เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 ที่ โรงพยาบาลศูนย์ยะลา จ.ยะลา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วย คณะผู้บริหารจากทั้ง 2 กระทรวงฯ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์โควิด-19 ใน 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส หลังมีรายงานผู้ติดเชื้อสูงขึ้น เพื่อร่วมกันวางแนวทางแก้ไขปัญหา ควบคุมการแพร่ระบาด
นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับ จ.ยะลา ยังพบการระบาดต่อเนื่องใน 5 อำเภอ ได้แก่ เมืองยะลา บันนังสตา รามัน ยะหา และ กรงปินัง ทั้งนี้ ตนได้ขอให้เพิ่มระบบศูนย์พักคอยในชุมชน(Community Isolation) ควรจะมีอย่างน้อยตำบลละ 1 แห่ง และมีมาตรการแยกกักที่บ้าน(Home Isolation) เพื่อให้โรงพยาบาลมีเตียงดูแลผู้ป่วยมากขึ้น และให้ รพ.หาดใหญ่ เป็นแม่ข่ายสนับสนุนจังหวัดต่างๆ ทั้งการรับส่งต่อผู้ป่วย บุคลากร ยาและเวชภัณฑ์ในช่วงที่มีการแพร่ระบาด รวมถึงเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้น โดยกองทัพภาคที่ 4 ยินดีให้การสนับสนุน
นายอนุทิน กล่าวว่า ทาง สธ.ได้สนับสนุนยาฟาวิพิราเวียร์ ให้ จ.นราธิวาส, ปัตตานี, สงขลา ส่วนยะลาส่งให้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ต.ค.64 เพื่อไว้สำหรับคลี่คลายสถานการณ์ ขอเรียนย้ำว่า องค์การเภสัชกรรม มีสารตั้งต้นในการผลิตยา นอกจากนั้น สธ.ได้ส่งชุดตรวจ ATK ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ จำนวนกว่า 1 แสนชุด เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับคนทำงาน เร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ได้โดยเร็ว
นายอนุทิน กล่าวว่า มาตรการวัคซีนโควิด-19 จะต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชน สร้างความรับรู้ ความเข้าใจเพื่อให้ทุกคนเข้ามารับวัคซีนตามเป้าหมาย เราจะเร่งรัดฉีดเชิงรุกทั้งในและนอกสถานพยาบาล และ หวังว่าภายในสิ้นเดือนต.ค. นี้ 4 จังหวัด จะต้องฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 70% ประชากร
“ที่มาเห็นในวันนี้ต้องขอแสดงความชื่นชมในความทุ่มเท เสียสละของทีมยะลาและปัตตานี รวมถึงและ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสียสละทุ่มเทไม่ย่อท้อ ประคับประคองสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ผมขอให้กำลังใจเจ้าที่ทุกท่านที่ได้ร่วมกันเสียสละในการต่อสู้โควิดเพื่อคนไทย” นายอนุทิน กล่าว
นอกจากนั้น ตนกำลังเร่งส่งวัคซีน ให้เจ้าหน้าที่กองทัพ ซึ่งเป็นด่านหน้า รวมไปถึง อสม. เพื่อเป็นวัคซีนบูสเตอร์ ซึ่งเป็นหมอคนแรกในโครงการ 3 หมอ ที่มีส่วนสำคัญในการช่วยดูแลคนในชุมชน ก็จะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมั่นใจ
หลังจากนั้น นายอนุทิน และคณะได้ เดินทางไปเยี่ยมจุดฉีดวัคซีนโควิด ที่ อาคารศรีนิบง ที่ดำเนินการฉีดวัคซีนเพื่อประชาชนในพื้นที่ จ.ยะลา ศักยภาพในการฉีดเฉลี่ยวันละ 2-3 พันคน และเคยฉีดได้สูงสุดถึง 4 พันคน
โดยขณะนี้ จะเป็นการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ สำหรับประชาชนทั่วไปและนักเรียน อายุ 12-18 ปี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพรวมเขตสุขภาพที่ 12 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ย 7 วันย้อนหลังอยู่ที่ 2,400 กว่าราย ผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ 1 เม.ย. – 12 ต.ค.64 จำนวน 138,261 ราย เสียชีวิต 1,133 ราย อัตราเสียชีวิต 0.8%
สาเหตุการติดเชื้อเป็นการระบาดในครอบครัวและชุมชน มีระบาดเป็นกลุ่มเล็กๆ ในโรงงาน ตลาด และในกิจกรรมการรวมกลุ่ม ไม่มีคลัสเตอร์ใหญ่ มีบางส่วนมาจากการลักลอบเข้าประเทศผ่านพรมแดนธรรมชาติ
สถานการณ์เตียงทั้งหมด 28,451 เตียง เป็นเตียงผู้ป่วยกลุ่มสีแดง 401 เตียง กลุ่มสีเหลือง 3,167 เตียง และกลุ่มสีเขียวรวมโรงพยาบาลสนาม 24,883 เตียง ขณะนี้ใช้ไปแล้ว 79.9% มีผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย เข้าระบบดูแลรักษาตัวเองที่บ้านประมาณ 2,400 ราย การฉีดวัคซีนโควิด-19
ล่าสุดของ จ.ยะลา ฉีดสะสม 271,370 คน คิดเป็น 60.07% นอกจากนั้น ทางจังหวัด ได้เปิดสายด่วนโควิด 1567 ตอบคำถามและอำนวยความสะดวกประชาชนทุกวัน