พรรคเพื่อไทยจัดเสวนาโลกเปลี่ยน การศึกษาไทยต้องปรับ? ร่วมเสวนาโดย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายนพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมการนโยบายและวิชาการพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นางสาวณหทัย ทิวไผ่งาม อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกฯ และนางสาวอรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ดำเนินรายการ
นายนพดล กล่าวว่าหลายปีมานี้ ปัญหาการศึกษารุนแรง ไม่ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำ เด็กยากจนหลุดจากระบบการศึกษานับแสน โรงเรียนขนาดเล็กนับหมื่น ปัญหาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ ดูจากตัวชี้วัด เช่นคะแนน PISA ที่ทดสอบด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และการอ่านคะแนนล่าสุดต่ำที่สุดในรอบ 15 ปี ทักษะภาษาอังกฤษคนไทยลดลงน่าใจหาย ปี 2563 ลดลง 15 ลำดับเป็นที่ 89 จาก 100 ประเทศ
ระบบการศึกษายังไม่พัฒนาคนให้มีทักษะที่ต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่ตอบโจทย์การสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผลิตแรงงานทักษะฝีมือไม่พอและตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ขาดแคลนนักวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตนจึงเห็นว่า การพลิกโฉมการศึกษาอาจไม่พอ แต่ต้องทำให้การศึกษาพุ่งทะยานไปข้างหน้า
นายนพดล เห็นว่าการพัฒนาการศึกษาต้องบรรลุเป้าหมาย 3 ด้านคือ
1)ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาคุณภาพระดับโลก ตามความถนัด ทุกที่ ทุกเวลา
2) สร้างสมรรถนะและทักษะที่จำเป็น
3)ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดังนั้นจึงขอเสนอแนวนโยบายดาบ 5 เล่มเพื่อให้การศึกษาพุ่งทะยานไปข้างหน้า คือ
1) SMART SECURITY การศึกษาเป็นความมั่นคงอันชาญฉลาดของคนไทย ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาคุณภาพ ทุกที่ ทุกเวลาตลอดชีวิต ต้องไม่มีเด็กหลุดจากโรงเรียน เพิ่มงบฯให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลให้คนไทยเข้าถึงความรู้หรือทักษะได้ทุกที่ทุกเวลาเมื่อต้องการ
2) SMART START การเริ่มต้นชีวิตอย่างชาญฉลาด โดยเน้นการลงทุนในเด็กปฐมวัย 1-6 ขวบ พัฒนาให้ศูนย์เด็กเล็กมีมาตรฐานชาติเป็น Smart day care 20,000 แห่งทั่วประเทศ เพิ่มเงินเลี้ยงดูบุตร 1-6 ขวบ เป็นเดือนละ 1,000 บาท
3) SMART SCHOOL โรงเรียนที่ชาญฉลาด ยึดโรงเรียนเป็นตัวตั้งในการพัฒนา เพิ่มอิสระ กระจายอำนาจให้โรงเรียน หนึ่งอำเภอต้องมีหนึ่งโรงเรียนต้นแบบ Smart School ปรับหลักสูตร แนวการสอนและสื่อการสอน การทดสอบ และประเมินใหม่ เร่งพัฒนาครูศตวรรษที่ 21
4) SMART STUDENT ผู้เรียนที่ชาญฉลาด มีสมรรถนะและทักษะของศตวรรษที่ 21 เช่น ทักษะคิดวิเคราะห์ คิดวิพากษ์ คิดสร้างสรรค์ รวมทั้งทักษะอื่นๆในการรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เรียน 4 ภาษา ไทย จีน อังกฤษ ภาษาคอมพิวเตอร์ ที่สำคัญต้องสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ยกระดับการเรียนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ เสริมด้วยทักษะดิจิทัล ให้เด็กยุคใหม่เป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์และสร้างนวัตกรรมที่หุ่นยนต์แทนที่ไม่ได้ และเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ในโลก
5)SMART STRATEGY ยุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาดพัฒนาทุนมนุษย์เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพิ่มสัดส่วนการเรียนด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีให้มากขึ้น เพิ่มสายอาชีพ ผลิตช่างฝีมือรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพิ่มงบประมาณการวิจัยและพัฒนา ใช้เม็ดเงินให้ฉลาดขึ้น จัดงบฯพุ่งเป้าไปที่โรงเรียน
“ปัญหาการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ เชื่อมโยงกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปัญหาเศรษฐกิจอย่างแยกไม่ออก ทุกฝ่ายต้องร่วมทำ รัฐบาลต้องนำและเข้มแข็งมีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษา แต่ตนเห็นว่าสิ่งนี้ยังไม่บรรลุผล พรรคเพื่อไทยตระหนักในปัญหา มีแนวทางพร้อมแก้ไข ถ้ามีโอกาส”
ดร.ณหทัย กล่าวว่า ปัญหาด้านโครงสร้างทางกฎหมายปัจจุบัน ไม่ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาอย่างแท้จริง เพราะการเรียนรู้และการศึกษา หากยิ่งตั้งกรอบมากขึ้นเท่าไหร่ จะยิ่งกดสมองไม่ให้พัฒนาไปมากขึ้นไปเท่านั้น ดังนั้นความยืดหยุ่น เปิดให้เด็กฝันมากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้สมองพัฒนามากขึ้นไปมากขึ้นเช่นกัน
นอกจากนี้ ในฐานะผู้ประกอบการโรงเรียนเอกชน เห็นว่าการเปิดกรอบให้สถานศึกษาและครู ทำสิ่งแหวกแนวไปจากกรอบกฎหมายที่ครอบและกำหนดไว้ได้ จะนำสู่การปฏิวัติการเรียนรู้ของเด็กไทยอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างประเทศแคนนาดา ปี 2012 US News รายงานจัดอันดับให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุด ประชากรจบมัธยมปลาย 90% ปริญญาโท 20% เพราะรัฐจัดการจัดการศึกษาฟรีให้กับประชาชนอย่างแท้จริง และทั้ง 10 รัฐต่างจัดการศึกษาต่างกัน
ส่วนนโยบาย One tablet per child คือความก้าวหน้า แต่เราต้องไม่หยุดพัฒนาประเทศไปให้ไกลกว่าทุกคน ดังนั้นจึงเสนอการทำระบบ Cloud data bank ขึ้นเพิ่มเติมด้วย เพื่อเป็นแพลตฟอร์มให้หน่วยงานรัฐหรือเอกชน สามารถเรียกดูประวัติผู้เรียน และเรียกระดมคนที่มีความเชี่ยวชาญตามสาขาที่ขาดแคลนนั้นเข้ามาระดมมาทำงานได้เลย นอกจากนี้ประเด็น Live long learning อาจสำเร็จด้วยการนำระบบ Academic credit bank ผูกการศึกษากับระบบภาษี เข้ามาช่วย เช่น
เรียนเยอะ อาจหักลดหย่อนได้มากขึ้น ให้คนเรียนสิ่งที่ผูกดับอาชีพจะได้ต่อยอดพัฒนาทักษะ เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็งต่อไป ทั้งนี้การจัดการศึกษาต้องมองทั้งลูป แยกส่วนไม่ได้ และรัฐไม่จำเป็นต้องทำทั้งหมด การกระจายอำนาจให้เอกชนช่วย โดยจูงใจด้วยนโยบายภาษีที่ดีเพียงพอ หากใครทำได้รวดเร็วกว่า ก็จะมีโอกาสทางเศรษฐกิจได้มากกว่า
นายพงษ์เทพ กล่าวว่า ปัญหาคุณภาพการศึกษาในไทยคือระบบการเรียนการสอนที่ไม่สอนให้เด็กคิดวิเคราะห์ และสร้างสรรค์ด้วยตนเอง โลกเปลี่ยนมานานแล้ว แต่ระบบการเรียนการสอนยังไม่เปลี่ยน ยกตัวอย่าง รัฐธรรมนูญปี 2560 ผ่านมาแล้ว 4 ปี กฎหมายปฏิรูปการศึกษาพึ่งเข้าสภา นับว่าช้าเกินไป ดังนั้นระบบการศึกษา หากจะปฏิรูปต้องเริ่มจาก
1.ปฏิรูปหลักสูตร ให้เรียนตามความจำเป็น
2. ทัศนคติครู ปรับให้รอบรับวิธีการสอนแบบใหม่ๆ
3.ระบบการทดสอบนักเรียน ก็ต้องปรับให้สอดคล้องกับการเรียนแบบใหม่ เน้นการคิดวิเคราะห์ให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
นายพงษ์เทพ กล่าวอีกว่า โลกปัจจุบันและโลกอนาคต ทรัพยากรมนุษย์คุณภาพคือความสำคัญที่สุด การทุ่มเททรัพยากร และงบประมาณเพื่อพัฒนาคนจะทำให้การศึกษาไทยสำเร็จเป็นรูปธรรม การศึกษาไทยเสียเวลากับการเมืองต่อไปไม่ได้อีกแล้ว เราต้องรีบสร้างทักษะคนให้พร้อม การพัฒนาคนต้องเน้นเสรีภาพการแสดงออก ยอมให้เด็กเห็นต่าง คิดเหตุผลต่าง เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของพี่น้องเยาวชน ในการคิดถึงอนาคตของตัวเอง ให้เราสามารถอยู่กับโลกใหม่ได้อย่างแท้จริง