สุดยอดประชาธิปไตย-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ตื่นเต้นกันใหญ่…

อเมริกาเชิญตั้ง ๑๑๐ ประเทศ ไปร่วมประชุม Summit for  Democracy แต่ไม่เชิญไทย

เพราะอเมริกามองว่า ไทย ไม่เป็นประชาธิปไตย

ก็เอาที่สบายใจครับ

คำว่า ประชาธิปไตย ในโลกนี้ก็นิยามไม่ค่อยจะตรงกันสักเท่าไหร่

คนไทยเองยัง มองประชาธิปไตยในทิศทางที่ต่างกัน

ถ้าไปถามนักการมือง ส่วนใหญ่ก็จะได้ความว่า ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง

หรือคนไทยบางจำพวก บอกว่าต้องการระบอบประชาธิปไตยเพียวๆ ไม่ต้องพ่วง อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขห้อยท้าย

ก็แล้วแต่จะนิยามกัน

แต่ถ้าเอาตามคำนิยามของอเมริกา ก็ออกมาอย่างที่เห็น มี ๑๑๐  ประเทศ

ไม่มี จีน รัสเซีย

รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านเรา อาทิ สิงคโปร์ เวียดนาม เมียนมา  กัมพูชา บรูไน

และประเทศย่านตะวันออกกลาง ที่อเมริกาขายอาวุธให้ไปฆ่ากันเอง

สรุปแล้วก็ไม่เชิญหลายประเทศเพราะ ระบอบการปกครองที่ไม่เดินตามก้นอเมริกา

บางประเทศเพราะมีรัฐบาลเลือกตั้งที่เข้มแข็งเกินไป อเมริกาก็ไม่ถือเป็นประชาธิปไตย

หลังสงครามเย็นผ่านพ้น จีนแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการพัฒนาประเทศโดยระบอบคอมมิวนิสต์ และผลลัพธ์ที่ออกมาจีนพาคนกว่า ๑.๔  พันล้านคน ผงาดเป็นหนึ่งในเจ้าโลก หายใจรดต้นคออเมริกาในแทบทุกด้าน

โลกยุคใหม่จึงเกิดคำถาม ระบอบการปกครอง คือทุกอย่างของการพัฒนาประเทศ ตามที่เชื่อกันมาร่วมๆ ศตวรรษจริงหรือไม่

แน่นอนระบอบประชาธิปไตยดูหอมหวาน เต็มไปด้วยสิทธิเสรีภาพ  ใครๆ ก็อยากได้ แต่อีกมุมการเข้าใจในเสรีภาพที่ผิดเพี้ยนนำมาซึ่งวิกฤตชาติได้เช่นกัน และประเทศไทยผ่านจุดนั้นมาแล้ว และอาจซ้ำรอยเดิม

ครับ…วันที่ ๙-๑๐ ธันวาคม นี้ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Summit for Democracy

ต้นสายปลายเหตุมาจากคำกล่าวของ โจ ไบเดน ในวันประชาธิปไตยสากลว่า

 “ไม่มีประชาธิปไตยใดที่สมบูรณ์แบบ และไม่มีประชาธิปไตยใดที่สิ้นสุด ทุกๆ กำไรที่ได้รับ ทุกๆ อุปสรรคที่ฝ่าฟัน เป็นผลมาจากการทำงานที่มุ่งมั่นและไม่หยุดยั้ง”

การประชุม Summit for Democracy เขาคุยเรื่องอะไรกันบ้าง?

มี ๓ ประเด็นหลัก คือ

๑.ต่อต้านเผด็จการ

๒.แก้ไขและปราบปรามการทุจริต

๓.ส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน

สำหรับอเมริกา การประชุมสุดยอดนี้ จะเปิดโอกาสให้ได้ฟัง เรียนรู้ และมีส่วนร่วมกับผู้มีบทบาทที่หลากหลาย ซึ่งการสนับสนุนและความมุ่งมั่นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการต่ออายุระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก

นอกจากนี้ยังจะแสดงให้เห็นจุดแข็งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของระบอบประชาธิปไตย

นั่นคือ ความสามารถในการยอมรับความไม่สมบูรณ์ และเผชิญหน้าอย่างเปิดเผยและโปร่งใส เพื่อที่จะสามารถ “สร้างสหภาพที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้” ตามที่รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริการะบุไว้

สรุปก็คือ อเมริกา ก็มีปัญหาเรื่องประชาธิปไตยเช่นกัน

กลับไปดูข่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา    เอเอฟพีรายงานว่า สถาบันระหว่างประเทศเพื่อประชาธิปไตยและความช่วยเหลือด้านการเลือกตั้ง (อินเตอร์เนชันแนลไอดีอีเอ) มีที่ตั้งที่กรุงสตอกโฮล์ม เผยแพร่รายงาน

“สถานะประชาธิปไตยโลก ๒๕๖๔”

ซึ่งมาจากการสำรวจตัวบ่งชี้ทางประชาธิปไตยใน ๑๖๐ ประเทศทั่วโลก

จัดแบ่งเป็น ๓ ประเภท ได้แก่

ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย (รวมถึงประเทศที่ประชาธิปไตยเสื่อมถอย)

ประเทศที่มีรัฐบาลแบบลูกผสม

และระบอบอำนาจนิยม

รายงานฉบับนี้ระบุว่า ปัจจุบันประชาชนทั่วโลกเกิน ๑ ใน ๔ มีชีวิตอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่กำลังเสื่อมถอย

โดยสัดส่วนจะเพิ่มเป็นมากกว่า ๒ ใน ๓ เมื่อรวมกับระบอบอำนาจนิยมหรือระบอบลูกผสม

และปีนี้ยังเป็นครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกาถูกจัดให้เป็นประเทศประชาธิปไตยเสื่อมถอย

ข้อมูลของสถาบันอินเตอร์เนชันแนลไอดีอีเอ บ่งชี้ว่า ภาวะเสื่อมถอยในสหรัฐฯ นั้นเริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ เป็นอย่างน้อย

เมื่อลงรายละเอียด รายงานฉบับนี้ บอกว่า สหรัฐฯ เป็นประเทศประชาธิปไตยประสิทธิภาพสูง ทั้งยังปรับปรุงประสิทธิภาพในตัวบ่งชี้ของการบริหารที่เป็นกลาง (การคอร์รัปชันและการบังคับใช้ที่คาดการณ์ได้) ในปี ๒๕๖๓

ทว่าความถดถอยในเสรีภาพพลเรือน และการตรวจสอบรัฐบาล บ่งชี้ว่ามีปัญหาร้ายแรงกับรากฐานของประชาธิปไตย

“จุดเปลี่ยนครั้งประวัติศาสตร์เกิดในปี ๒๕๖๓-๒๕๖๔ เมื่ออดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งคำถามถึงความชอบด้วยกฎหมายของผลการเลือกตั้งในสหรัฐฯ เมื่อปี ๒๕๖๓”

ยิ่งกว่านั้น มีความถดถอยในคุณภาพของเสรีภาพ ในการรวมตัวและการชุมนุมระหว่างการประท้วงเมื่อฤดูร้อนปี ๒๕๖๓ ภายหลังเหตุการณ์ที่ตำรวจทำให้จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสี เสียชีวิต

ในภาพรวม รายงานระบุว่า จำนวนประเทศประชาธิปไตยเสื่อมถอยเพิ่มขึ้นเท่าตัวในทศวรรษที่ผ่านมา โดยตอนนี้เท่ากับ ๑ ใน ๔ ของประชากรโลก

นอกเหนือจากประเทศประชาธิปไตยเก่าแก่อย่างสหรัฐฯ แล้ว รายชื่อในกลุ่มนี้ยังรวมถึงประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) อย่างฮังการี,  โปแลนด์ และสโลวีเนีย

การประเมินชั่วคราวของสถาบันนี้สำหรับปี ๒๕๖๔ ทั่วโลกมีประเทศประชาธิปไตย ๙๘ ประเทศ ต่ำที่สุดในรอบหลายปี

มีรัฐบาล “ลูกผสม” ๒๐ ประเทศ ซึ่งรวมถึงรัสเซีย, โมร็อกโก,  ตุรกี

ส่วนประเทศที่อยู่ใต้ระบอบอำนาจนิยมนั้นมี ๔๗ ประเทศ อาทิ  จีน, ซาอุดีอาระเบีย, อิหร่าน, เกาหลีเหนือ, เมียนมา และไทย

ครับ…ถ้าบอกว่าประชาธิปไตยตกต่ำมันก็ตกต่ำทั้งโลก

อเมริกาตกหนักเหมือนกันถึงขั้นม็อบบุกยึดรัฐสภา ตำรวจยิงตายไปหลายศพ

สำหรับมุมมองฝรั่งที่มีต่อไทย มันก็เป็นไปตามทฤษฎีของฝรั่ง แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในไทย พูดไปมันก็งูกินหาง

ถ้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่โกง ก็ไม่เปิดช่องให้มีการรัฐประหาร เมื่อไม่มีรัฐประหาร ฝรั่งก็มองว่า ไม่ใช่ระบอบอำนาจนิยม

ประชาธิปไตยก็เบ่งบาน สหรัฐฯ คงเทียบเชิญประเทศแรกๆ

วันนี้ลูกสมุนคนโกงไร้แผ่นดินอยู่ พากันตีปี๊บ ประเด็นอเมริกาไม่เชิญไทย ราวกับว่าหลังจากนี้ไทยจะต้องเจอแต่หายนะแน่นอน

Summit for Democracy คือการเมืองโลก เหมือนอเมริกากำลังสะสมพรรคพวกคานจีน คานรัสเซีย

ถามว่าไทยไม่ได้ประชุมผลเสียจะตามมาหรือเปล่า

เมื่อ ๒๓ พฤศจิกายน สถานทูตอเมริกาประจำประเทศไทย เพิ่งโม้ยกใหญ่ เรื่อง ๕ เรื่องเด่น เศรษฐกิจสหรัฐฯ-ไทย ในปีนี้

๑.บริษัทสหรัฐฯ ให้คำมั่นว่าลงทุนในไทย เพิ่ม ๗๒๐ ล้านเหรียญ ในครึ่งแรกของปี ๒๕๖๔ ซึ่งช่วยสร้างงานใหม่ๆ ที่มีรายได้สูงในอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต

๒.บริษัทสหรัฐฯ ในไทย จ้างแรงงานไทยแล้วกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คน  โดยก่อให้เกิดการพัฒนาทักษะและโอกาสสู่ความก้าวหน้า

๓.สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของไทย และการส่งออกไปสหรัฐฯ หล่อเลี้ยงภาคธุรกิจและแรงงานไทยจำนวนมาก

๔.ชาวอเมริกันเป็นนักท่องเที่ยวหลักของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ โดยช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภูเก็ต เพิ่มการสร้างงานและส่งเสริมการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรค

๕.สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนไทยมากที่สุด หลังไทยเปิดประเทศ

ข้อเท็จจริงก็ตามนั้น


0 replies on “สุดยอดประชาธิปไตย-ผักกาดหอม”