สพฐ.มั่นใจแผน “เสมา1” ลดความเหลื่อมล้ำการศึกษา เตรียมรับลูกชงงบ ปี 65 หนุนบูรณาการโรงเรียน

ภายหลังจาก นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศแผนบูรณาการด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเพิ่มศักยภาพ และคุณภาพของโรงเรียนในทุกด้าน และให้สามารถบริหารการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป็นแผนครอบคลุมโรงเรียนทุกพื้นที่ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ และได้ประกาศคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งคณะผู้กำกับด้านนโยบาย คณะติดตามนโยบาย และผู้รับผิดชอบการดำเนินการในระดับจังหวัด ซึ่งเป็นบุคลากรในกระทรวงศึกษาธิการระดับ 9-10 จากทุกหน่วยงาน มาร่วมมือกันปฏิบัติ

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงความคืบหน้าแผนบูรณาการทางการศึกษาว่า ได้รับทราบความคืบหน้าการนำเสนอแผนบูรณาการจากผู้รับผิดชอบจังหวัดขนาดเล็ก 15 จังหวัดเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจากนี้ไป ทาง สพฐ.จะนำแผนที่ได้รับมาประชุมหาข้อสรุป และตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง โดยจะรวมกับแผนของจังหวัดขนาดกลาง และขนาดใหญ่ เพื่อจัดทำแผนงบประมาณ โดยจะเริ่มบรรจุในปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นไป

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า แผนบูรณาการเบื้องต้น เท่าที่ได้ตรวจสอบพบว่า ในหลายจังหวัดผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง มีความยินดี และเห็นชอบกับการบูรณาการโรงเรียนเป็นอย่างมาก เพราะต้องการเห็นบุตรหลานของตนได้มีโอกาสได้เรียนในโรงเรียนที่มีความพร้อม ทั้งทางกายภาพ รวมถึงงบการสนับสนุน เพราะจะเป็นโรงเรียนที่สามารถมีครูครบชั้น ครบวิชา นักเรียนจะได้รับการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ บางจังหวัดสามารถนำเงินงบประมาณที่ให้กับโรงเรียนเล็กหลายแห่ง มาบริหารจัดการผ่านโรงเรียนคุณภาพชุมชนใหม่ โดยสามารถสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ และแตกต่างจากปัจจุบัน ซึ่งนักเรียนจะได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ และได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด

“ผมยอมรับว่า การแก้ปัญหาระบบการศึกษาทั้งระบบเป็นเรื่องที่น่าหนักใจไม่น้อย เป็นเรื่องยากที่ต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผลสัมฤทธิ์ ระหว่างที่กระทรวงวางแนวทางแก้ไข ยังต้องเผชิญกับอุปสรรค หรือแม้แต่กระแสม็อบเป็นระยะๆ ที่ไม่เข้าใจถึงแนวทางดำเนินการ เพราะตลอด 1 ปีครึ่ง ทางกระทรวง และรัฐมนตรีว่าการได้ลงลึกถึงรากเหง้าของปัญหาการศึกษาไทย และวาง “โร้ดแม๊พ” เพื่อแก้ไขอย่างเป็นระบบ” นายอัมพร กล่าว

ทั้งนี้ แผนบูรณาการด้านการศึกษาทั่วประเทศ ได้แบ่งกลุ่มจังหวัดออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มจังหวัดขนาดเล็กที่มีโรงเรียนไม่เกิน 200 โรงเรียนมี 15 จังหวัด กลุ่มจังหวัดขนาดกลาง มีโรงเรียนระหว่าง 200-400 โรงเรียน มีจำนวน 36 จังหวัด และกลุ่มจังหวัดขนาดใหญ่ที่มีจำนวน 400 โรงเรียนขึ้นไป มี 26 จังหวัด โดยมีเป้าหมายในการยกระดับโรงเรียนคุณภาพชุมชน การพัฒนาโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง และการพัฒนาโรงเรียน Stand alone

นายอัมพร กล่าวว่า แผนบูรณาการนี้เป็นไปตามนโยบายการศึกษายกกำลังสอง ที่ชูเป้าหมายให้การศึกษาไทยพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีความเป็นเลิศ ซึ่งตรงกับความต้องการของตลาดในศตวรรษที่ 21 โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวเชื่อมต่อ ที่ทำให้หลักสูตรต่างๆ มีความยืดหยุ่นและเข้าถึงผู้เรียนผู้สอนได้ง่ายขึ้น เป็นการเสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต และที่สำคัญเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวด้วยว่า นอกจากแผนบูรณาการทางการศึกษา ซึ่งเป็นแผนแก้ไขปัญหาระยะยาวแล้ว ทางกระทรวงศึกษาธิการได้เปิดตัวแพลตฟอร์มด้านการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ (DEEP) และศูนย์พัฒนาบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (HCEC) ที่มีเป้าหมายระยะแรกในการเพิ่มความสามารถของครูและผู้เรียนผ่านระบบออนไลน์ (Online) และแบบตัวต่อตัว (On site) ซึ่งตั้งเป้าว่าจะเป็นแนวทางการพัฒนาครูผู้สอนแบบผสมผสาน ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการอบรมต่างๆ โดยในระยะแรกเน้นหลักสูตรพัฒนาความสามารถด้าน ดิจิทัล และภาษาอังกฤษ ซึ่งได้พาร์ทเนอร์ระดับโลกอย่าง ICDL และ Cambridge เข้ามาดูแลเรื่องของหลักสูตรและการทดสอบ ซึ่งมีเป้าหมายในการตั้งศูนย์ภายในโรงเรียนทั่วประเทศ 185 แห่ง

“ด้านสมรรถนะด้านภาษา เรามีแผนนำครูต่างชาติกว่า 20,000 ตำแหน่งเข้ามาสอนในโรงเรียนในสังกัด แบ่งเป็นครูชาวต่างชาติ 10,000 ตำแหน่งและครูชาวจีน 10,000 ตำแหน่ง ซึ่งได้ผ่านการอนุมัติจาคณะรัฐมนตรีไปแล้ว แต่ต้องมาประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เสียก่อน จึงยังไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้นได้” นายอัมพรกล่าว และว่า ทาง สพฐ.ได้นำกรอบวิทยฐานะแบบใหม่มาพิจารณาเพื่อวางแนวทางการเติบโตในสายอาชีพของครู โดยไม่จำเป็นต้องเติบโตในสายการบริหารสถานศึกษา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านการพัฒนาบุคลาการของกระทรวงยุคใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน

นายอัมพร กล่าวว่า สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาคุณครูในปัจจุบัน หากนำมาบูรณาการร่วมกับแผนบูรณาการทางการศึกษา จะเป็นการลงหลักปักฐานระบบการศึกษาของไทยใหม่ที่แข็งแรง และจะเป็นการบริหารเงินงบประมาณรายปีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญการวางแนวทางโร้ดแม๊พนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ และจะทำให้นักเรียนได้รับการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ มีองค์ความรู้ที่เหมาะสม เติบโตได้ตามสมรรถนะ และสามารถมีชีวิตที่มีคุณภาพในอนาคต

Written By
More from pp
ปตท.สผ. จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ปี 2567 ในรูปแบบ Sustainable Event
นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย  ประธานกรรมการ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. พร้อมด้วยคณะกรรมการบริษัท และนายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ...
Read More
0 replies on “สพฐ.มั่นใจแผน “เสมา1” ลดความเหลื่อมล้ำการศึกษา เตรียมรับลูกชงงบ ปี 65 หนุนบูรณาการโรงเรียน”