กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยผลดีดีซีโพล (DDC Poll) ชี้ประชาชนห่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จากสถานประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าว ส่วนใหญ่เห็นควรให้สถานประกอบการทั่วประเทศปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของแรงงานต่างด้าว มีระบบการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคโควิด 19 และสื่อสารให้ลูกจ้าง แรงงาน และผู้ประกันตนในสถานประกอบการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
21 มิถุนายน 2564 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโรคและภัยสุขภาพ ดีดีซีโพล (DDC Poll) เรื่อง “โรคโควิด 19 ในแรงงานต่างด้าว” จากประชาชนกลุ่มตัวอย่าง 3,500 คน ในพื้นที่ 25 จังหวัดทั่วประเทศโดยสำรวจเมื่อวันที่ 5 – 9 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา
จากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 76.8 เห็นว่า ควรชะลอการอนุมัติการนำเข้าแรงงานต่างด้าว และร้อยละ 69.6 เห็นว่าสามารถให้แรงงานต่างด้าวทำงานได้โดยมีมาตรการไม่ให้ติดเชื้อโรคโควิด 19 หากมีการจ้างงานในสถานประกอบการควรปฏิบัติดังนี้
1) ร้อยละ 69.2 เห็นว่าควรนำแรงงานเข้าลงทะเบียน เพื่อให้ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง
2) ร้อยละ 85.2 เห็นว่าควรสื่อสารให้แรงงานปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข
3) ร้อยละ 82.7 ให้ขอความร่วมมือสถานประกอบการทั่วประเทศ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ลูกจ้าง และผู้ประกันตนในสถานประกอบการ เรื่องไวรัสโควิด 19 และการปฏิบัติตนตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข
4) ร้อยละ 85.5 เห็นว่าควรแจ้งมาตรการให้นายจ้างในสถานประกอบการคัดกรองลูกจ้างแรงงานต่างด้าวและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 และ
5) ร้อยละ 86.5 เห็นว่าควรมีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ในที่ทำงานให้เพียงพอ
สำหรับความคิดเห็น ของประชาชนในส่วนของการจัดสวัสดิการการดูแลให้กับแรงงานต่างด้าว นั้น พบว่า
1) ควรตรวจโรคโควิด 19 ให้กับแรงงานต่างด้าวทุกคน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ร้อยละ 81
2) ควรมีที่รักษาโรคโควิด 19 ให้กับแรงงานต่างด้าวทุกคน ร้อยละ 66.2 และ
3) ให้กลุ่มแรงงานต่างด้าวสามารถฉีดวัคซีนได้หลังจากที่ประชาชนคนไทยได้รับแล้ว ร้อยละ 66.1
จากผลการสำรวจดังกล่าว ทำให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นถึงความสัมพันธ์ของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 กับกลุ่มแรงงานต่างด้าวและมีความวิตกกังวล จึงเห็นควรให้สถานประกอบการมีการจัดสวัสดิการดูแลกลุ่มแรงงานต่างด้าวและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของภาครัฐมีการบูรณาการความร่วมมือหลายหน่วยงาน ได้แก่ ผู้ประกอบการ นายจ้าง สวัสดิการแรงงานจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่ และเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
โดยกรมควบคุมโรค กำหนดแผนดำเนินงาน มีระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค กำกับติดตาม การดำเนินการเฝ้าระวัง คำแนะนำ และมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 ในสถานประกอบการสำหรับกลุ่มแรงงาน นายจ้าง เพื่อการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคโควิด 19
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค รณรงค์ให้สถานประกอบการที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวและกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เพื่อให้เข้าถึงหลักประกันสุขภาพ และตระหนักถึงมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด 19 โดยประชาสัมพันธ์ในภาษาของแรงงานต่างด้าวตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
เช่น สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่ร่วมกิจกรรม ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือทำความสะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1 เมตร เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422