โดยภาพรวมเป็นไปด้วยดี ผู้ปกครองมีความมั่นใจที่จะส่งบุตรหลานไปโรงเรียน นักเรียนมีความกระตือรือร้นและพร้อมให้การป้องกันตนเองสามารถปรับตัวกับชีวิตวิถีใหม่ในการไปโรงเรียน ทางสถานศึกษาและครูได้เตรียมพร้อมทั้งการจัดระบบคัดกรองก่อนเข้าโรงเรียน นักเรียน ครู และบุคลากร ทุกคนต้องประเมิน Thai Save Thai (TST) ตามเกณฑ์จำแนกตามเขตพื้นที่การแพร่ระบาด
รวมถึงมีการสุ่มตรวจคัดกรองหาเชื้อ (ATK) การเว้นระยะห่างในการเข้าแถว การจัดสถานที่ในโรงเรียน ห้องเรียน โรงอาหาร ให้มีพื้นที่ปลอดโปร่ง พร้อมจัดจุดล้างมือไว้บริการทั่วทั้งโรงเรียน บางโรงเรียนบริหารจัดการเรื่องการเรียนการสอนโดยสลับวันมาเรียนเพื่อไม่ให้เกิดความแออัด ควบคุมดูแลการเดินทางกรณีมีการเข้าและออกจากสถานศึกษาอย่างเข้มข้น
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับการฉีดวัคซีนสำหรับเด็กนักเรียน ครู รวมไปถึงบุคลากรภายในโรงเรียนทุกระดับ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับนักเรียนโดยคาดหวังให้โรงเรียนกลับมาเปิดเรียน On Site ให้มากที่สุด
ซึ่งขณะนี้จำนวนนักเรียนที่มีความประสงค์เข้ารับการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นโดยตลอด ผู้ปกครองมีความมั่นใจในความปลอดภัย เพียงแต่ยังมีบางส่วนและเป็นส่วนน้อยที่อยู่ในช่วงของการตัดสินใจรับวัคซีน โดยในส่วนของความก้าวหน้าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเยาวชน นักเรียน นักศึกษา มีผู้ที่แสดงความประสงค์ฉีดวัคซีนผ่านคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดทั่วประเทศแล้วกว่า 3.82 ล้านคน
มีการฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียนอายุ 12 ขึ้นไป (นักเรียนชั้น ป.6/ม.1/นักศึกษา ปวช. 1-3/ปวส. 1-2) สะสมแล้วจำนวน 2.83 ล้านคน คิดเป็น 74.16% ของผู้ที่ประสงค์รับวัคซีน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2564) ทุกหน่วยงานเร่งรณรงค์ทำความเข้าใจให้นักเรียนเข้ารับการฉีดวัคซีนมากที่สุด เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนและผู้ปกครองเอง
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้เน้นย้ำ ให้สถานศึกษาปฏิบัติตามมาตรการ 6-6-7 อย่างเคร่งครัด (6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) และแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา) ถึงแม้จะได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว แต่สิ่งที่ต้องปฏิบัติตลอดคือการสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง การล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์อยู่เสมอ โดยมาตรการ 6-6-7 ได้แก่
6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) ประกอบด้วย 1. Distancing เว้นระยะห่าง 2. Mask wearing สวมหน้ากาก 3. Hand washing ล้างมือ 4. Testing คัดกรองวัดไข้ 5. Reducing ลดการแออัด 6. Cleaning ทำความสะอาด
6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) อย่างเข้มข้น คือ 1. Self-care ดูแลตนเอง 2. Spoon ใช้ช้อนกลางส่วนตัว 3. Eating กินอาหารปรุงสุกใหม่ 4. Track ลงทะเบียนเข้าออกโรงเรียน 5. Check สำรวจตรวจสอบ และ 6.Quarantine กักกันตัวเอง
7 มาตรการเข้มเปิดโรงเรียน ไป-กลับ ได้แก่ 1. ประเมินความพร้อมเปิดเรียนผ่าน Thai Stop COVID Plus (TSC) + และรายงานการติดตามการประเมินผลผ่าน MOECOVID 2. จัดกิจกรรมรูปแบบ Small Bubble 3.จัดระบบให้บริการอาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหารและหลักโภชนาการ 4. ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ตามเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ การระบายอากาศภายในอาคาร การทำความสะอาดคุณภาพน้ำอุปโภคบริโภค และ การจัดการขยะ
5. จัด School Isolation แผนเผชิญเหตุ และมีการซักซ้อม 6. ควบคุมดูแลการเดินทางจากบ้านไปโรงเรียน (Seal Route) กรณีรถรับ-ส่งนักเรียน รถส่วนบุคคล และรถสาธารณะ 7. จัดให้มี School Pass สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษา ประกอบด้วย ผลการประเมิน Thai Save Thai (TST) ผลตรวจ ATK ภายใน 7 วัน ประวัติการรับวัคซีน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยเมื่อเข้า-ออกโรงเรียน
“ท่านนายกฯ ได้สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด วันนี้สังคมไทยเข้าใจในเรื่องของการใช้ชีวิตอยู่กับโควิด-19 มากขึ้น ผู้ปกครองมีความมั่นใจให้ลูกหลานออกไปทำกิจกรรมใช้ชีวิตข้างนอก เด็ก ๆ มีความสุขกับการไปโรงเรียนและสนุกที่ได้เจอเพื่อน มีสังคม รู้จักป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด สถานศึกษา ครู รวมทั้งบุคลากร มีความพร้อมและมุ่งมั่นในการเรียนการสอบรูปแบบใหม่ ภายใต้ความปลอดภัยอย่างเข้มงวดของมาตรการ 6-6-7 เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตรูปแบบปกติใหม่ เมื่อเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดจะสามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว