ผักกาดหอม
ถูกแล้วครับ…
สถานการณ์แบบนี้ “ยาแรง” เท่านั้นที่พอจะรักษาเยียวยาการระบาดไวรัสโควิด-๑๙ ในวันที่ผู้ป่วยรายวันปริ่มๆ ๑ หมื่นคนได้
สรุปประเด็นจากการแถลงข่าวของ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. คือปรับสีพื้นที่ใหม่ เพื่อกำหนดมาตรการควบคุม
เพิ่มพื้นที่สีแดงเข้ม (พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด) เป็น ๑๐ จังหวัด
มี กทม. นครปฐม นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ปัตตานี ยะลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสงขลา
สีแดง จาก ๕ เป็น ๒๔
สีส้ม จาก ๙ เป็น ๒๕
สีเหลือง จาก ๕๓ เป็น ๑๘
สีเขียว ๐ จังหวัด
หมายความว่า…ไม่มีพื้นที่ไหนปลอดจากโควิด
จำให้ขึ้นใจนะครับ ทุกคนมีความเสี่ยงติดโควิดด้วยกันทั้งนั้น
การยกระดับในพื้นที่สีแดงเข้ม ๑๐ จังหวัด รอบนี้ คล้ายๆ กับการล็อกดาวน์ประเทศเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว
เที่ยวนี้ความเข้มข้นแบ่งเป็น ๒ พื้นที่
มาตรการที่ใช้กับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ๖ จังหวัด ประกอบด้วย กทม. นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร มีดังนี้ครับ
ราชการ รัฐวิสาหกิจ เอกชน WFH ให้มากที่สุด
ระบบขนส่งสาธารณะหยุดให้บริการตั้งแต่ ๒๑.๐๐-๐๓.๐๐ น.
ตลาดโต้รุ่ง ร้านสะดวกซื้อปิด ๒๐.๐๐-๐๔.๐๐ น.
ห้าง ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารเครื่องดื่ม ธนาคาร ร้านขายยา บริการมือถือ สถานที่ฉีดวัคซีน เปิดได้ถึง ๒๐.๐๐ น.
ร้านอาหารและเครื่องดื่ม เปิดได้ถึง ๒๐.๐๐ น. ให้ซื้อกลับเท่านั้น
ปิดร้านนวด สปา สถานเสริมความงาม
สวนสาธารณะเปิดได้ถึง ๒๐.๐๐ น.
สถานศึกษาเรียนออนไลน์ ๑๐๐%
อีกมาตรการสำหรับพื้นที่สีแดงเข้ม ๑๐ จังหวัด คือ ๖ จังหวัดแรก รวม ๔ จังหวัดภาคใต้เข้ามาด้วย
ห้ามออกนอกบ้านตั้งแต่เวลา ๒๑.๐๐-๐๔.๐๐ น. ยกเว้นมีความจำเป็น ซึ่งก็คือเคอร์ฟิวนั่นเอง
มาตรการนี้เริ่มวันจันทร์ที่ ๑๒ กรกฎาคม เป็นต้นไป
หน่วยงานด้านความมั่นคงจัดตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด ตั้งแต่วันที่ ๑๐ กรกฎาคม เวลา ๐๖.๐๐ น.
ปรับแผนการกระจายวัคซีน เร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มอายุเกิน ๖๐ ปี กลุ่มมีโรคประจำตัว ๗ กลุ่มโรคในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ๑ ล้านโดส ภายใน ๒ สัปดาห์
วันนี้วัคซีนคือความหวัง
ใครที่ฉีดครบ ๒ โดสแล้วก็อย่าประมาท ตัวท่านอาจไม่เป็นไร แต่คนรอบข้างที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือเพิ่งจะฉีดไปเพียงเข็มเดียว อาจป่วยหนักได้
ที่ต้องเตือนซ้ำแล้วซ้ำอีกคือ….
อย่าหวังน้ำบ่อหน้า
ยอมรับสภาพเถอะครับ..สู้กับโควิดแทบไม่ต่างคนกำลังจมน้ำ
มีอะไรก็ต้องคว้าไว้ก่อน
ก็เตือนไว้สำหรับคนที่ไม่ยอมลงทะเบียนตอนนี้ เพราะรังเกียจ แอสตร้าเซนเนก้า-ซิโนแวค จะรอฉีดวัคซีนไฟเซอร์ช่วงปลายปี
ถึงเวลาอาจไม่ได้ฉีด และอาจต้องรอต่อไป
รับรู้กันไปแล้วนะครับ บริษัทวัคซีนทำสัญญากับแต่ละประเทศไว้แบบไหน
โดยเฉพาะประเทศผู้ซื้อ ไม่ใช่ประเทศผู้ผลิต
ความคลาดเคลื่อน ล่าช้าในการส่งมอบสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกประเทศ
ไทยสั่งซื้อไฟเซอร์ ๒๐ ล้านโดส ส่งมอบไตรมาส ๔ แต่จะพยายามร้องขอให้ส่งมอบเร็วขึ้น
ทุกอย่างอยู่บนความไม่แน่นอน
ข่าวจากบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ล่าสุด เตรียมยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ หรือเอฟดีเอ เพื่อขอให้อนุมัติการใช้วัคซีนไฟเซอร์ ฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันโควิด-๑๙ เป็นเข็มที่ ๓ อย่างเร่งด่วน
ด่วนแค่ไหน
ด่วนภายในสิงหาคมนี้!
สาเหตุเพราะ ผู้ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ครบสองเข็มในอิสราเอล ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ กลับมาติดเชื้อขึ้นได้อีกในเดือนมิถุนายน
มีการรายงานว่าผ่านไป ๖ เดือนประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อและอาการป่วยของวัคซีนไฟเซอร์ลดลงเหลือเพียง ๖๔%
ขณะนี้การทดลองฉีดวัคซีนเข็มที่สาม ของไฟเซอร์กำลังดำเนินการทดสอบอยู่ พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นกว่าตอนฉีดเข็มที่สองได้ ๕-๑๐ เท่า
ผลคือหลายประเทศในภูมิภาคยุโรปให้ความสนใจติดต่อขอซื้อวัคซีนจากไฟเซอร์เพิ่มเติมแล้ว
และไฟเซอร์มีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีกหลายพันล้านโดสในปีหน้า
ครับ…ไม่รู้เป็นแผนขายของหรือไม่
แต่ความต้องการไฟเซอร์พุ่งขึ้นอีก
อเมริกาเร่งระบายล็อตที่กำลังหมดอายุด้วยการบริจาคให้ประเทศอื่น และเตรียมกวาดวัคซีนล็อตใหม่เพื่อฉีดเข็มสาม
ยุโรปตามมาติดๆ
ฉะนั้นอย่าวางใจว่า ไทยหรือประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะย่านอาเซียนที่จองวัคซีนไฟเซอร์ แล้วจะได้รับส่งมอบตามเวลาที่กำหนด
นี่แหละครับเหตุผลว่า ทำไมถึงหวังน้ำบ่อหน้าไม่ได้ มีอะไรให้รีบคว้าตอนนี้
ไม่งั้นจมน้ำตาย!
ช่วงนี้วัคซีนทยอยมาทั้ง แอสตร้าเซนเนก้า เห็นรถขนวิ่งจู๊ดๆ จากโรงงานสยามไบโอไซเอนซ์ ส่วนซิโนแวค ซิโนฟาร์ม ขึ้นเครื่องบินมาเรื่อยๆ แม้ของยังมีน้อยแต่ไม่ขาด
ก็ทยอยฉีดกันไปครับ
ถ้ารังเกียจ วัคซีนที่มีอยู่ ก็ตามใจครับ แต่ขอให้รู้ว่า ติดโควิดขึ้นมา เป็นภาระคุณหมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องมาดูแลอย่างทุ่มเท
เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
แค่นี้ก็หนักพอแล้ว