จากกรณีที่มีการแชร์ในโลกโซเซียลในขณะนี้ เกี่ยวกับ คำพิพากษาฎีกาฉบับย่อที่ 1639/2565 ผู้ให้อาหารสุนัขจรจัดเป็นประจำ แล้วสุนัขไปกัดคนอื่น มีความผิดตามประมวลกฎกฎหมายอาญา และ ผู้ให้อาหารสุนัขจรจัดเป็นประจำนั้น ต้องชดใช้ความเสียหายในทางแพ่งด้วย
และมีการลงท้าย ข้อความว่า ท่านที่พบผู้ที่ให้อาหารสุนัขจรจัดเป็นประจำ ในบริเวณที่ท่านอยู่อาศัย หรือ ต้องผ่านบริเวณนั้นๆ อย่าลืมถ่ายภาพผู้นั้นไว้ล่วงหน้า ถ้าวันใด สุนัขจรจัดกัดท่าน หรือ ญาติมิตรของท่าน จักไปแจ้งความดำเนินคดี เรียกร้องความเสียหาย ได้ถูกคนว่า เป็นใคร มีรูปร่างหน้าตาเป็นเข่นไร ใช้รถทะเบียนอะไร ในการนำอาหารไปเลี้ยงสุนัขจรจัด ในบริเวณ ทำให้มีการพูดถึงและวิพากวิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง นั้น
ด้าน ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) แสดงความคิดเห็นส่วนตัวว่า ตนก็ได้รับข้อมูลผ่านทางไลน์มาเช่นกัน มีคนสอบถามเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะคนรักสัตว์
ส่วนตัวเคยอ่านคำพิพากษาฉบับเต็มของฎีกานี้แล้ว เห็นว่าอย่าเพิ่งตระหนกตกใจไปเกินควร เพราะมีเหตุผลในคำพิพากษามากกว่าการแชร์กันในขณะนี้
โดยเฉพาะ เรื่องการให้อาหารสุนัขเป็นประจำแล้วไปสร้างความเสียหายนั้น มีรายละเอียดที่ต้องพิจารณากันอีกหลายองค์ประกอบ และเคยมีคำพิพากษา ตัดสินไว้เป็นบรรทัดฐานหลายอัน ควรพิจารณาเป็นรายกรณีไป
แต่เพราะเนื่องด้วยข้อความที่ส่งหากันในขณะนี้ เป็นเพียงการสรุปย่อคำพิพากษา ข้อความอาจจะสั้นเกินไป ด้วยพื้นที่จำกัด ด้วยคำต่างๆ ที่สำคัญอาจถูกตัดทิ้งไปบ้างแต่คิดว่าเป็นเจตนาที่ดีของผู้ส่งสารที่ต้องการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ แต่อาจจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์
เพราะคำพิพากษาฎีกาฉบับเต็มนี้มีด้วยกันหลายหน้า และยังมีเหตุผลที่น่าสนใจ ในคำพิพากษาฎีกา เช่น พฤติการณ์ของจำเลย มีการให้อาหารแก่สุนัขเป็นประจำอย่างต่อเนื่องกัน 2-5 ปี
นอกจากนั้น มีการให้ที่อยู่อาศัยหลับนอนบริเวณบ้านจำเลยเป็นประจำ ด้วย อีกทั้งยังให้ลูกสุนัขที่เกิดจากสุนัขดังกล่าวแก่คนอื่น พฤติการณ์การกระทำดังกล่าวจึงบ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จำเลยเลี้ยงดูสุนัขดังกล่าวอย่างเป็นเจ้าของสุนัข มิใช่เพียงการให้ความเมตตาแก่สุนัขจรจัดทั่วไปเท่านั้น
ดังนั้น พฤติการณ์ของจำเลยจึงเป็นเจ้าของและผู้ควบคุมสุนัขที่กัดผู้ตาย อีกทั้งก่อนเกิดเหตุเคยไปกัดไก่ของ ส.ถึง 17 ตัว ทั้งยังเคยไปกัดไก่ เป็ด โค และกระบือมาหลายครั้ง ถือว่าเป็นสัตว์ดุ จำเลยจึงต้องควบคุมดูแลเป็นพิเศษกว่าปกติธรรมดา เพราะอาจทำอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่นได้
แต่จำเลยมิได้กระทำ มิได้ล่ามโซ่หรือขังกรงไว้ กลับปล่อยให้สุนัขของจำเลยวิ่งไปทั่วหมู่บ้านได้จนเป็นเหตุให้สุนัขของจำเลยทำอันตรายแก่ชีวิตของผู้ตาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยอาจจะใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ จำเลยจึงมีความผิด
สำหรับการให้อาหารสุนัขเป็นประจำ ก่อนหน้านั้นเคยมีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษากรณีดังกล่าว ที่ อ.764/2556 โดยอธิบายในเรื่องนี้ว่า
การเป็น “เจ้าของสุนัข” ย่อมเกิดภาระตามข้อบัญญัติฉบับนี้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การนำสุนัขไปขึ้นทะเบียนที่สำนักงานเขตพื้นที่ จะต้องรับผิดชอบกรณีสุนัขทำร้ายคน บาดเจ็บ ตาย หรือกรณีสุนัขหาย ต้องไปแจ้งสำนักงานเขตพื้นที่ด้วยและที่สำคัญต้องดูแลความเป็นอยู่ อาหาร รวมถึงการไม่ให้สุนัขไปก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นด้วย
การให้คำนิยามความหมายของคำว่า “เจ้าของสุนัข” หมายความรวมถึง “ผู้ให้อาหารสุนัขเป็นประจำด้วย” นั้น จะมีผลทำให้ประชาชนที่เพียงแต่ให้อาหารแก่สุนัขจรจัดเป็นประจำด้วยความเมตตา ต้องมีภาระหน้าที่ในการพาสุนัขจรจัดไปฝังไมโครชิปและจดทะเบียนสุนัข มิเช่นนั้น อาจทำให้บุคคลนั้นกระทำผิดกฎหมาย
ทั้งที่หน้าที่ในการจัดการ ควบคุม ดูแลสุนัขจรจัดเป็นหน้าที่ของท้องถิ่น แต่ท้องถิ่นกลับผลักภาระดังกล่าวมาให้กับประชาชน ดังนั้น การให้บทนิยามดังกล่าว ที่ให้หมายความรวมถึง “ผู้ให้อาหารสุนัขเป็นประจำด้วย” จึงเป็นข้อบัญญัติที่เป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น สร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควรและไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษาให้เพิกถอนข้อบัญญัติ ฯ ข้อ 5 เฉพาะที่ให้ความหมาย “เจ้าของสุนัข” ว่า ผู้ให้อาหารสุนัขเป็นประจำด้วย” นั่นหมายความว่า ผู้ให้อาหารสุนัขเป็นประจำก็ไม่ถือว่าเป็นเจ้าของ ตามนัยคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
แต่ในทางกลับกันกรณีสุนัขจรจัด ไปสร้างความเสียหายให้กับผู้อื่น ศาลปกครองสูงสุด ก็เคยมีคำวินิจฉัยตัดสิน ให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบดูแลสัตว์จรจัดชดใช้ค่าเสียหายให้เอกชน เช่น คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.1751/2559 กรณีเจ้าของฟาร์มนกกระจอกเทศ อ้างว่าสุนัขจรจัดที่อาศัยอยู่ที่บ่อขยะนั้น เป็นความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบล การที่อบต.ละเลยหน้าที่ทำให้สุนัขมารบกวนไล่ต้อน และรุมกัด จนทำให้นกกระจกเทศเสียหาย มีรายได้จากการประกอบการลดลงนั้น
ศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่า องค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจหน้าที่ ในการจัดการดูแลสุนัขจรจัด ซึ่งถือว่าสุนัขเป็นสัตว์ควบคุมตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ 2535 สัตว์จำต้องมีเครื่องหมายประจำตัว เมื่อพบเห็นแล้วโดยไม่ปรากฎเครื่องหมายประจำตัวสัตว์เจ้าพนักงานท้องถิ่นย่อมมีอำนาจจับสัตว์ควบคุมนั้นเพื่อกักขัง ตามมาตรา 9 แต่ไม่ดำเนินการในการควบคุมสุนัขจรจัด
เพื่อประโยชน์ในการรักษาสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชนในท้องถิ่น หรือเพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากสัตว์ หรือเพื่อป้องกันระงับโรคติดต่อ หรือบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือเพื่อบำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพของราษฎรในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ตามมาตรา 67 และ มาตรา 68 แห่ง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 ให้ราชการผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้กับเอกชนผู้ฟ้องคดีนั้น
ดังนั้น ความเป็นเจ้าของ สุนัขจรจัด จึงไม่ใช่เพียงการให้แต่อาหารเป็นประจำ อย่างที่ตื่นตระหนกตกใจที่แชร์กันเกินไปในขณะนี้ จำต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นเป็นรายกรณี ตามข้อเท็จจริง เจตนารวมทั้งผลของการกระทำที่ต้องสัมพันธ์สอดคล้องกับการกระทำนั้นด้วยเป็นสำคัญ
ที่สำคัญที่สุดคือผู้ที่คิดจะเลี้ยงสัตว์ ต้องมีความรับผิดชอบต่อสัตว์ตนเองให้มากที่สุด ควรศึกษาข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับตัวสัตว์ รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และต้องมีความพร้อมที่จะรับผิดชอบสัตว์นั้นตลอดชั่วอายุขัย ไม่ปล่อยทิ้งให้สัตว์นั้นกลายเป็นสัตว์จรจัด แล้วไปสร้างความเสียหายเดือดร้อนลำคาญให้ผู้อื่นได้เช่นกัน
เหมือนการมีสิทธิส่วนบุคคลในการเลี้ยงสัตว์ แต่การใช้สิทธิการเลี้ยงสัตว์นั้นย่อมไม่กระทบสร้างความเสียหายกับบุคคลอื่นเช่นกัน สังคมจึงจะอยู่ร่วมกันอย่างมีดุลยภาพ มีสันติสุขซึ่งกันและกันตลอดไป