อย่าแบ่งชั้นวรรณะวัคซีน-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

สาหัสครับ…..

มวลมนุษยชาติไม่ได้อยู่ในสงครามโควิด-๑๙ เพียงอย่างเดียว

      เรายังอยู่ในสงครามแย่งชิงวัคซีนด้วย

      ณ ปัจจุบันความต้องการวัคซีน ยังมากกว่ากำลังการผลิตอยู่หลายเท่าตัว

      และยังมีปัญหาใหญ่ที่หลายประเทศต้องเจอคือ การส่งมอบล่าช้า จนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศผู้ผลิต กับประเทศที่สั่งจอง

      ช่วงต้นปี รัฐบาลหลายประเทศในยุโรปแสดงความไม่พอใจต่อบริษัทไฟเซอร์ อิงค์

      บางประเทศ เช่น อิตาลี ถึงขั้นขู่ดำเนินการทางกฎหมาย เพราะนอกจากไฟเซอร์จะส่งมอบวัคซีนช้าแล้ว  ยังได้ลดจำนวนอีกต่างหาก

      หลายประเทศขาดแคลนวัคซีนอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็น โรมาเนีย โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก ฮังการี  สวิตเซอร์แลนด์     

      ประเทศเหล่านี้ต่างเรียกร้องให้สหภาพยุโรป (EU)  ทำการเจรจากับไฟเซอร์เพื่อให้มีการส่งมอบวัคซีนอย่างตรงเวลา

      กว่าไฟเซอร์จะส่งมอบวัคซีนได้นิ่งก็ปาเข้าไปเดือนเมษายน-พฤษภาคม

      ก็ลองจินตนาการดูครับว่า เสียงเรียกร้องจากคนไทยจำนวนหนึ่งว่าทำไมรัฐบาลไม่เอาไฟเซอร์ เข้ามาเสียแต่เนิ่นๆ

      โดยสถานการณ์ขาดแคลนวัคซีน สามารถทำได้จริงหรือไม่

      สำหรับสิงคโปร์ เป็นข้อยกเว้น เพราะสิงคโปร์ควักเงินร่วมวิจัยวัคซีนกับบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ ตั้งแต่แรก และไม่มีใครรู้ว่า วัคซีนยี่ห้อไหน จะสำเร็จก่อนกัน

      ชาวสิงคโปร์ จึงได้ฉีดไฟเซอร์ เป็นประเทศแรกๆ ของโลกหลังมีการฉีดในอเมริกา

      สำหรับประเทศไทยกับไฟเซอร์ ไม่ได้นิ่งดูดาย

      แต่อย่างที่ทราบ และมีการอธิบายกันมาตลอดว่า ระยะแรกๆ นั้นวัคซีน ไฟเซอร์ ต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิ -๗๐ องศาเซลเซียส

      ฉะนั้นจะมีความยุ่งยากทั้งการขนส่งและการเก็บรักษา

      เพิ่งจะมีการเปลี่่ยนแปลงเมื่อเดือนพฤษภาคมมานี่เอง  ที่หน่วยงานกำกับดูแลยาของยุโรป หรือ EMA แนะนำว่า วัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งใช้เทคโนโลยี mRNA ในการผลิตนั้น สามารถเก็บไว้ได้ที่อุณหภูมิที่สูงขึ้น

      คือเก็บในตู้เย็นปกติได้แล้ว

      เรื่องนี้เหมือนไม่มีอะไร

      แต่สำคัญมากในการตัดสินใจ จัดหาวัคซีนเพิ่มของไทย

      พูดถึงวัคซีนหลักก็ต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมว่า ต้องย้อนกลับไปปี ๒๕๖๓  ช่วงที่สิงคโปร์ทุ่มเงินร่วมวิจัยวัคซีนกับบริษัทไฟเซอร์ อิงค์

      ส่วนไทยจีบแอสตร้าเซนเนก้าตั้งแต่เดือนสิงหาคม  ๒๕๖๓ กระทรวงสาธารณสุขลงนามหนังสือแสดงเจตจำนง เพื่อรับถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตวัคซีนโควิด-๑๙ จากแอสตร้าเซนเนก้า

      กระทั่งเดือนพฤศจิกายน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาการจัดหาวัคซีน โดยการจองล่วงหน้ากับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด

      ก่อนที่จะส่งมอบจริง ในเดือนมิถุนายนและระดมฉีดในวันที่ ๗ มิถุนายน ที่ผ่านมา

      และนี่คือเหตุผลว่าทำไมวัคซีนเข็มแรกในประเทศไทยเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ถึงเป็น ซิโนแวค  จากจีน

      ซิโนแวค เก็บรักษาที่อุณหภูมิ ๒-๘ องศาเซลเซียส

      ขนส่งง่าย

      ที่สำคัญคือ “มีของ” พร้อมส่งมอบ

      ที่จริงทั้งหมดนี้คือข้อมูลพื้นฐานที่ มีการชี้แจงมาเป็นระยะๆ

      แต่ก็มีคนจำนวนมากไม่เข้าใจ พากันสาปแช่งรัฐบาล และ ศบค. ที่ไม่นำวัคซีนไฟเซอร์ รวมไปถึงโมเดอร์นาเข้ามาเร็วๆ

      วานนี้ (๔ กรกฎาคม) คุณหมอโสภณ เอี่ยมศิริถาวร  รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) เปิดไทม์ไลน์การจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ ๒๐ ล้านโดส แสดงให้เห็นว่า มิได้ละเลยนำวัคซีน mRNA เข้ามา แต่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

      ๑๖ เมษายน ๒๕๖๔ – ประชุม ศบค. ครั้งที่  ๕/๒๕๖๔ มีมติจัดหาวัคซีน

      ๒๐ เมษายน ๒๕๖๔ – ครม.รับทราบตามที่ ศบค.เสนอ

      ๒๙ เมษายน ๒๕๖๔ – ลงนาม CONFIDENTIAL DISCLOSURE  AGREEMENT

      ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๔ – คร.ส่งร่าง Binding  Term Sheet ให้อัยการสูงสุดพิจารณา

      ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔ – คร.ส่งร่าง Binding  Term Sheet ที่เจรจาเพิ่มเติมกับ Pfizer ให้อัยการสูงสุดพิจารณา

      ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ – อัยการสูงสุด แจ้งผลการพิจารณา Binding Term Sheet การตกลงจองซื้อวัคซีน Pfizer จัดซื้อตามนโยบายรัฐบาล

      ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ – ลงนาม Binding  Term Sheet

      ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ – ขอขึ้นทะเบียน

      ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ – อย.ขึ้นทะเบียน

      ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๔ – Pfizer ส่งเอกสารสัญญา  Manufacturing and Supply Agreement

      ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ – ส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุด

      ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๔ – อัยการสูงสุดส่งกลับ คร.

      ๖ กรกฎาคม ๒๕๖๔ – เข้า ครม. เห็นชอบก่อนลงนาม

      กระบวนการไล่ๆ กับวัคซีนโมเดอร์นา  

      ในโลกนี้ไม่มีประเทศไหนไม่มีปัญหาเรื่องฉีดวัคซีน

      “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เคยประกาศเป้าหมายในโครงการฉีดวัคซีนโควิดซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนว่า….

      ก่อนถึงวันชาติสหรัฐฯ ๔ กรกฎาคม ชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่ ราว ๗๐% ของประเทศ จะต้องได้ฉีดวัคซีนโควิดแล้วอย่างน้อย ๑ โดส

      แต่…ทำเนียบขาวยอมรับว่าจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายซึ่งประธานาธิบดีไบเดนตั้งไว้

      เหตุผลสำคัญคือความลังเลใจของกลุ่มคนวัย ๑๘-๒๖  ปีในอเมริกา

      ประเทศยักษ์ใหญ่ไม่มีปัญหาวัคซีนขาดแคลนเพราะเป็นประเทศผู้ผลิต หนำซ้ำวัคซีนบางส่วนใกล้หมดอายุจึงต้องประกาศบริจาคให้ประเทศยากจน

      สรุปเขาก็มีปัญหาคนรุ่นใหม่ไม่ให้ความร่วมมือ

      ขณะเดียวกัน ไวรัสสายพันธุ์เดลตากำลังบุกอเมริกา  ที่คิดว่าเอาอยู่แล้วตอนนี้อาจจะต้องรอดูสถานการณ์ช่วงปลายเดือนนี้

      ฉะนั้นโอกาสวัคซีนไฟเซอร์ขาดแคลนอย่างหนักเหมือนช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อาจเกิดขึ้นได้

      สำหรับคอไฟเซอร์ในประเทศไทย ควรรับทราบข้อมูลให้ครบถ้วน อย่าเสพข่าวด้านเดียว

      ในโซเชียลเขาไปส่องการสั่งจองวัคซีนของประเทศต่างๆ ในอาเซียนมาให้ดูกัน

      อินโดฯ สั่ง​ ๕๐​ ล้านโดส​ ยังไม่ได้ของ

      มาเลย์สั่ง​ ๕๐​ ล้านโดส​ ได้มา​ ๔ ​ล้านโดส

      ฟิลิปปินส์​สั่ง​ ๔๐ ​ล้านโดส​ ยังไม่ได้ของ

      ไทยสั่ง​ ๒๐ ​ล้านโดส​ ยังไม่ได้ของ

      สิงคโปร์สั่ง​ ๑๐​ ล้านโดส​ ได้มา ๔​ ล้านโดส

      ลาวได้มา ๒ ​แสนโดส​ จาก​ covax

      ฉะนั้นเลิกเถอะครับ ที่กระแนะกระแหน ฉีด ไฟเซอร์  ติดเชื้อ “เป็นไปได้ไง” ฉีด ซิโนแวค ติดเชื้อ “ไม่เกินความคาดหมาย”

      นาทีนี้ท่องไว้..ฉีดวัคซีนที่มี จะได้ไม่ต้องนอนไอซียู.

Written By
More from pp
ทบ. ปรับการช่วยโควิดสอดรับสถานการณ์ คง รพ.สนาม ดูแลผู้ป่วย 13 แห่งทั่วประเทศ ปิดศูนย์ประสานงานต้านภัยโควิด หลังบริการประชาชน 6 เดือน
2 พฤศจิกายน 2564-จากการสนับสนุนรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ 3 พ.ค. 2564 นับเป็นระยะเวลา 6 เดือน ที่...
Read More
0 replies on “อย่าแบ่งชั้นวรรณะวัคซีน-ผักกาดหอม”