ยุคแห่งการยอมรับข่าวปลอม-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

เก็บเห็ดได้แห้ว

            มันเป็นปัญหาใหญ่จริงครับสำหรับเฟกนิวส์

ที่จริงจะหลิ่วตาไม่สนใจเลยก็ได้

            เพราะกลุ่มคนที่เชื่อข่าวปลอม เป็นกลุ่มเดิมๆ

            ที่ไม่เชื่อ กลุ่มนี้ไม่น่าห่วงเพราะแยกแยะได้

            แต่มันจะเป็นปัญหาใหญ่หากไม่มีการยับยั้งเฟกนิวส์

            ถ้าสังคมไทยบอกว่า ทุกการแสดงความเห็นไม่ควรถูกปิดกั้น สิ่งที่ตามมาทุกคนก็ต้องยอมรับให้ได้ หากวันหนึ่งตกเป็นเหยื่อเฟกนิวส์เสียเอง

            แต่การไม่สนใจกติกาแบบนี้ สังคมจะโกลาหล

            การแสดงความเห็นอย่างไม่รับผิดชอบ แต่ทำได้อย่างกว้างขวาง ยังหาข้อดีไม่ได้ว่าสังคมโดยรวมจะได้ประโยชน์อย่างไร

            ก็แปลกใจตั้งแต่แรกแล้วกับ ข่าวที่แชร์กันว่า ๗ คนไทยที่ข้ามแดนเข้าไปเก็บเห็ดยังชายแดนของ สปป.ลาว แล้วถูกควบคุมตัว

            และเข้าสู่การกักตัวตามมาตรการควบคุมโรคโควิด-๑๙ ของ สปป.ลาว

            ทางการลาวฉีดวัคซีนให้กับทั้ง ๗ คน ก่อนผลักดันกลับไทย

            บ้างก็ว่า ฉีด Pfizer

            ฉีด Moderna ก็มี

            สามนิ้วตั้งแต่เฒ่าหัวขาวยันรุ่นกระเตาะนมยังไม่แตกพาน เอากันใหญ่ กระแนะกระแหนการบริหารจัดการวัคซีนของไทย จะไปเก็บเห็ดที่ลาว

            ข่าวมันเริ่มเมื่อเย็นวันที่ ๒ สิงหาคม ในรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง ๓ ดำเนินรายการโดย นายภาษิต อภิญญาวาท และ น.ส.ปรินดา คุ้มธรรมพินิจ

            หัวข่าวบอกว่า “๗ คนเก็บเห็ดที่ถูกจับที่ลาว จะได้ฉีดวัคซีน mRNA ก่อนเข้าไทย”

            เนื้อข่าว ใช้สำนวนว่า

            “เรื่องร้ายกลายเป็นดี ชาวบ้าน ๗ คนไปหาเห็ด เป็นผู้ชาย ๒ คน ผู้หญิง ๕ คน ปรากฏว่าหลงเข้าไปที่ลาว ถูกลาวจับกุมเหมือนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ทางการไทยประสานงานให้เป็นที่เรียบร้อย เกิดจากความเข้าใจผิด เกิดจากการหลงทาง ทางการลาวก็เข้าใจ ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เมืองปทุมพอน แขวงจำปาสัก จะปล่อยตัวมาที่ประเทศไทย ทางการลาวก็ขอตามกฎหมายลาว ก็ต้องถูกควบคุมตัวอยู่ที่ลาว ๑๔ วัน เดี๋ยวจะกลับฉีดวัคซีนให้ด้วย

            นายภาษิตบอกว่า ที่ลาวฉีดวัคซีน Pfizer หรือ Johnson&Johnson แต่ไม่รู้ว่าจะได้วัคซีนของอะไร ผมคิดเองว่า Johnson&Johnson หรือเปล่า เพราะฉีดเข็มเดียว ไม่อย่างนั้นก็ต้องกลับไปฉีดเข็มที่สอง แต่ก็เป็นที่พูดถึงว่า เก็บเห็ดได้ Pfizer

            จากนั้นไม่นาน ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @pran2844 (ถือแถน ประสพโชค) โพสต์ข้อความว่า “ชาวบ้านที่จังหวัดอุบล เข้าป่าไปเก็บเห็ด แล้วหลงป่าเข้าไปในเขตประเทศลาว ถูกเจ้าหน้าที่ลาวจับตัวไป แล้วถูกให้ฉีดวัคซีน บอกให้เลือกเอาว่าจะฉีด pfizer หรือ johnson&johnson กรู!กลัวคนจะแห่ไปเก็บเห็ดแล้วหลงเข้าไปลาว”

            จากนั้นก็ลามเป็นไฟลามทุ่ง

            “ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” ผู้นำจิตวิญญาณสามนิ้วเอากับเขาด้วย แชร์ดะ

            “ชื่นชม สปป.ลาวที่เห็นแก่มนุษยธรรม แม้ว่าชาวบ้านเก็บเห็ดหลงทางจนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ถ้าเป็นสารขัณฑ์คงติดคุกและแถมโควิดจากคุกแน่ๆ”

            คนมีการศึกษา มีความรู้ระดับนี้ ไม่ได้ช่วยเรื่องวุฒิภาวะในโลกออนไลน์เลย

            โดยข้อเท็จจริงของข่าวนี้ แทบเป็นไปไม่ได้

            ฉะนั้นการโพสต์ การแชร์ จึงต้องระมัดระวัง

            หรือคิดว่า เป็นสิทธิในการแสดงออก ถูก-ผิด ไม่ต้องไปสนใจ

            ครับ…ความจริงปรากฏมาจากฝั่งลาว

            เว็บไซต์วิทยุเอเชียเสรี รายงานข่าวเพียงว่า

            ในตอนเช้าของวันที่ ๑ สิงหาคม เกิดเหตุคนไทยจากจังหวัดอุบลราชธานีจำนวนหนึ่งออกมาเก็บเห็ดตามแนวชายแดนไทย-ลาว เข้าสู่เขตเมืองปะทุมพอน แขวงจำปาสัก ถูกทหาร สปป.ลาวควบคุมตัวไว้ เป็นหญิง ๕ ราย ชาย ๒ ราย ที่เหลือหลบหนีไปได้

            เบื้องต้นถูกตั้งข้อหาลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย

            หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ไทยประสานเพื่อสอบถามความคืบหน้า ขอนำตัวกลับประเทศ

            ไม่มีเนื้อข่าวท่อนไหนบอกว่า จะฉีดวัคซีนให้

            ไม่เฉพาะ เว็บไซต์วิทยุเอเชียเสรี  สื่ออื่นๆ ในข่าว ไม่มีสำนักไหนรายงานว่า จะฉีดวัคซีน mRNA ก่อนผลักดันกลับไทย

            แล้วมันมาได้ไง?

            เผอเรอหรือตั้งใจ?

            การเต้าข่าวโดยสื่อหลัก แล้วสื่อโซเชียลเอาไปขยายความต่อเป็นลูกโซ่นี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะรับผิดชอบกันอย่างไร

            แค่ขอโทษ (หากมี) จะเพียงพอหรือไม่

            นี่คือสิ่งที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

            ครับ…ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามประกาศใช้ข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา ๘ แห่ง พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ หรือ “ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ ๒๙” สาระสำคัญ ห้ามเสนอข่าวที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัว หรือบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ รวมถึงอนุญาตให้ กสทช.มีอำนาจระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือ “ตัดเน็ต” หากพบว่า IP address ใดทำผิดข้อกำหนด ตีความได้หลายทาง

            เผด็จการปิดปากประชาชนก็ได้

            แก้ปัญหาความสับสนในข้อมูลข่าวสารก็ได้

            ไม่ว่าใครก็ตาม ไม่สามารถรับประกันแทนคนอื่นได้ว่าการแสดงความเห็นนั้นจะสุจริตหรือไม่ อย่างน้อยๆ เราจึงควรมีกติการ่วมกัน

            แล้วกติกาแบบไหนจะนำมาใช้ในสถานการณ์ที่เฟกนิวส์ มีอิทธิพลต่อความเชื่อของผู้คนในสังคมอย่างมาก ขนาด อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมที่จะแชร์เฟกนิวส์อย่างไม่ลังเล

            เห็นใจองค์กรสื่อ ที่เผยแพร่ข่าวสารผ่านอินเทอร์เน็ต  ซึ่งมองว่าได้รับผลกระทบจากข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ ๒๙

            ข้อกังวลเรื่อง “การห้ามเสนอข่าวที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัว หรือบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร” อาจเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจากความไม่เชื่อถือในรัฐบาล

            ถ้ามองว่ารัฐบาลประยุทธ์ เป็นรัฐบาลเผด็จการ ตั้งหน้าตั้งตาลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชน

            ก็ไม่มีแปลกที่จะมีการคัดค้าน

            แต่ก็เป็นเรื่องแปลกเช่นกัน ยุคที่ถูกระบุว่า รัฐบาลเผด็จการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก กลับมีการแสดงออกอย่างเสรีในโลกออนไลน์

            ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีทางการเมืองอย่างหยาบคาย

            ใช้ข่าวปลอมปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชัง

            ลามไปถึงการอาฆาตมาดร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์มากที่สุดนับแต่มีประเทศไทยมา

            ฉะนั้นแน่ใจหรือว่ายุคนี้เป็นยุคประชาชนถูกปิดปากมากที่สุด

            ลองถามใจตัวเองดู.


Written By
More from pp
ปตท. – องค์การเภสัชกรรม ส่งมอบแอลกอฮอล์ให้กระทรวงสาธารณสุข  
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และองค์การเภสัชกรรม มอบแอลกอฮอล์ 30,000 ลิตร เพื่อส่งมอบต่อไปยังโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ใช้ทำความสะอาด ฆ่าเชื้อไวรัส
Read More
0 replies on “ยุคแห่งการยอมรับข่าวปลอม-ผักกาดหอม”