พรก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

พรก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 กรอบวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท เร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงต่อสื่อมวลชน

ถึงมติคณะรัฐมนตรีผ่าน พรก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวถึง พรก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 กรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19

โดยจะใช้ดูแลเยียวยาประชาชน ผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถรักษาระดับการจ้างงาน สร้างงานในระดับท้องถิ่นเพื่อเป็นการต่อยอด ควบคู่ไปกับการเดินหน้าระดมฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการล็อคดาวน์ทั่วประเทศและหลายจังหวัดพื้นที่สีเขียวสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติแล้ว

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปฏิบัติการเชิงรุกอย่างเต็มขีดความสามารถเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนและนักลงทุนต่างชาติว่าประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้

ในโอกาสนี้ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชี้แจงถึงการใช้จ่ายงบประมาณจาก พรก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 กรอบวงเงิน 1 ล้านล้านบาท

แบ่งออกเป็น 3 แผนงาน ได้แก่ แผนงานด้านสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท แผนงานด้านการเยียวยาประชาชน วงเงิน 555,000 ล้านบาท และแผนงานด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงิน 400,000 ล้านบาท ช่วงที่ผ่านมีการโอนวงเงินจากแผนงานด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจไปใช้แผนงานด้านการเยียวยาประชาชนเพิ่มเติม จะทำให้วงเงินแผนงานด้านการเยียวยาประชาชนมีวงเงิน 685,000 ล้านบาท และแผนงานด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจมีวงเงิน 270,000 ล้านบาท

โดยที่ผ่านมาได้การอนุมัติการใช้วงเงินผ่านหน่วยงานต่าง ๆ ที่เสนอมา ในแผนงานด้านสาธารณสุข อนุมัติวงเงินแล้ว 25,825 ล้านบาท เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรทางการแพทย์ การจัดซื้อการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ จัดทำห้องความดันลบ เตรียมความพร้อมของสถานพยาบาล ทำให้มีวงเงินคงเหลือ 19,174 ล้านบาท และกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมนำเสนอโครงการเพื่อใช้งบประมาณที่เหลือในการจัดซื้อหาวัคซีนเพิ่มเติม สำหรับแผนงานแผนงานด้านการเยียวยาประชาชนได้มีการอนุมัติวงเงินไปแล้ว 666,243 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการเราไม่ทิ้งกัน

และแผนงานช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร กลุ่มเปราะบาง พร้อมอนุมัติวงเงินเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนเพิ่มเติมกว่า 210,000 ล้านบาท ครอบคลุมประชาชนกว่า 40 ล้านคน และแผนงานด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจ มีการอนุมัติวงเงินแล้ว 125,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการระดับจังหวัดกว่า 200 โครงการ คงเหลือ 144,846 ล้านบาทเศษ

ซึ่งจะนำไปใช้ในโครงการเพิ่มกำลังซื้อแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและโครงการอื่น ๆ ที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ที่จะเร่งดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป

เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติย้ำว่ากรอบวงเงิน 1 ล้านล้านบาทมีแผนการใช้จ่ายครบถ้วนแล้ว และมีเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 817,000 ล้านหรือเกือบร้อยละ 80 ช่วยให้มีการจ้างงานแล้วกว่า 163,628 คน มีการฝึกอบรมทักษะเกษตรกรกว่า 90,000 คน  ช่วยเสริมเศรษฐกิจให้ดีขึ้นประมาณร้อยละ  2

โดยรัฐบาลจะเร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไทยภายใต้  3 เครื่องยนต์หลัก ได้แก่ การส่งออกที่จะนำไปสู่การลงทุนในภาคเอกชน การลงทุนในภาครัฐที่จะเน้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงการดูแลผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ควบคู่ไปกับการรักษาระดับการจ้างงาน การช่วยเหลือนิสิต นักศึกษาที่จบใหม่ด้วย

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าการประกาศ พรก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 เป็นกฎหมายเฉพาะซึ่งเป็นไปตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

โดยกำหนดเป็นกฎหมายเฉพาะ มีความจำเป็นเร่งด่วนและต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศและไม่สามารถจัดสรรงบประมาณประจำปีได้ทัน โดยเป็นการกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศหรือออกตราสารหนี้ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กรอบวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 โดยต้องใช้จ่ายใน 3 แผนงาน

ได้แก่ แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรอบวงเงิน 30,000 ล้านบาท แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรอบวงเงิน 300,000 ล้านบาท และแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรอบวงเงิน 170,000 ล้านบาท กรณีจำเป็น คณะรัฐมนตรีสามารถอนุมัติปรับกรอบวงเงินแผนงานหรือโครงการภายใต้ 3 วัตถุประสงค์ได้ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินสอดคล้องกับสถานการณ์ ช่วยเสริมแผนงานตามพ.ร.ก. ฉบับที่ 1

ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความเป็นห่วงถึงภาคธุรกิจ SMEs และ Micro SMEs รวมทั้งที่ไม่ได้มีสถานะเป็นนิติบุคคล ก็ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการต่าง ๆ และเพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ และป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินเร่งด่วนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้ เพื่อให้รัฐบาลมีงบประมาณเพิ่มเติมในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ในตอนท้าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังย้ำว่ากรอบวงเงินดังกล่าวมีความเหมาะสมในการดำเนินมาตรการทางด้านการคลังเพื่อดูแลด้านสาธารณสุข ช่วยเหลือเยียวยาตลอดจนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ให้กลับสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจไทย 2564-2565 สามารถขยายตัวได้เพิ่มขึ้นจากกรณีฐานถึงร้อยละ 1.5 และยังอยู่ในกรอบเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 60 กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะดำเนินการอย่างระมัดระวังในการออกตราสารหนี้ในช่วงเวลาที่ได้ประโยชน์แก่ประเทศมากที่สุด

Written By
More from pp
“ทิพานัน” ลงพื้นที่จอมทอง เผยชาวบ้านปลื้ม “บิ๊กตู่” ทำงานไว โดนใจ 10 มาตรการช่วยเหลือ ผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
25 มีนาคม 2565-น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตผู้สมัครส.ส.กทม.เขตจอมทอง-ธนบุรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนในพื้นที่เขตจอมทอง-ธนบุรี  เพื่อประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนดูแลสุขภาพ และดำเนินการป้องกันแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในชุมชุน
Read More
0 replies on “พรก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019”