ผักกาดหอม
วันนี้ข้ามทวีปไปคุยเรื่องอเมริกากันหน่อย
โลกเปลี่ยนไปแล้ว
ในวันที่ อเมริกาเที่ยวไล่แจก เทียร์ ๒ เทียร์ ๓ ให้ประเทศกำลังพัฒนา ยันด้อยพัฒนา พ่วงข้อหา ค้ามนุษย์ ละเมิดสิทธิมนุษยชน
อียู ก็กระดิกหางตาม ใช้เป็นเหตุผล “กรรโชกทรัพย์” ทางเศรษฐกิจ
และวันนั้นประเทศไทยก็โดนไปเต็มๆ
มุมหนึ่งเรามีปัญหาจริง เกิดจากระดับเจ้าหน้าที่เป็นหลัก และเราแก้ไขกฎหมายสารพัด เพื่อปลดล็อกตัวเอง
แต่ไม่วายถูกจับจ้องเป็นระยะๆ
และจับจ้องกันเป็นขบวนการ ตั้งแต่เอ็นจีโอ ยันรัฐบาลสหรัฐฯ-อียู
ปัญหาหลักของเราคือ การอพยพของ “โรฮีนจา”
ไทยถูกตราหน้าว่าเป็นเส้นทางค้าทาส
มาวันนี้ ชาวเฮตินับหมื่นคน ไหลทะลักจ่อที่ชายแดนอเมริกา-เม็กซิโก
แทบไม่ต่างจาก “โรฮีนจา” มากนัก อพยพเพราะการเมือง ความแร้นแค้น ภัยธรรมชาติ
ที่ช็อกโลกคือ อเมริกา ปฏิบัติต่อชาวเฮติ เหล่านี้ยิ่งกว่าทาส
วันก่อนเฟซบุ๊ก Kiccha Buranond ของ กิจจา บุรานนท์ อดีตคอลัมนิสต์ นิตยสาร “ดิฉัน-พลอยแกมเพชร” ที่ย้ายไปใช้ชีวิตที่อเมริกานานโขแล้ว เขียนถึง ศีลธรรมของ อเมริกา
…โลกที่สามที่อเมริกา
อเมริกากำลังโดนหนักมากกับคนอพยพลี้ภัยกันมาจากเฮติ แล้วมาออกันอยู่ที่ที่ใต้สะพานเหนือแม่น้ำ Rio Grande ที่เทกซัส เข้าเมืองก็ไม่ได้ กลับบ้านก็ไม่ได้ และหากคุณนึกว่าบ้านเราร้อนเรียบร้อยแล้ว แต่ความร้อนที่เทกซัส ผมว่าหนักเสียยิ่งกว่าบ้านเรา คนพวกนี้จึงต้องหลบกันอยู่ใต้สะพาน ไม่ทราบว่ามีข้าวปลามาให้กินจากไหน แต่นี่คือสภาพของคนพวกนี้ในจำนวนหมื่นที่อเมริกาในขณะนี้ …ที่ต้องตัดต้นไม้มาประกอบเป็นเต็นท์ เพื่ออยู่อาศัย
แต่สังเกตไหมครับว่า นามของอะไรต่อมิอะไรของอเมริกาแถวแถบใต้และแคลิฟอร์เนีย เป็นชื่อในภาษาสแปนิชทั้งนั้น เช่นนามของแม่น้ำรีโอกรังเด
และรัฐเช่น California, Utah, Nevada, Arizona, New Mexico, Texas, เมืองเช่น (นี่ผมย่อลงเพราะมันเยอะมาก และเพียงแค่ตัว A เท่านั้น) เช่นเมือง Aledo ที่รัฐ Illinois, Alhambra ที่ California, Aliso Viejo ที่ California, Altamonte Springs ที่ Florida, Altavista ที่ Virginia, Alvarado ที่ Texas, Alvarado ที่ Virginia, Amador City ที่ California, Amarillo ที่ Texas, Andalusia ที่ Alabama, Anna Maria ที่ Florida, Arroyo Grande ที่ California, Atascadero ที่ California, Aventura ที่ Florida
นี่แค่ตัว A นะครับ มิหนำซ้ำผมตัดสารบัญออกไปตั้งเยอะ นี่ยังไม่นับลอสแองเจลิส ซานฟรานซิสโก ซานคราเมนโต ซานตาเฟ ซานตาครุซ แซนดีแอโก ฯลฯ ที่อยู่ในภาษาสแปนิช
เพราะอเมริกาซึ่งส่วนมากแล้วคือชาวยูโรเปียน บุกเข้ามายึด …หรือแลกเปลี่ยนซื้อขายที่ทางของพวกเขา เช่นลุยเซียนาที่ซื้อมาจากฝรั่งเศส ซึ่งบุกเข้ามายึด หรือได้มาจากสงครามอะไรต่อมิอะไรในประวัติศาสตร์ …จากฟลอริดาไกลไปถึงแคลิฟอร์เนีย
ประวัติของเรื่องนี้มีเต็มไปหมด ใครผิดใครถูกที่ตรงไหนผมไม่ทราบได้ แต่อเมริกาข้ามน้ำข้ามทะเล แล้วบุกเข้าไปในถิ่นของพวกเขา ไม่นับชาวพื้นเมืองที่เรียกกันว่าอินเดียนแดง สร้างความใหญ่โตมโหฬารให้แก่ตนเอง โดยไม่ช่วยเหลือเพื่อนบ้าน “อดีตเจ้าของถิ่น” เอาเสียเลย ปล่อยให้ทั้งหมดพังสลาย ทุกประเทศรอบอเมริกาที่นอกเหนือจากแคนาดา เสียหาย ไม่เป็นเรื่องเป็นราว …เช่นเฮติในขณะนี้
ทำอะไรสักอย่าง อเมริกาทั้งที ตั้งเต็นท์ให้พวกเขาอยู่อาศัย อาหารหรือก็มีให้อย่างเหลือเฟือ หากจะแจกจ่าย
อย่างน้อยแสดงให้โลกเห็นว่าอเมริกามีศีลธรรม ไม่ใช่ Third World Country แบบนี้
ดั่งที่ตัวเองเที่ยวตระเวนเรียกประเทศอื่นๆ มาแล้ว บางครั้งอย่างพล่อยๆ….
กรณีผู้อพยพชาวเฮติ เริ่มมีการพูดถึงศีลธรรมของอเมริกามากขึ้น
เพราะประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศชัดเจนว่า อเมริกาจะเริ่มดำเนินการส่งตัวผู้อพยพชาวเฮติหลายพันคนกลับประเทศโดยเร็ว
ท่าทีนี้ต่างจากที่อเมริกาใช้เล่นงานไทย
เราถูกกดันให้รับชาว “โรฮีนจา” ไว้
ห้ามกดดันกลับเมียนมา
เพราะอเมริกาทนเห็น “โบตพีเพิล” ในโลกใบนี้ไม่ได้
อเมริกาจึงถูกตั้งคำถามเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เมื่อเรื่องราวคล้ายกันนี้เกิดขึ้นในพรมแดนประเทศตนเอง
หลักฐานคาตาจากสำนักข่าวเอเอฟพี ภาพที่เจ้าหน้าที่ตระเวนชายแดนขี่ม้าไล่กวดผู้อพยพ พร้อมตวัดสายบังเหียนยาวราวกับแส้ตีชาวเฮติ ขณะนำอาหารกลับไปให้ครอบครัวได้อิ่มท้อง
ไม่มีการตั้งค่ายอพยพให้ ฉะนั้นชาวเฮติเหล่านี้ไม่มีที่อยู่ชั่วคราว ไม่มีอาหาร ไม่มีน้ำดื่ม
ไม่มีในทุกสิ่ง!
อเมริกามิได้แสดงน้ำจิตน้ำใจอะไรเลย นอกจากส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจตรา และกดดัน ห้ามชาวเฮติ เข้าไปในเขตแดนของอเมริกา
นี่คือประเทศที่ชี้นิ้วสั่งประเทศอื่น ใช้อำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง ที่มหาศาลกว่า บังคับให้ประเทศเล็กๆ ต้องทำตาม
เฮติ เป็นประเทศยากจนในทะเลแคริบเบียนที่เพิ่งเผชิญวิกฤตใหญ่ ๓ เหตุการณ์ในช่วงปีที่ผ่านมา
คือเหตุลอบสังหารประธานาธิบดีโฌฟเนล โมอิส เมื่อเดือนกรกฎาคม
เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในรอบกว่า ๑๐ ปีเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
และแน่นอนวิกฤตการระบาดไวรัสโควิด-๑๙
เมื่อพลิกดูประวัติศาสตร์แล้ว อเมริกา ควรจะรับผิดชอบต่อ เฮติ มากกว่านี้หลายเท่าตัว เพราะอเมริกาเข้าไปจุ้นจ้านการเมืองเฮติ มาต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปีแล้ว
ยกตัวอย่าง เมื่อปี ๒๕๓๓ มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี อเมริกาสนับสนุนเต็มที่ แต่เป้าหมายไม่ใช่เรื่องประชาธิปไตย
แต่เป็นการป้องกันมิให้เหตุโกลาหลขยายวงไปสู่การทำลายเศรษฐกิจ ซึ่งจะกระทบกับบริษัทข้ามชาติที่มาจากอเมริกาเป็นหลัก
การเลือกตั้งดังกล่าวมีอดีตนักบวช “ฌอง แปร์ตอง อรีสตีด (Jean-Bertrand Aristide)” เป็นหนึ่งในผู้สมัครเป็นประธานาธิบดี เขาแสดงบทบาทเป็นผู้โจมตีรัฐบาลทหารและบทบาทการค้ายันระบอบทหารของสหรัฐ ฯ อย่างสม่่ำเสมอ จนประธานาธิบดีเรแกนเคยประทับตรานายอรีสตีดว่าเป็นคอมมิวนิสต์
นอกจากนี้ นายอรีสตีดยังถือว่าเป็นขวัญใจคนยากจนจำนวนมากในเฮติ
โดยเฉพาะชาวสลัม
ผลการเลือกตั้งปรากฏว่านายอรีสตีดชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงกว่าร้อยละ ๖๗.๕ แต่ทว่าในมุมมองของประเทศสหรัฐอเมริกา กลับมองนายอรีสตีดว่า เป็นคนหัวแข็งและไม่คล้อยตามการแทรกแซงของสหรัฐฯ
หลังจากเขาได้รับการเลือกตั้งเพียงหนึ่งเดือนเศษ กองทัพภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐฯ ได้พยายามก่อ
รัฐประหารแต่ไม่สำเร็จ
แต่ให้หลังหกเดือน กองกำลังกึ่งทหารที่ใช้ชื่อว่า “แนวร่วมเพื่อความก้าวหน้าและการพัฒนาแห่งเฮติ” (FRAPH) ก็ก่อรัฐประหารสำเร็จ
และผู้อยู่เบื้องหลังคือ อเมริกา
มองในมุมที่ว่า ไทย ไม่ได้มีส่วนไปทำลาย ชาวโรฮีนจา เลย แต่อเมริกาใช้ชาวโรฮีนจา เป็นเงื่อนไขต่อรองทางเศรษฐกิจกับไทย
ขณะที่อเมริกาเป็นทั้งผู้ทำลายโดยตรง และไร้ความรับผิดชอบต่อการอพยพของชาวเฮติอย่างสิ้นเชิง
แล้วใครจะให้เทียร์ ๒ เทียร์ ๓ กับอเมริกา จากพฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชน โหดร้าย และไร้มนุษยธรรม อย่างโจ่งแจ้ง
อีกทั้งละเมิดกฎหมายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน.