

ขึ้นชื่อว่าการเมือง ต้องมาพร้อมกับหมากหลายชั้นเสมอ ถึงจะเอาอยู่

สำหรับสถานการณ์ของรัฐบาลลุงตู่ จนถึงขณะนี้ ยังไม่เฉียดคำว่า ยุบสภา ลาออก

หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองเสียก่อน วาระการดำรงตำแหน่งเหลืออีกปีนิดๆ ได้เลือกตั้งแน่ๆ ต้นปี ๒๕๖๕

อุบัติเหตุทางการเมืองที่จะเกิด น่าจะมีประเด็นใหญ่อยู่ประเด็นเดียว คือวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน ๘ ปี

พรรคฝ่ายค้านยืนกรานว่าจะครบในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๕

ต้องเริ่มนับตั้งแต่ “ลุงตู่ ” เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อ เดือนสิงหาคม ๒๕๕๗

แต่ผู้สนับสนุน “ลุงตู่” บอกว่า ครบ ๘ ปีในเดือนเมษายน ๒๕๖๘ เพราะต้องนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ บังคับใช้เป็นต้นไป

ฉะนั้นเมื่อใกล้ถึง สิงหาคมปีหน้า ฝ่ายค้านจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

๘ ปีเริ่มนับจากไหนกันแน่!

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เริ่มนับตั้งแต่ ๒๕๕๗ ก็เตรียมตัวตั้งรัฐบาลใหม่ “ลุงตู่” ต้องยุติเส้นทางการเมืองในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีลงเพียงเท่านั้น

แน่นอนส่งผลต่อ มุ้งการเมืองในพลังประชารัฐ

การแห่กลับบ้านเก่า อาจมีแนวโน้มที่สูงขึ้น

แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ให้เริ่มนับในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ “ลุงตู่” ก็อยู่ต่อจนครบวาระปี ๒๕๖๘

เลือกตั้งใหม่ต้นปี ๒๕๖๕ หาก “ลุงตู่” กลับมา ก็ยังเป็นนายกฯ ต่ออีกร่วม ๒ ปี

และโดยเงื่อนไขในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา มีสิทธิ์โหวตเลือกนายกฯ อีกครั้ง มุ้งการเมือง ต้องคิดหนัก

เพราะย้ายข้างผิด ชีวิตเปลี่ยน

ไปดูพรรคเพื่อไทย วานนี้ (๒๙ พฤศจิกายน) ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองของพรรคกันคึกคัก

ผลประชุมวางกรอบไว้ ๓ เรื่อง

๑.ยุทธศาสตร์ของพรรคจะชูว่า จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะมีเสียงสะท้อนจากประชาชนว่าปัจจุบันประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์, เรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง โดยเฉพาะกับประชาชนระดับล่างที่มีความทุกข์ยาก เกิดปัญหาฆ่าตัวตาย ซึ่งต้องได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น และเรื่องภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีระดับโลกที่ตกต่ำลง ทำอย่างไรจะกู้ศรัทธา และยืนอยู่บนเวทีโลกให้สง่างาม

๒.หารือกันในเรื่องของการเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นทางออก และหลีกเลี่ยงไม่ได้ เชื่อว่าจะเกิดขึ้นในเวลาไม่นานนี้ เพราะประชาชนเริ่มทนไม่ได้ วันนี้พรรคเพื่อไทยคิดว่าจะต้องชนะการเลือกตั้งให้ได้เสียงมากที่สุด เพื่อที่จะได้เข้ามาเป็นรัฐบาล แล้วคืนอำนาจให้ประชาชนในการบริหารประเทศ

และ ๓.การเตรียมการนโยบายต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง โดยเริ่มจากการจัดหาผู้สมัคร ส.ส.ทั้งแบบเขต ๔๐๐ คน และแบบบัญชีรายชื่อ ๑๐๐ คน ต่อมาคือ การเตรียมนโยบายให้สอดคล้องกับภารกิจทั้งการสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง การกู้ปัญหาเศรษฐกิจ และกู้ศรัทธาในเวทีโลก

โดยสรุป พรรคเพื่อไทยต้องการเป็นรัฐบาล และหากคำประกาศนี้ถือเป็นสัจจะ พรรคเพื่อไทยก็ต้องทำให้ได้

ต้องไม่มีคนฆ่าตัวตายภายใต้การบริหารของรัฐบาลเพื่อไทย

ประเทศต้องเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ไม่ใช่จังหวัดไหนเลือกเพื่อไทย พัฒนาจังหวัดนั้นก่อน

ได้อำนาจแล้วต้องคืนให้ประชาชน ไม่ใช่ประเคนให้นายใหญ่ เหมือนที่ผ่านมา

กอบกู้เศรษฐกิจชาติ ไม่ใช่กอบโกยเข้ากระเป๋าตัวเองและพวกพ้อง เหมือนที่ติดคุกกันระนาวในคดีโกงจำนำข้าว

ครับ…แค่หนังขายยาคั่นเวลาฟังไปเพลินๆ ครับ


Written By
More from pp
กองปราบปราม เตือนภัย มิจฉาชีพหลอกทำใบขับขี่ปลอม สูญเงิน และอาจถูกนำข้อมูลไปใช้ก่อคดีอื่นๆได้
ในปัจจุบัน มีกลุ่มมิจฉาชีพแอบอ้างว่า รับทำและจัดหาใบอนุญาตขับขี่บนโลกออนไลน์ ไม่ต้องอบรมหรือทดสอบ เพียงแค่จ่ายเงินก็รอรับใบอนุญาตขับขี่ที่บ้านได้เลย ซึ่งไม่เป็นความจริง ท่านอาจถูกหลอกลวงได้ ซึ่งมีเหยื่อหลงเชื่อจำนวนมาก และได้ทำการโอนเงินไปให้กลุ่มมิจฉาชีพ อีกทั้งมีความเสี่ยงที่ข้อมูลของเหยื่อจะถูกนำไปในก่อคดีต่างๆ หรือใช้แอบอ้างได้
Read More
0 replies on “มองอนาคต ‘ลุงตู่’-ผักกาดหอม”