เปลว สีเงิน
ช่วงนี้ โลกกำลังผลัดใบ
สหรัฐฯ แพ้….
หนีเอาตัวรอดจากอัฟกานิสถาน ปล่อยให้ตอลิบันยึดประเทศไปครองได้เบ็ดเสร็จ
“มาเลเซีย” ใกล้บ้านเรา นายกฯ มูห์ยิดดิน ยาสซิน ถวายหนังสือลาออกจากตำแหน่งต่อ “สมเด็จพระราชาธิบดี”
ประเทศไทย เมื่อวาน (๑๖ สค.๖๔)
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ
ประกาศข่าวดี ….
ผลทดสอบ ChulaCOV-19 พร้อมประกาศชัยต่อชาวโลก “ไทยผลิตวัคซีน mRNA” ใกล้สำเร็จแล้ว
สงกรานต์ ๖๕ ฉีดได้ทั่วหล้าพี่น้องไทย!
ข่าวนี้ ทำให้บรรยากาศคลุมประเทศที่มัวซัว พลันพลิกสดใส ทั้งหวัง ทั้งภูมิใจ ประกายเปล่งเจิดจ้า ขึ้นมาทันที
ฟังที่ “ศ.นพ.เกียรติ” ท่านให้รายละเอียดแบบคร่าวๆ ให้ใจมันฟูกัน ต่อจากนี้นะครับ
จากการทดลอง ChulaCOV-19 ระยะที่ 1/2 เมื่อ 14 มิ.ย.64 ที่เริ่มฉีดเข็มแรกในอาสาสมัครอายุ 18-55 ปี 36 คน ฉีดครบ 2 เข็มแล้ว วันนี้ เป็นระยะเวลาการติดตามผลวันที่ 50
สำหรับอาสาสมัครอายุ 56-75 ปี อีก 36 คน ส่วนใหญ่ได้รับเข็มที่ 1 แล้ว
อย่างไรก็ตาม มีการทดลองเฟส 2 A ก่อนสิ้นเดือนส.ค.นี้ อาจต้องใช้ระยะเวลาทดลองที่มากกว่ากลุ่มอายุ 18-55 ปี ในอาสาสมัคร 150 คน
แบ่งเป็น 120 คน….
ทดลองฉีด ChulaCOV-19 โดยเลือกจากขนาดที่เหมาะสมจากระยะที่ 1
ส่วนอีก 30 คน….
ฉีดเปรียบเทียบ เป็นวัคซีนไฟเซอร์ ผลพบว่า “สามารถยับยั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมได้ดี”
จากตรวจภูมิคุ้มในอาสาสมัคร ด้านสามารถยับยั้งการจับตัวของ RBD หรือโปรตีนที่กลุ่มหนาม หากจับได้แสดงว่าไวรัสโควิด ไม่น่าจะเข้าเซลล์ได้ด้วย
จากการเปรียบเทียบเปอร์เซ็นในการยับยั้ง พบว่า
-ChulaCOV-19 อยู่ที่ 94%
-ไฟเซอร์ 94%
-แอสตร้าเซนเนก้า 84%
-ซิโนแวค 75%
หากการยับยั้งเกิน 70% น่าจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ
ด้านผลข้างเคียง สรุปผลทดลองเบื้องต้น (ย้ำ-เป็นเพียงการทดลองเบื้องต้น) จากอาสาสมัคร 36 คน ยังไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรงใดๆ
มีเพียงเล็กน้อยและดีขึ้นภายใน 1-3 วัน ส่วนใหญ่เจ็บแผลจากการฉีด อ่อนเพลีย มีไข้ หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ และจะปวดมากขึ้นในเข็มที่ 2
จากเปรียบเทียบปริมาณการให้วัคซีน 10 ไมโครกรัม, 25 ไมโครกรัม และ 50 ไมโครกรัม
แสดงให้เห็นว่าอาการข้างเคียงจะพบน้อยมากหรือแทบไม่มีในการให้โดสที่ต่ำ
แต่อาการอ่อนเพลีย พบทั้งการให้ในโดสที่ต่ำและสูงประมาณ 50-60% ส่วนใน 25 ไมโครกรัม พบมีไข้ประมาณ 25%
เมื่อนำข้อมูลอาการข้างเคียงที่พบในไฟเซอร์มาเทียบเช่นการเป็นไข้ มีเปอร์เซ็นต์ใกล้เคียงกับผลการให้วัคซีน ChulaCOV-19 (แต่อาจไม่สามารถเปรียบเทียบโดยตรงได้)
ส่วนการกระตุ้นภูมิ T-cell ที่สร้างแอนติบอดี เพื่อไม่ให้เชื้อเข้าเซลล์ได้
หลังฉีดเข็มที่ 1 พบผลกระตุ้นภูมิใกล้เคียงกับไฟเซอร์
แต่หลังฉีดเข็มที่ 2 และวัดผลหลัง 3 สัปดาห์
พบว่า T-cell ของ ChulaCOV-19 อยู่ที่ 4,514
ไฟเซอร์อยู่ที่ 1,742
แสดงถึงความสามารถการยับยั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมได้ดี
ส่วนผลต่อการยับยั้งไวรัส “ข้ามสายพันธุ์” ศ.นพ.เกียรติ บอกว่า
ตรวจในแล็บด้วยเทคนิค Pseudovirus จากตัวเลขที่ทำวิจัยจุดตัดที่สามารถป้องกันอาการของโควิดได้ประสิทธิภาพ
หากจุดตัดอยู่ที่ 60
แสดงว่าความสามารถในการป้องกันจะอยู่ที่ 60% จุดตัดเกิน 185 แสดงว่าความสามารถในการป้องกัน ก็จะอยู่ที่ 80%
เมื่อตรวจสอบวัคซีนที่ใช้ทั้งไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม, แอลฟ่า, เบต้า, แกมมา และเดลต้า พบว่า
ChulaCOV-19 มีจุดตัดเกิน 185
แสดงว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อทั้ง 4 สายพันธุ์ และเมื่อเทียบกับประสิทธิภาพการป้องกันในสายพันธุ์เดลต้กับไฟเซอร์ พบว่า “ไม่ต่างกันมาก”
ครับ….ขอแทรกนิด
คืออยากย้ำว่า ความที่ ศ.นพ.เกียรติ กล่าวต่อจากนี้ “สำคัญมาก” เป็นประเด็นที่ท่านนายกฯ และกระทรวงสาธารณสุข
“ต้องฟัง” และต้อง “ตัดสินใจ” อย่างยิ่ง!
“ส่วนเฟส 3 จะดำเนินการหรือไม่อย่างไรนั้น ต้องอยู่ที่กติกาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
คาดว่าจะกำหนดกติกาการขึ้นทะเบียนวัคซีนชนิด mRNA ที่ผลิตโดยคนไทย จะออกมาในเดือน ก.ย.นี้
ก็จะทำให้วัคซีนของคนไทยทั้ง 4 ทีม ได้รู้ว่าการจะขึ้นทะเบียนต้องดำเนินการอะไรบ้าง?
และหากกติกาอย.ให้สามารถขึ้นทะเบียนได้ในเฟส 2 โดยวัคซีนที่ผลิตโดยคนไทย มีประสิทธิภาพมากกว่าวัคซีนชนิด mRNA ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศและได้ขึ้นทะเบียนในเมืองไทย
เชื่อมั่นว่า ภายในเมษา.65 ประเทศไทยจะมีวัคซีนชนิด mRNA ที่ผลิตโดยคนไทยใช้ ในการกระตุ้นเข็ม 3 อย่างแน่นอน
“ปี 2565 เชื่อว่าคนไทย เกิน 80-70% ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เรียบร้อยแล้ว
ดังนั้น วัคซีนทั้ง 4 ทีม ที่คนไทยกำลังพัฒนาผลิตอยู่นี้ จะใช้เป็นการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3
โดยในส่วนของวัคซีน ChulaCov19 ถ้ากติกาของอย.ไม่จำเป็นต้องทดลองในเฟส 3
ประมาณ เม.ย.65 คนไทยจะได้ฉีดอย่างแน่นอน
วัคซีนชนิดนี้ มีประสิทธิภาพป้องกันการข้ามสายพันธุ์ได้ดีมาก ตอนนี้มีข้อมูลยืนยันชัดเจน วัคซีน ChulaCov19 อยู่ในอุณหภูมิตู้เย็น (2-8 องศาเซลเซียส) ได้นานถึง 3 เดือน
เก็บในอุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) ได้นาน 2 สัปดาห์ ทำให้จัดเก็บรักษาง่ายกว่าวัคซีน mRNA ยี่ห้ออื่นอย่างมาก”
ขณะนี้ จุฬาฯ ได้เตรียมโรงงานผลิตจากโรงงานบริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ในประเทศไทย ซึ่งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตรองรับมาตั้งแต่ปีที่แล้ว
หากผลการศึกษาวิจัยสำเร็จตามแผนจะใช้โรงงานแห่งนี้ผลิตวัคซีนโควิด ชนิด mRNA ของจุฬาฯ คาดว่าจะผลิตได้ 30-50 ล้านโดสต่อปี ทำให้สามารถปิดช่องว่างวงจรการผลิตวัคซีนในไทยได้
“4 ข้อ” ที่จะทำให้ไทยมี ‘วัคซีนโควิด-19’ ของตนเอง คนไทยต้อง “งดเสพสื่อ” ที่มองลบอย่างเดียว
ถ้าประเทศไทยต้องการให้มีอย่างน้อย 1 ใน 4 วัคซีนที่ได้รับการรับรองภายในเม.ย.65 ซึ่งการจะทำให้ไทยมีวัคซีนของตนเองได้นั้น ต้องมี 4 อย่าง คือ
1.ไทยต้องไม่บริหารระดมทุนแบบเดิม ต้องมีเป้าหมายร่วมกัน ทั้งภาครัฐ,เอกชน และภาคประชาชน
ต้องมีงบที่เพียงพอ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ในส่วนของวัคซีนนี้ ควรระดมทุนกองไว้ 2,500-3,000 ล้านบาท
เพราะถ้าทำถึง 2 B ต้องใช้งบประมาณ 500-600 ล้านบาท แต่ถ้าจะเฟส 3 ซึ่งจะทดลองในอาสาสมัครประมาณ 10,000 กว่าคน
คาดจะใช้งบประมาณ 1,500 ล้านบาท และอีก 1,000 ล้านบาท สำหรับวัตถุดิบ
ตอนนี้ จองวัตถุดิบล่วงหน้าไว้แล้ว แต่ยังไม่มีเงินไปจองเขา ทำให้เราติดขัดในเรื่องนี้
หากมีระดมทุนกองไว้ชัดเจน คาดจะได้วัคซีน 1 ตัวขึ้นทะเบียนภายในปีหน้า
อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัว ถ้าระบบการบริหารติดกับดักราชการแบบไทย คงไม่สามารถทำได้
2.กติกาในการขึ้นทะเบียนวัคซีน ต้องมีกติกาออกมาชัดเจนภายในเดือนกันยา.จากอย. ว่าการขึ้นทะเบียนจะต้องทำวิจัยระยะ 2 B หรือระยะ 3 อย่างไร จึงจะเพียงพอ?
3.โรงงานผลิต จะต้องเร่งดำเนินการให้สามารถผลิตวัคซีนที่มีคุณภาพและจำนวนมาก
4.นโยบายการจองและจัดซื้อวัคซีนล่วงหน้าต้องมีความชัดเจน
ครับ….
นี่คือ “ข่าวดี” ของประเทศไทย ยุคโลกาภิวัฒน์มีสโลแกนว่า “ใครครองสื่อ คนนั้นครองโลก”
ตอนนี้เป็นยุคโควิดภิวัฒน์ สโลแกนต้องเป็นว่า “ประเทศไหนผลิตวัคซีนได้ ประเทศนั้นครองโลก”
รัฐบาล, สาธารณสุข และ อย.
พลาดครั้งแรก ถือว่า “อุบัติใหม่” แต่ถ้าพลาดอีกครั้ง
“วิบัติ” แบบบรรลัย ครับ!