กรณีผลชันสูตรชิ้นเนื้อวัวแดงในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พบป่วยเป็น “โรคลัมปี สกิน” เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการตามมาตรการ และประสานทุกภาคส่วนติดตามสถานการณ์ และดำเนินการตามมาตรการอย่างเข้มงวด

22 ตุลาคม 2564 นายธวัชชัย เพชระบูรณิน รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 เปิดเผยว่า กรณีผลการชันสูตรชิ้นเนื้อของวัวแดงในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ว่าเป็นโรคลัมปี สกิน หรือไม่นั้น
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 พบซากวัวแดงที่เสือโคร่งล่าเป็นอาหาร โดยเป็นซากวัวแดงเพศผู้ อายุประมาณ 2 ปีครึ่ง – 3 ปี ลักษณะของซากยังใหม่ และมีร่องรอยถูกเสือโคร่งกินบริเวณสะโพกของวัวแดง และตามผิวหนังตรวจพบร่องรอยคล้ายโรคลัมปี สกิน นายสัตวแพทย์จึงได้เข้าทำการตรวจสอบ และเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อและเลือดของซากวัวแดงดังกล่าว นำส่งชันสูตรที่ห้องปฏิบัติการ

ทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 ได้รับรายงานผลการวินิจฉัยจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนล่าง จังหวัดพิษณุโลก แจ้งผลการตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส Lumpy skin disease virus (LSDV) จำนวน 1 ตัวอย่าง สรุปการวินิจฉัยได้ว่า วัวแดงป่วยเป็นโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease)

นอกจากนี้ ในเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าห้วยขาแข้งยังพบซากวัวแดงอีก 1 ตัว บริเวณใกล้จุดสกัดที่ 2 คลองขุนชาติ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา จึงได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ เพื่อส่งตรวจหาเชื้อที่ห้องปฏิบัติการ และทราบผลการชันสูตรว่าซากวัวแดงดังกล่าวป่วยเป็นโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) เช่นเดียวกัน

สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 จึงได้ประสานงานกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ดำเนินการติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวัง และป้องกัน การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ดังนี้ จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ และจัดเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเพื่อป้องกันการลักลอบนำปศุสัตว์มาเลี้ยงในพื้นที่ใกล้แนวเขต ให้นำกลับไปเลี้ยงใกล้พื้นที่ชุมชน

และจัดเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเพื่อตรวจสอบ สังเกตอาการของสัตว์ป่าในกลุ่มวัวป่าและควายป่า ในพื้นที่ ผลการลาดตระเวนไม่พบสัตว์ป่าในกลุ่มวัวป่าและควายป่าตายผิดปกติแต่อย่างใด และทำการฉีดพ่นน้ำส้มควันไม้ตามยานพาหนะ และจัดทำบ่อจุ่มเท้าฆ่าเชื้อโรคของบุคคลที่เข้ามายังสำนักงานเขตฯ โดยดำเนินการที่ด่านตรวจหน่วยพิทักษ์ป่าทุ่งแฝก

ทั้งนี้ ได้ติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า บริเวณด่านสัตว์ โป่ง ที่มีร่องรอยของวัวแดงผ่าน และติดตั้งกับดักแมลงพาหะเพื่อนำไปตรวจหาเชื้อลัมปี สกิน โดยคณะสัตวแพทย์จากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้คำแนะนำเจ้าหน้าที่ในการป้องกันและเฝ้าระวังโรคลัมปี สกิน ถ่ายทอดความรู้และเทคนิคที่ถูกต้องในการทำโป่งเทียม เพื่อเป็นแหล่งเสริมธาตุอาหาร และคลังยา เป็นการช่วยเพิ่มความต้านทานโรคให้แก่สัตว์ป่า

โดยประสานงานกับปศุสัตว์จังหวัดอุทัยธานี ปศุสัตว์อำเภอลานสัก ปศุสัตว์อำเภอห้วยคต ปศุสัตว์อำเภอบ้านไร่ เพื่อสอบถามสถานการณ์ระบาด แนวทางการเฝ้าระวังป้องกัน การทำวัคซีนและมาตราการดำเนินงานของปศุสัตว์ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงปศุสัตว์จังหวัดตาก จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

รวมทั้งแจ้งสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เพื่อแจ้งให้อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ อุทยานแห่งชาติพุเตย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งทางทิศใต้ และแจ้งสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 (ตาก) แจ้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ซึ่งมีพื้นที่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ทางทิศเหนือและทิศตะวันตก ดำเนินการเฝ้าระวังโรคลัมปี สกิน และหากพบการระบาดของโรคลัมปี สกิน ในพื้นที่หรือพื้นที่ใกล้เคียงขอให้แจ้งให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งทราบทันที

และหากพบสัตว์ป่าป่วย หรือซากสัตว์ป่า มีตุ่มขนาดใหญ่ประมาณ 2-5 เซนติเมตร ขึ้นที่ผิวหนังทั่วร่างกาย พบมากที่คอ หัว เต้านม ถุงอัณฑะ และช่วงขา รวมทั้งสัตว์ป่าที่มีอาการเดินกะเผลก ให้แจ้งสัตวแพทย์เข้าดำเนินการตรวจสอบ และเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันสาเหตุของการป่วยหรือตาย การทำลายซากโดยวิธีการฝังกลบและโรยปูนขาวตามหลักวิชาการ

 


Written By
More from pp
Robb Report Thailand จัดงานเลี้ยงรางวัลประจำปี Best of the Best Gala Dinner Awards
Robb Report Thailand ได้จัดงานเลี้ยงรางวัลประจำปี Best of the Best Gala Dinner Awards เมื่อค่ำคืนวันที่...
Read More
0 replies on “กรณีผลชันสูตรชิ้นเนื้อวัวแดงในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พบป่วยเป็น “โรคลัมปี สกิน” เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการตามมาตรการ และประสานทุกภาคส่วนติดตามสถานการณ์ และดำเนินการตามมาตรการอย่างเข้มงวด”