“สสร.” หรือจะ “ขันจอหว่อ”? – เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

มาคุยเรื่อง “แก้รัฐธรรมนูญ” กันหน่อย
ที่จะตั้งสสร. “เขียนใหม่” ทั้งฉบับนั่นน่ะ
จะสำเร็จหรือฝันสลาย
ขึ้นอยู่กับ “๓ ขั้นตอนสุดท้าย” ที่จะคุยกันวันนี้แหละ!
แต่ก่อนเข้าเรื่อง มาปูพื้นกันก่อน
คือบรรดาสส.เขามีความเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เป็นมรดกเผด็จการ ไม่เป็นประชาธิปไตย
ต้องฉีกทิ้ง แล้วตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ-สสร.” เขียนขึ้นใหม่ทั้งฉบับ

รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๖ บอกว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้ ๑..๒..๓..๔..๕..๖..๗..๘..๙
เพื่อผลประโยชน์เผ่าพันธุ์สส.ด้วยกัน ทั้งฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล อาศัยช่องตามมาตรานี้ เล่นบทมาตุฆาตทันที

ใช้มาตรา ๒๕๖ เป็นดาบ ย้อนแก้ไขมาตรา ๒๕๖ เปิดช่องไปฆ่าแม่ทิ้งซะ!
โดยแก้ให้ตั้งสสร. “เขียนรัฐธรรมนูญใหม่” ทั้งฉบับ เสร็จแล้ว ฉีกฉบับปัจจุบันทิ้งไป!

สส.ไพบูลย์ นิติตะวัน กับสว.สมชาย แสวงการ เห็นว่า การทำอย่างนั้น น่าจะขัดรัฐธรรมนูญและเจตนารมณ์ผู้ร่าง
ทั้งความในมาตรา ๒๕๖ ระบุชัด ให้ “แก้ไขเพิ่มเติม” ได้
“แก้ไข” หมายถึง “แก้รายมาตรา”
ไม่ใช่ให้แก้แบบ “ฉีกทิ้ง” ทั้งฉบับ แล้วตั้งสสร.เขียนใหม่อย่างที่กำลังทำกัน

ซึ่งแบบนั้น ไม่ใช่การแก้ไข มัน “เขียนใหม่” ทั้งฉบับชัดๆ

น่าจะขัดทั้งรัฐธรรมนูญ ทั้งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์คณะผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ
เมื่อเห็นต่าง ก็ “แยกทางเดิน” ฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล ยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒๕๖ และเพิ่มหมวด ๑๕/๑ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต่อประธานรัฐสภา
สรุปว่า ผ่านฉลุย ทั้งวาระ ๑ วาระ ๒ เสียงข้างมากเห็นชอบ “ตั้งสสร.” เขียนใหม่-ฉีกเก่าทิ้ง เมื่อ ๒๕ กพ.

ก็ดองไว้ ๑๕ วัน รอขั้นตอน “ให้ความเห็นชอบ” ร่างแก้ไขฉบับนี้ ในวาระที่ ๓ สุดท้าย

สส.จะใช้รัฐสภาฆ่ารัฐธรรมนูญที่ให้กำเนิดพวกเขาทิ้ง แล้วสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับสสร.ขึ้นแทน สมมโนรสหรือไม่?

พุธที่ ๑๗ มีนา.รู้กัน โหวตเสียงวาระ ๓ ในรัฐสภา!

พักด้านรัฐสภาไว้ก่อน ไปดูทาง สส.ไพบูลย์ กับ สว.สมชายบ้าง ทำคำร้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ โดยส่งผ่านประธานรัฐสภา
ถอดความชัดๆ คือ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๕๖ สามารถแก้ไขเพื่อนำไปสู่การจัดตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนรัฐธรรมนูญ แบบนั้น รัฐสภามีอำนาจทำได้หรือไม่?”

ศาลรัฐธรรมนูญ “รับคำร้อง” ไว้พิจารณาวินิจฉัย ไฮไลท์อยู่ที่ ศาลฯส่งหนังสือสอบถามประเด็นข้อกฎหมายไปยัง

-นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน

-นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตเลขานุการกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ และอดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

-นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตเลขานุการกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐

-นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐

ให้ทั้ง ๔ คน ทำความเห็นส่งมาประกอบการพิจารณาวินิจฉัยลงมติตัดสินคดีแก้มาตรา ๒๕๖ ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง ๙ ท่าน

โดยให้ส่งความเห็นไปยังศาลฯ ภายในวันที่ ๓ มีนา.คือวันนี้ อันเป็นวันสุดท้าย
และศาลฯได้นัดประชุมวันรุ่งขึ้น คือวันพฤหัสบดีที่ ๔ มีนา.แต่จะตัดสินวันไหนยังไม่กำหนด

ความตื่นเต้นก็เกิดขึ้นตรงนี้แหละ!
โหวตวาระสาม ๑๗ มีนา.แต่เป็นไปได้สูง ศาลฯจะมีคำพิจารณาวินิจฉัยออกมาก่อนแน่ แต่ไม่ว่าก่อนหรือหลัง

ถ้าวินิจฉัยว่า “ทำได้” สส.สาธุการสนั่น
เหลือ “ด่านประชาชน” เป็นด่านชี้ขาดสุดท้าย ว่า “รัฐสภาจะทำมาตุฆาต” ได้สำเร็จหรือไม่?
คือด่าน “ประชามติ”!

หากศาลฯวินิจฉัย “ทำไม่ได้” พิธีกรรม “รัฐสภาฆ่าแม่” ที่เริ่มมาทั้งหมด พังครืนทันที!

เหลือทางเดียว ถ้าอยากได้ ก็ “ลงถนน” ปล้นฆ่านอกรัฐสภาเอาเอง

ความเห็น ๔ อดีตผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีน้ำหนักต่อการพิจารณาวินิจฉัยมาก
เมื่อ ๒๖ กพ.หลังรัฐสภาผ่านวาระ ๒ “นายอุดม รัฐอมฤต” ให้สัมภาษณ์นักข่าว นสพ.สยามรัฐ ตีพิมพ์ไว้ ว่า

“ก่อนหน้านี้ เคยชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรธน.ที่เพิ่งผ่านการพิจารณารัฐสภาไปเมื่อ ๒๕ ก.พ.ว่า

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๖ เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.)มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อมาแทนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

“ทำไม่ได้”

เพราะหากใช้วิธีการดังกล่าว เท่ากับฉีกรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทิ้งไป

“เจตนาของการเขียนมาตรา ๒๕๖ ในฉบับปัจจุบัน คือเป็นเรื่องของการเขียนออกมาเพื่อให้เป็นเรื่องของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รายมาตรา

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตรา กับการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มันเป็นคนละเรื่องกัน

เพราะอำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกับอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ “เป็นคนละส่วนกัน”

สมาชิกรัฐสภาตอนนี้เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แล้วมาคว่ำรัฐธรรมนูญเสียเอง เขาทำมันได้ยังไง

“มันไม่มีประเทศไหนเขาทำ นอกจากฉีกรัฐธรรมนูญ”

หากจะทำแบบนั้น….
คือต้องการฉีกรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเอารัฐธรรมนูญส่งกลับคืนไปให้ประชาชนได้พิจารณากันใหม่

เพราะประชาชนคือผู้ลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ผ่านการทำประชามติมา
เป็นตรรกะธรรมดา ……
เพราะไม่มีใครเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อบอกว่าคุณมายกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนี้ได้

ไม่มีประเทศไหนทำกัน ยกเว้นแต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว

แต่สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ไม่มีที่ไหนในโลกเขียนกันหรอกว่า “เมื่อใดไม่ต้องการ ก็ให้ไปทำใหม่”

ทางที่เห็นว่า “เป็นไปได้มากสุด” หากจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็คือ
ส่งไปให้ประชาชนเขาลงความเห็นกันก่อนจะแก้ไข เป็นหลักการที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้แล้ว ตอนปี ๒๕๕๕

ที่ตอนนั้น ก็มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเพื่อจะตั้งสสร. มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ศาลก็บอกว่า “หากจะทำ ต้องไปทำประชามติก่อน”

เพราะทั้งรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ กับฉบับปัจจุบัน ปี ๒๕๖๐ มาจากหลักการเดียวกัน คือผ่านการทำประชามติ การแก้ไขรายมาตรา เพื่อจะให้ไปทำรัฐธรรมนูญใหม่ มันก็คือ “การฉีกรัฐธรรมนูญ”

ที่บางฝ่ายแย้ง แก้รายมาตราเพื่อตั้งสสร.เคยทำมาแล้ว ตอนมีการแก้ไขรธน.ปี ๒๕๓๔ ที่มีการแก้ไขตอนปี ๒๕๓๙ ที่มีการตั้งสสร.

โดยฝ่ายสนับสนุนบอกว่า “ทำไมตอนปี ๒๕๓๙ ทำได้”

แต่อย่างที่เห็น คือเวลานั้น ปี ๒๕๓๙ ไม่มีคนค้าน แต่ตอนนี้ มีทั้งคนค้านและคนเห็นด้วย จนเป็นกรณีมีความเห็นแตกต่างกัน
การที่ออกมาแสดงความเห็นแบบนี้ ไม่ได้ค้านเพื่อจะให้ยืนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้อย่างเดียว

แต่ค้านเพื่อบอกว่า….
หากจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถ้าจะทำ ต้องไปถามประชาชน
บางฝ่ายพยายามตะแบงว่า ที่กำลังทำอยู่ ไม่ได้เป็นการร่างใหม่ทั้งฉบับ เพราะไม่แตะหมวด ๑ หมวด ๒ ในรัฐธรรมนูญ

แต่ในความเป็นจริง มันไม่ได้ต่างกัน เพราะการให้สสร.ไปร่างรธน.ใหม่ มันก็คือการปรับใหม่หมด เชื่อมโยงกันไปหมด
คนที่อยากแก้ไข เขาพยายามจะไม่พูดถึงความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อ้างว่า คนร่างไม่ได้มาจากประชาชน ซึ่งก็พูดกันไปเรื่อย”

ครับ…พอเห็นแนวกระมัง ว่าแก้เพื่อฉีกเขียนใหม่ น่าจะ “แท้งนอกมดลูก”!

แต่ถึงแม้ผ่านศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่แน่จะผ่านด่านคณิตศาสตร์การโหวตวาระ ๓ ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติ
เพราะต้องได้เสียงเห็นชอบ “เกินกึ่งหนึ่ง” ของสองสภา ตอนนี้ ๒ สภารวมแล้ว สมมุติ ๗๓๐ ก็ต้องได้ ๓๖๖ เสียงขึ้นไป

ยังกำหนดไว้ด้วย ใน ๓๖๖ เสียงนั้น ต้องเป็นเสียงสว.ไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ สรุปว่า ต้อง ๘๓-๘๔ เสียงสว.ขึ้นไป
ซึ่งยาก เพราะสว. “ไม่เอาด้วย” กับการแก้อยู่แล้ว

ยังกำหนดไว้อีกว่า….
เสียงเห็นชอบจากส.ส.ฝ่ายค้านและส.ส.จากพรรคการเมืองที่ไม่มีรัฐมนตรี ประธานสภา หรือรองประธานสภา รวมด้วย ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๐
คิดแล้วปวดหัว สรุปว่า “เดือนมีนา.” ทั้งในและนอกสภา น่าจะเป็นเดือน “แดงเดือด” ชนิดตัดเชือกกันไปเลย

ก็ปูพื้นไว้…….
จะได้ปูเสื่อเตรียมดูรายการ “เรือล่มเมื่อจอด-ตาบอดเมื่อแก่” กันให้สะใจ!

Written By
More from plew
เมื่อ “อนุทินอบรมเด็ก” – เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน ไม่ต้องเข้าเครื่อง “จับเท็จ”……. แค่อาการ “ปากแข็ง-ขาสั่น” ของเพื่อไทย ก็เท่ากับรับสารภาพอยู่ในตัวแล้วว่า ที่โม้ จะ “แลนด์สไลด์” นั้น...
Read More
0 replies on ““สสร.” หรือจะ “ขันจอหว่อ”? – เปลว สีเงิน”