ตุลาอย่าลืม ‘ตากใบ’-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

เป็นไปตามคาด…
นักการเมืองโหน ๖ ตุลากันยกใหญ่
อีกทีก็ ๑๔ ตุลา

    ก็ไม่ได้ผิดอะไร
การรำลึกถึงวีรชนเดือนตุลาเป็นเรื่องที่พึงกระทำ และต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะเขาเหล่านั้นต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
แต่นักการเมือง เป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษ
มักทำในสิ่งที่ได้ประโยชน์ ส่วนที่สร้างประโยชน์ให้ตัวเองไม่ได้แม้เรื่องนั้นจะสร้างประโยชน์ต่อสาธารณะก็ตาม นักการเมืองบางพวกไม่ค่อยจะเต็มใจทำ

    การรำลึกเหตุการณ์เดือนตุลาคม ของนักการเมือง อาจมีจุดประสงค์คนละอย่างกับนักศึกษา ประชาชน เพราะเป้าหมายแตกต่างกันนั่นเอง

    ๖ ตุลาคมปีนี้นักการเมืองรำลึกผ่านโซเชียลมากเป็นพิเศษ

    ก็อย่างที่รู้ครับ พรรคการเมืองเปิดตัวใหม่กันเยอะ หรือแม้กระทั่งข่าวยุบสภา บวกกับน้ำท่วม นักการเมืองพากันลงพื้นที่ สร้างฐานคะแนนกันคึกคัก

    เก็งข้อสอบกันว่า อาจมีการเลือกตั้งเร็วๆ นี้
ยกตัวอย่าง “สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ไม่ได้รำลึกอย่างเดียว แต่โจมตีรัฐบาลปัจจุบันด้วย
“… ร่วมกันป้องปราม ไม่ให้ประวัติศาสตร์อำมหิตต้องซ้ำรอย

    ดิฉัน และพรรคไทยสร้างไทย ขอร่วมรำลึกถึงดวงวิญญาณของผู้สูญเสียในเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙

ประวัติศาสตร์ ๖ ตุลา ๑๕๑๙ ถือเป็นประวัติศาสตร์อำมหิต ประวัติศาสตร์บาดแผลของสังคมไทย การชำระประวัติศาสตร์อย่างต่อเนื่อง

    เช่นที่มีการจัดทำเว็บไซต์ สารคดี การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์  ๖ ตุลา ไปจนถึงการจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงผู้สูญเสีย ทำให้สังคมไทยต้องตระหนักร่วมกันว่า การที่ผู้มีอำนาจรัฐ ใช้อำนาจสั่งการ สังหารประชาชน เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ และการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ใช่หนทางในการหยุดยั้งความเห็นต่างทางการเมืองได้เลย

   ทว่าน่าเศร้า ที่การรำลึกถึงการสูญเสียที่เกิดขึ้นเมื่อ ๔๕  ปีก่อน กลายเป็นเรื่องที่รัฐหวาดกลัว ต้องการไล่ล้างประวัติศาสตร์ให้หมดสิ้นไป

    สวนประติมากรรมกำแพงประวัติศาสตร์ ประติมานุสรณ์  ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ที่ตั้งอยู่ในรั้วธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานรำลึกอยู่ทุกปี ในปีนี้ถูกปิดล้อมด้วยตาข่าย พร้อมติดป้ายประกาศ เป็นเขตก่อสร้างอันตรายห้ามเข้า ครอบครัว และเพื่อนมิตรของผู้สูญเสียจะรู้สึกอย่างไร เป็นเรื่องอันไม่อาจประเมินค่าทางใจได้

    พรรคไทยสร้างไทย ตั้งต้นด้วยการอาศัยหลักนิติรัฐ  นิติธรรม สิทธิมนุษยชนและการเปิดพื้นที่ต่อความเห็นต่าง เป็นหลักยึด นี่ไม่ใช่แค่เป้าหมาย แต่เป็นวิธีการของพรรคด้วย  ๖ ตุลาคมปีนี้

    เราจึงชวนคนไทย ร่วมกันป้องปราม ไม่ให้ประวัติศาสตร์อำมหิตต้องซ้ำรอย
ร่วมกันเรียกร้อง และยืนยันกับผู้มีอำนาจว่า รัฐต้องปฏิเสธที่จะใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบเพื่อปิดปากประชาชนผู้เห็นต่าง และรัฐต้องเรียนรู้ที่จะรับฟังทุกความเห็นต่างให้เป็นเรื่องปกติ เรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย…”

    ใช่ครับ..
ถือเป็นประวัติศาสตร์อำมหิต และหลังจากเหตุการณ์เดือนตุลาแล้ว ไม่ควรมีการเข่นฆ่าประชาชนด้วยเครื่องไม้เครื่องมือของรัฐอีกเลย

    แต่น่าเสียใจอย่างยิ่ง ยุครัฐบาลทักษิณ ที่ สุดารัตน์ ร่วมคณะรัฐมนตรีนั้น เกิดเหตุซ้ำรอยที่ตากใบ

    เหตุการณ์ความรุนแรงที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส  วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ เหตุการณ์เริ่มต้นจากการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านจำนวน ๖ คนที่ถูกจับกุมตัว

    มีชาวบ้านในพื้นที่มุงดูนับพันคนจนทหารต้องทำการปิดล้อมพื้นที่และสลายการชุมนุม

    มีผู้เสียชีวิตในพื้นที่ชุมนุม ๖ คน จากนั้นจึงมีการจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวน ๑,๓๗๐ คน ก่อนจะถูกเคลื่อนย้ายไปยังค่ายทหารแห่งหนึ่ง
ในจำนวนคนที่ถูกจับกุมมีคนอย่างน้อยอีก ๗๙ คนเสียชีวิต

    การชันสูตรพบว่าเกิดจากการหายใจไม่ออก หมดสติกะทันหันจากความร้อน และการชัก

    เกิดจากสภาพที่แออัดเกินไประหว่างการเดินทางและอยู่ในรถบรรทุกกว่า ๖ ชั่วโมง และจากการถูกปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสม
รวมแล้วเสียชีวิต ๘๕ คน

    เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจให้ชาวไทยทุกศาสนา มีการประท้วงอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ
คลิปวิดีโอในรูปแบบแผ่นซีดี ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มมุสลิม ได้แสดงให้เห็นถึงภาพเหตุการณ์เช่นเดียวกับเสียง

    ซีดีเหล่านี้ได้ถูกส่งเวียนไปตามกลุ่มมุสลิมในประเทศไทย
แต่รัฐบาลทักษิณ อ้างว่าเป็นการผิดกฎหมายในการครอบครอง
และขู่ว่ารัฐบาลสามารถฟ้องร้องผู้ที่มีไว้ในครอบครองได้

    รัฐบาลอ้างว่าซีดีดังกล่าวมีเนื้อหาโฆษณาชวนเชื่อและมุ่งโจมตีรัฐบาลทักษิณ

    “ทักษิณ” พยายามแก้ตัวว่า “คนที่เสียชีวิต อ่อนแอจากการอดอาหารระหว่างเดือนรอมฎอน” ยิ่งสร้างความโกรธแค้นให้พี่น้องมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้

    รัฐบาลทักษิณถูกรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙
มาถึงวันที่ ๒ พฤศจิกายน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ถูกโจมตีว่าเป็นนายกรัฐมนตรีเผด็จการทหาร เดินทางไปจังหวัดปัตตานี สร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองใหม่ ที่รัฐบาลทักษิณ ไม่เคยคิดจะทำขณะอยู่ในอำนาจ
นั่นคือกล่าวคำ “ขอโทษ”

    “…คดีตากใบอยู่ระหว่างการดำเนินการทั้งทางแพ่งและอาญาสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งคงจะต้องมีการสอบสวนต่อไป

    ผมมองทั้งสองด้าน ผมไม่ได้มองด้านเดียวแต่มองโดยรวม
ส่วนที่จะให้ผมขอโทษ ผมขอโทษแทนรัฐบาลที่แล้วและขอโทษแทนรัฐบาลนี้ เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นในอดีตเป็นความผิดส่วนใหญ่ของรัฐ ซึ่งต้องช่วยกันแก้ไขต่อไป

    วันนี้ผมมาในฐานะที่จะยื่นมือออกไป และบอกว่าผมเป็นคนผิด ผมมาขอโทษ ในฐานะที่เป็น ผู้บัญชาการทหารบกในสมัยรัฐบาลที่ผ่านมา

    ผมได้พยายามคัดค้านแต่ไม่เป็นผล ซึ่งถือว่าเป็นความผิดของผมส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถจัดการได้
ผมได้พยายามคัดค้านให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลที่แล้ว แต่ไม่เป็นผล มีหลายคนช่วยกันคัดค้านไม่ใช่ผมคนเดียว

    ท่านคงจะทราบว่าผมเป็นคนหนึ่งที่ถูกมองว่าไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลที่ผ่านมา…”

    “ทักษิณ” ก็ขอโทษเช่นกัน แต่ล่วงมาถึงปี ๒๕๕๔ ขณะเป็นสัมภเวสี ร่อนเร่อยู่ต่างประเทศ
ก็ขอโทษแบบเสียมิได้ เพราะ “ทักษิณ” ไม่ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของตัวเอง
ผิดแค่ดูแลลูกน้องไม่ดี

    “ลูกน้องด้วย ผมดูแลไม่ทั่วถึง”

    “…การอยู่มานานก็เริ่มใช้อำนาจมากไป ความจริงตามหลักของรัฐศาสตร์ต้องใช้ทั้ง ๒ อย่าง อย่างมือ ๒ ข้าง มือหนึ่ง เขาเรียกกำปั้นเหล็ก ใช้กฎหมาย แต่มืออีกข้าง ต้องเป็นถุงมือกำมะหยี่ คอยดูคอยให้ความอบอุ่น ผมอยู่ในอำนาจนานเข้าเรื่องมันเยอะ ผมจึงบังคับใช้แต่กฎหมาย ไม่ดีเลย ถ้าผมอยู่ต่อไป ต้องใช้ถุงมือกำมะหยี่ มืออบอุ่นให้มาก กฎหมายให้ใช้เท่าที่จำเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อย”

    กระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา “ทักษิณ” ในบทบาทของ Tony Woodsome ปฏิเสธที่จะตอบผู้สนทนา ร่วมห้องสนทนา “ไทยรักไทย ใครเกิดทัน มากองกันตรงเน้” ในคลับเฮาส์ ถึงเหตุการณ์กรือเซะและตากใบ

    โทนี่บอกเพียงว่า “เสียใจที่เกิดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และก็จำไม่ค่อยได้เพราะนานมาแล้ว”

    เหตุการณ์กรือเซะและตากใบผ่านไปเพียง ๑๗ ปี จำไม่ได้เสียแล้ว
๖ ตุลา ๒๕๑๙ ผ่านมาแล้ว ๔๕ ปี กลับจำกันแม่น ร่ายเป็นฉากๆ

    ประวัติศาสตร์อำมหิต
แต่นักการเมืองพวกนี้ก็อำมหิตไม่แพ้กัน.



Written By
More from pp
“ไก่ย่างเสือใหญ่” ถนนแจ้งวัฒนะ – สันติ อิ่มใจจิตต์
สันติ อิ่มใจจิตต์ ชื่อร้าน ไก่ย่างเสือใหญ่ สาขาแจ้งวัฒนะ เจ้าของ คุณวุฒิไกร (ก๊า) เศรษฐี สถานที่ ถนนแจ้งวัฒนะ จากวัดพระศรีมหาธาตุ...
Read More
0 replies on “ตุลาอย่าลืม ‘ตากใบ’-ผักกาดหอม”