รฟม. แถลงความคืบหน้าการดำเนินคดีเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

1 กันยายน 2564 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม. ขอแถลงคืบหน้าการดำเนินคดีเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ดังนี้

ในคดีหมายเลขดำที่ 580/2564 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีในข้อหาที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าการกระทำของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม. เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี และที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอห้ามมิให้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม. กระทำการหรือดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนในโครงการพิพาทครั้งใหม่

โดยมีเหตุผลว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายปกครองตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ศาลปกครองไม่อาจมีคำสั่งกำหนดคำบังคับตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ให้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม. กระทำการหรืองดเว้นกระทำการที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นได้

ประเด็นเรื่องความคืบหน้าการฟ้องคดีทั้งหมดเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) สรุปได้ว่า ปัจจุบันมีการฟ้องคดีรวมจำนวน 3 คดี แบ่งเป็นคดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองกลาง จำนวน 2 คดี ได้แก่ คดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 และคดีหมายเลขดำที่ 580/2564 และเป็นคดีที่อยู่ในระหว่างการไต่สวนมูลฟ้องของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จำนวน 1 คดี คือ คดีหมายเลขดำที่ อท.30/2564

คดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลางที่จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์ร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้น จึงไม่มีประเด็นพิพาทเกี่ยวกับการเพิกถอนหลักเกณฑ์อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองอีกต่อไป

คดีหมายเลขดำที่ 580/2564 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลางที่ไม่รับคำฟ้องข้อหาเกี่ยวกับการการกระทำละเมิด และคำขอห้ามมิให้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม. กระทำการหรือดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนในโครงการพิพาทครั้งใหม่ ไว้พิจารณา โดยให้เหตุผลว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม. ตามกฎหมาย ดังนั้น จึงไม่มีประเด็นพิพาทเกี่ยวกับการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในครั้งใหม่อีกต่อไป

คดีหมายเลขดำที่ อท.30/2564 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางยังอยู่ในระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง ยังไม่ได้รับฟ้องคดีดังกล่าวไว้พิจารณาแต่อย่างใด

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) ติดตามข้อมูลข่าวสาร รฟม. ได้ที่เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th เฟซบุ๊กแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ Call Center รฟม. โทร. 0 2716 4044

Written By
More from pp
กาชาดชวนเด็กน้อยหัวใจรักษ์โลก เที่ยวงานวันเด็กแห่งชาติ 2563
วันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2563 เวลา 09.00 น. นายเตช บุนนาค ผู้ช่วยเลขาสภากาชาดไทย ฝ่ายบริหาร เป็นประธานเปิดงานวันเด็กแห่งชาติ...
Read More
0 replies on “รฟม. แถลงความคืบหน้าการดำเนินคดีเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)”