เข้าใจ “โรคหัวใจ” รู้ก่อน รักษาทัน ป้องกันได้

โรคหัวใจ เป็นโรคใกล้ตัวสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และปัจจุบันมีแนวโน้มการเกิดโรคหัวใจในคนที่อายุน้อยลงเรื่อย ๆ โรคหัวใจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ ของคนไทย ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 พบว่า การเสียชีวิตทั่วโลกมีสาเหตุสำคัญจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึงร้อยละ 32 หรือประมาณ 17.9 ล้านคน สำหรับประเทศไทยพบผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึงปีละ 7 หมื่นราย

นายแพทย์วิสุทธิ์ เกตุแก้ว อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ความรู้ว่า “โรคหัวใจ หรือ Heart Disease ความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ ลิ้นหัวใจ การนำไฟฟ้าของหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ ซึ่งส่งผลให้การทำงานของหัวใจผิดปกติ ซึ่งสามารถวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงได้จาก 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ ได้แก่ อายุที่เพิ่มขึ้น เพศ เชื้อชาติ พันธุกรรมและประวัติครอบครัว และ ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ อาทิ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย การรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ และอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง การออกกำลังกายไม่เพียงพอ การสูบบุหรี่ ตลอดจนการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป

ทั้งนี้โรคหัวใจสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายโรค ซึ่งแต่ละโรคมีสาเหตุและอาการแสดงที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

1. โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือ Coronary Artery Disease สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็นอีก 2 ประเภทคือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบแบบเฉียบพลัน (Acute Coronary Syndrome หรือ ACS) และ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบแบบเรื้อรัง (Chronic Coronary Syndrome หรือ CCS)

อาการ : ผู้ป่วยจะมีอาการแน่นหน้าอก บางรายมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมกับเจ็บร้าวไปกราม ลำคอ ปวดชาบริเวณแขนหรือขา รู้สึกไม่สบายเหมือนมีอะไรมากดทับบริเวณอก อ่อนเพลีย หายใจถี่ เหนื่อย คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ หมดสติได้ และอาจเสียชีวิตได้

2. โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmias) เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสไฟฟ้าในหัวใจหรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัมพฤกษ์อัมพาต หรืออาจมีอันตรายจนอาจเสียชีวิตได้ เช่น โรคไหลตาย (Brugada syndrome) หรือเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ความดันสูง ประวัติพันธุกรรม การใช้ยาบางชนิด โรคของต่อมไทรอยด์ รวมไปถึงโรคนอนกรนที่มี ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

อาการ : รู้สึกหัวใจเต้นช้ากว่าปกติหรือเต้นเร็วและแรง ใจสั่น รู้สึกไม่สบายตัวหรือแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย หายใจถี่ เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลมหมดสติ

3. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease) เป็นความบกพร่องที่มีการพัฒนาของโครงสร้างหัวใจแบบผิดปกติหรือไม่สมบูรณ์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ตลอดจนพฤติกรรมของคุณแม่ อาทิ การดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์

อาการ : มักแสดงอาการผิดปกติได้ตั้งแต่เป็นทารก เช่น หายใจถี่ เหนื่อยง่ายขณะให้กินนม น้ำหนักตัวน้อย หรือน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นช้า ในรายที่มีความผิดปกติรุนแรงอาจมีผิวหนังหรือริมฝีปากซีดหรือเขียว เหนื่อยง่ายระหว่างออกกำลังกายหรือทำกิจกรรม มีอาการบวมตามมือ ข้อเท้า

4. โรคของลิ้นหัวใจ (Valvular Heart Diseases) เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ ความผิดปกติของลิ้นหัวใจตั้งแต่เกิด ความเสื่อมตามอายุที่เพิ่มขึ้น หรือเกิดจากมีการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ โรคไข้รูมาติก โรคทางพันธุกรรม

อาการ : หากเป็นในระดับที่รุนแรงจะมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจถี่ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ขาบวม เท้าบวม มีอาการน้ำท่วมปอด นอนราบไม่ได้ เป็นลมหมดสติ ซึ่งหากรุนแรงมากอาจทำให้มีภาวะหัวใจล้มเหลวตามมาได้

5. โรคของกล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiomyopathies) เป็นโรคที่เกิดความผิดปกติที่ตัวกล้ามเนื้อหัวใจเองโดยตรง สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากโรคหรือการติดเชื้อบางอย่าง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การตั้งครรภ์ การให้ยาเคมีบำบัด การใช้สารเสพติด และสาเหตุทางพันธุกรรม

อาการ : ผู้ป่วยบางรายไม่มีอาการแสดงชัดเจน จนกว่าระยะของโรคเข้าสู่ระยะที่รุนแรงมากขึ้น ในรายที่อาการรุนแรงมักพบอาการ หายใจถี่ จะรู้สึกหายใจไม่อิ่มในเวลากลางคืน ต้องสะดุ้งตื่นหรือลุกขึ้นมาเพื่อนั่งหายใจในเวลากลางคืนเหนื่อยง่ายเวียนศีรษะ หน้ามืดเป็นลม บวมบริเวณขา ข้อเท้า

6. ภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวาย (Heart Failure) เป็นโรคที่การทำงานของหัวใจแย่ลงมาก ๆ จนทำให้ไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างเพียงพอ นำไปสู่การเสียชีวิตได้ มักมีสาเหตุจากโรคของระบบอื่น ๆ หรือโรคหัวใจอื่น ๆ ที่รุนแรงจนทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมา

อาการ : ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการแสดงที่ชัดเจน อาการที่พบได้ ได้แก่ เจ็บหน้าอก หายใจถี่ หายใจไม่ออกในเวลากลางคืน ต้องสะดุ้งตื่นหรือลุกขึ้นมาเพื่อนั่งหายใจในเวลากลางคืน เหนื่อยง่าย บวมตามขา ข้อเท้า หน้าท้อง น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นผิดปกติ ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ไอแห้ง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ไม่สบายท้อง

7. โรคของเยื่อหุ้มหัวใจ (Pericardial Diseases) เกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจหลังการเจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บ หรือโรคมะเร็งบางชนิด อย่างไรก็ตามในบางกรณีก็ไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคได้แน่ชัด

อาการ : มักมีอาการเจ็บหน้าอก และจะมีอาการรุนแรงขึ้นเมื่อหายใจเข้าลึก ๆ เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก อ่อนเพลีย บวมบริเวณร่างกายส่วนล่าง บางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย”

นายแพทย์วิสุทธิ์ กล่าวต่อไปว่า “อีกหนึงกรณีที่น่ากังวลของโรคหัวใจ คือ ภาวะเทรกซ้อน ซึ่งจะมีความแตกต่างกันออกไปตามชนิดของกลุ่มโรค โดยภาวะแทรกซ่อนที่สามารถพบบ่อย ได้แก่ ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือขาดเลือดเฉียบพลัน(acute myocardial infarction) โรคหลอดเลือดสมอง(stroke) โรคหลอดเลือดโป่งพอง(aneurysm) โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน(peripheral arterial disease) ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน(sudden cardiac arrest)

“ปัจจุบันแนวทางการรักษาโรคหัวใจสามารถทำได้หลายวิธีซึ่งจะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของโรคหัวใจแต่ละโรค ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้การรักษามากกว่า 1 วิธี ไม่ว่าจะเป็น การรักษาด้วยยา การรักษาด้วยการผ่าตัดหรือทำหัตถการ ตลอดจน การรักษาด้วยกายภาพและเวชศาสตร์ฟื้นฟู เป็นโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคหัวใจโดยการดูแลของแพทย์และนักกายภาพบำบัด เพื่อช่วยฟื้นฟูร่างกายให้หัวใจกลับมาทำงานได้ดีขึ้น ทั้งนี้ แพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจจะทำการพิจารณาและประเมินการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

สำหรับการป้องกันโรคหัวใจสามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต หลีกเลี่ยงความเครียด เลือกรับประทานอาหารที่มีเกลือและไขมันอิ่มตัวต่ำ ควบคุมความดันเลือด ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และระดับไขมันให้อยู่ในค่าปกติ งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละครั้ง ดังนั้นการดูแลตัวเอง การสังเกตอาการผิดปกติที่เข้าข่ายอาการของโรคหัวใจ การตรวจคัดกรองโรคหัวใจเป็นประจำสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันและช่วยให้ตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งส่งผลให้การรักษาง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายแพทย์วิสุทธิ์ ทิ้งท้าย

Written By
More from pp
2 พส.เข้าสภาฯ พบกมธ.ศาสนา เจอสื่อรุมล้อม พูดติดตลกนึกว่ามาเทศกาลเมืองคานส์
9 ก.ย.64 – เวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต และพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ พระนักเทศน์วัดสร้อยทอง เดินทางมารัฐสภาตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศาสนา...
Read More
0 replies on “เข้าใจ “โรคหัวใจ” รู้ก่อน รักษาทัน ป้องกันได้”