โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ สั่งเร่งแก้ปัญหาติดเชื้อในเรือนจำทั่วประเทศ ให้ กทม. ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรใน กทม. อย่างน้อย 5 ล้านคน/ร้อยละ 70 ในเดือน มิ.ย.-ก.ค. เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

เมื่อวันที่ 19 พ.ค.64 เวลา 12.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงประชาชนและสื่อมวลชน ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

 กรณีมาตรการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดในเรือนจำ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า จะเร่งแก้ปัญหาการติดเชื้อในเรือนจำต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยจะดำเนินการตรวจเชิงรุกให้ได้มากและเร็วที่สุด จะจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในเรือนจำที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก มีการคัดแยกผู้ที่ป่วย หากมีอาการรุนแรงก็จะนำออกมารักษาตามระบบต่อไป

แต่หากอาการไม่รุนแรงจะให้พักรักษาในโรงพยาบาลสนามที่กรมราชทัณฑ์ดำเนินการ โดยขอให้ความมั่นใจกับประชาชนว่า การรักษาผู้ป่วยในเรือนจำเป็นระบบปิด ดังนั้นโอกาสที่จะมีการแพร่เชื้อออกมาสู่ชุมชนจึงมีน้อยมาก ซึ่งได้มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่มีความเข้มงวดในการดูแลส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาด จะไม่ให้มีการเยี่ยมของบุคคลภายนอก จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

กรณีการชี้แจงของ ศบค. ในส่วนของตัวเลขผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว ถือเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ โดยวันนี้มีผู้ป่วยที่หายป่วยได้กลับบ้านจำนวน 4,450 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าผู้ติดเชื้อ รวมจำนวนผู้หายป่วยสะสมที่ได้กลับบ้านแล้วขณะนี้ 46,942 คน เป็นสิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า แพทย์ พยาบาล ทั่วประเทศทำงานเพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถกลับมามีสุขภาพแข็งแรงได้ตามปกติ ขณะที่รัฐบาลจะพยายามนำวัคซีนเข้ามาเพื่อฉีดปูพรมให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด

กรณีมาตรการดูแลแคมป์คนงานที่พักอาศัยจำนวนมากที่มีการติดเชื้อ ไม่ให้มีการขยายไปในที่ชุมชน นั้น นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายกับกรุงเทพมหานครว่า ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ให้กรุงเทพมหานครดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับคนในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้ได้อย่างน้อย 5 ล้านคน ครอบคลุมประชากรร้อยละ 70 เพื่อการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

เพราะปัจจุบันมีการแพร่เชื้อในชุมชนที่อยู่กันอย่างแออัด โดยจะมีการคัดกรอง ตรวจเชิงรุก ฉีดวัคซีนปูพรม เพื่อป้องกันการระบาด ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และอาจารย์หมอผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อระงับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ในพื้นที่เสี่ยง

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงเพิ่มเติมถึงการฉีดวัคซีนในส่วนของกรุงเทพมหานคร ว่า ขณะนี้กรุงเทพมหานครมีการจัดสรรวัคซีนให้กับโรงพยาบาล สถานพยาบาล หน่วยงานต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร รวม 231 แห่ง ที่พร้อมจะฉีดวัคซีน นอกจากนี้ จะมีสถานที่ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล โดยหน่วยงานร่วมกับสถานที่ของเอกชนอีก 25 แห่งที่ได้มีการเปิดทดลองระบบแล้ว ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ไปตรวจเยี่ยมการเตรียมพร้อม

ได้แก่ เซ็นทรัลลาดพร้าว สามย่านมิตรทาวน์ เดอะมอลล์ บางกะปิ และขณะนี้มีเปิดให้บริการเพิ่มคือที่บิ๊กซี บางบอน และจะเปิดให้บริการเพิ่มในสถานที่อื่น ๆ เมื่อมีวัคซีนเข้ามา สำหรับความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนในกรุงเทพมหานคร มีการฉีดไปแล้ว 556,700 โดส จำนวนผู้ได้รับวัคซีนสะสม 473,000 กว่าราย

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครต้องการให้มีการลงทะเบียนเพื่อจองการฉีดวัคซีนผ่านแอพพลิเคชันหมอพร้อม ซึ่งจะทำให้สามารถบริหารจัดการการฉีดวัคซีนได้ดีที่สุด

ส่วนเรื่องของการจะวอล์คอินหรือไม่อย่างไร นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงช่องทางการลงทะเบียนทั้งหมด มี 3 ช่องทางหลัก คือไลน์หมอพร้อม หรือแอพลิเคชันหมอพร้อม ที่จะทราบถึงวันและสถานที่ที่จะฉีดชัดเจน ที่ขณะนี้มีกลุ่มผู้ที่ได้รับการจัดลำดับให้ฉีดวัคซีนในเบื้องต้น คือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่อยู่ในกลุ่มโรคเรื้อรัง 7 กลุ่ม โดยมีผู้ที่ได้ลงทะเบียนอยู่ในระบบของหมอพร้อมมากกว่า 7 ล้านคนแล้ว

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเข้าใจประชาชนที่มีความพร้อมที่จะฉีดวัคซีนแล้ว จึงได้มีการทำความเข้าใจกันว่า เรื่องของการที่จะวอล์คอิน ขอให้ทำความเข้าใจว่าเป็นการวอล์คอินเข้ามาเพื่อรับวัคซีน ถ้าหากจุดบริการนั้นมีวัคซีนเพียงพอ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของวัคซีนที่จะเข้ามาในประเทศไทย แต่เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน หรือความไม่สะดวกกับประชาชน
ขอให้ประชาชนเมื่อไปถึงสถานที่ฉีดวัคซีนแล้ว แต่ไม่ได้ลงทะเบียนหมอพร้อมมาก่อน ก็ขอให้ลงทะเบียนในวันที่วอล์คอิน ถ้าวันนั้นไปแล้วไม่ได้รับการฉีดวัคซีน หรือวัคซีนมีไม่เพียงพอ ก็จะได้รับทราบวันเวลาที่ชัดเจนที่จะกลับมาอีกครั้ง โดยไม่ต้องกลับมาวอล์คอินอีกในวันรุ่งขึ้นทุก ๆ วัน จนกว่าจะได้รับวัคซีน เพราะอาจจะทำให้เกิดความลำบาก

ทั้งนี้ การรับวัคซีนสามารถวอล์คอินเข้าไป ถ้าวันนั้นมีวัคซีนพอ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้หลายประการ เช่น ผู้ที่ลงทะเบียนไว้แล้วไม่มาตามนัด ก็จะทำให้มีวัคซีนเหลือในวันนั้น จึงจะจัดให้คนที่เดินเข้ามาฉีด แต่ไม่การันตีว่าจะได้ฉีดในวันนั้น จึงอยากให้ประชาชนได้เข้าใจตรงนี้ เมื่อไปแล้ววัคซีนพร้อมก็จะฉีดได้ในวันนั้น แต่ถ้าวัคซีนไม่เพียงพอ จะให้ลงทะเบียนเพื่อที่จะนัดกลับมาอีกครั้งเพื่อความสะดวก

นอกจากนี้ ช่องทางที่สาม นายกรัฐมนตรีให้นโยบายว่า ต้องการปูพรมฉีดวัคซีนทั่วประเทศให้กับกลุ่มที่พร้อม ซึ่งอาจมีการนัดเป็นกลุ่มคณะต่าง ๆ ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น พนักงานในส่วนบริการ บุคลากรในโรงงาน ผู้พิการ นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ รวมถึงนักเรียนที่ต้องเดินไปทางศึกษาต่อต่างประเทศ บุคคลกลุ่มเหล่านี้สามารถแสดงความจำนงไปยังสาธารณสุขเพื่อนัดหมายในการเข้ารับการฉีดวัคซีนได้

ทั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคมจะมีวัคซีนเข้ามาทั้งสิ้น 3,500,000 โดส ซึ่งส่วนใหญ่เป็น Sinovac ได้มีการเตรียมการกระจายวัคซีนไปยังจุดต่าง ๆ ที่มีการลงทะเบียน รวมถึงบุคลากรด่านหน้าให้ครบถ้วน และสำหรับกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ จะเริ่มฉีดในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป

ในส่วนของงบประมาณกระทรวงกลาโหมที่สูงกว่ากระทรวงสาธารณสุข นั้น โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า กระทรวงสาธารณสุขสามารถตั้งงบประมาณภายในกระทรวงได้ ขณะที่หน่วยงานอื่นภายใต้กระทรวงสาธารณสุข สามารถขอรับงบประมาณจากหน่วยงานโดยตรง โดยไม่ผ่านกระทรวงสาธารณสุข ยกตัวอย่าง การตั้งงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหมได้มีการปรับลดงบประมาณจากตัวเลขในปี 2563 ลงไปกว่า 18,000 ล้านบาท และในปี 2564 ได้รับจัดสรรงบประมาณลดลงกว่าปี 2563 กว่า 14,200 ล้านบาท

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังตอบคำถามสื่อมวลชน ถึงกรณีการใช้งบประมาณเพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลบุษราคัม โดยกระทรวงสาธารณสุข ว่า โรงพยาบาลบุษราคัมที่ได้ทำการจัดตั้ง ณ อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี ไม่ใช่โรงพยาบาลสนามและไม่ได้เป็นเพียงแค่หอพัก แต่เป็นโรงพยาบาลในลักษณะเต็มรูปแบบ มีเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์

อาทิ เครื่องผลิตออกซิเจนที่ทำการต่อท่อเข้าสู่โรงพยาบาลแบบเดียวกับโรงพยาบาลทั่วไป เครื่องเอกซเรย์เพื่อดูแลคนไข้ไม่ให้มีอาการสาหัสไปมากกว่าเดิม รวมถึงการติดตั้งเครื่องช่วยหายใจด้วย เนื่องจากการจัดตั้งโรงพยาบาลบุษราคัมมีจุดประสงค์เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยระดับสีเหลืองและสีเขียว รองรับผู้ป่วยเมื่อมีการโทรแจ้งผ่านหมายเลข 1669 และหากผู้ป่วยระดับสีแดงก็จะมีการนำตัวส่งไปยังโรงพยาบาลเฉพาะทางต่อไป
ขณะเดียวกัน นอกเหนือจากโรงพยาบาลรามาธิบดีและโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลบุษราคัมยังรับรองผู้ป่วยในระดับสีแดงที่ออกจากไอซียูเพื่อทำการรักษาต่อ เพื่อให้โรงพยาบาลมีเตียงรองรับผู้ป่วยที่มีอาการเพิ่มมากขึ้น โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ มากกว่า 20 คน พยาบาล มากกว่า 130 คน และเภสัชกร ผู้ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลบุษราคัม มาจากพื้นที่จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดน้อย รวมถึงบุคลากรจากโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์

อาทิ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ที่ร่วมอาสาปฏิบัติงานด้วย ขอให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงไม่ต้องเป็นกังวล เนื่องจากมีการดูแลเรื่องกายถ่ายเทอากาศตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงระบบบำบัดน้ำเสียด้วยเช่นกัน

ในตอนท้าย โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาตามกฎหมายโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีการศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดเพิ่มเติม พร้อมย้ำว่านายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบในเรื่องของค่าโดยสาร โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

Written By
More from pp
โฆษกรัฐบาลเดินหน้าทำงานเชิงรุกแบบพุ่งเป้า เร่งเครื่องงานประชาสัมพันธ์ภาครัฐ เรียกประชุมโฆษกกระทรวง จันทร์ที่ 7 ก.พ. นี้ พร้อมสื่อสาร สร้างการรับรู้ประชาชน ก่อนเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ย้ำ “นายกฯ” มีผลงานชัดเจนเป็นรูปธรรมจับต้องได้
4 กุมภาพันธ์ 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า ตนได้เชิญโฆษกกระทรวงทั้ง 20 กระทรวง และส่วนงานประชาสัมพันธ์ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ประชุมคณะกรรมการโฆษกกระทรวง...
Read More
0 replies on “โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ สั่งเร่งแก้ปัญหาติดเชื้อในเรือนจำทั่วประเทศ ให้ กทม. ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรใน กทม. อย่างน้อย 5 ล้านคน/ร้อยละ 70 ในเดือน มิ.ย.-ก.ค. เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่”