สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ประชาชนคิดอย่างไร กับการทำให้แอปพลิเคชันรถยนต์รับส่งสาธารณะถูกกฎหมาย” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 567 คน ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล สำรวจระหว่างวันที่ 29 เม.ย.- 3 พ.ค. 2564 พบว่า กลุ่มตัวอย่างเป็นคนที่เคยใช้บริการแอปเรียกรถ 85.71% และเป็นผู้ที่ไม่เคยใช้ 14.29%
ภาพรวมร้อยละ 97.00 เห็นด้วยกับการที่กระทรวงคมนาคมกำลังผลักดันให้บริการแอปเรียกรถถูกกฎหมายให้ได้ภายในเดือนมิถุนายน 2564 นี้ โดยไม่เห็นด้วยเพียงร้อยละ 3.00
นอกจากนี้ยังเห็นด้วยหากมีการติดสัญลักษณ์เพื่อบ่งบอกว่ารถคันนี้เข้าร่วมบริการ ร้อยละ 89.95 เห็นด้วยหากมีการกำหนดราคาอย่างเหมาะสมกับขนาดหรือประเภทของรถ ร้อยละ 86.77 เห็นด้วยกับกรณีรถยนต์ส่วนบุคคลต้องให้บริการผ่านแอปฯเท่านั้น ร้อยละ 80.07 ยินดีจ่ายในราคาที่สูงขึ้นเพื่อคุณภาพที่ดีกว่า ร้อยละ 77.60 และเห็นด้วยหากขยายอายุการใช้งานของรถส่วนตัวที่จะให้บริการผ่านแอปฯได้ถึง 12 ปี ร้อยละ 67.72
สำหรับ 5 ปัจจัยแรกที่กลุ่มตัวอย่างให้ความสำคัญในการเลือกใช้บริการเรียกรถผ่านแอปฯ คือ ความสะดวกสบาย ร้อยละ 62.08 รองลงมาคือ มีความโปร่งใสในการแสดงราคา ร้อยละ 60.85 ไม่ถูกปฏิเสธ/ไปส่งทุกที่ ร้อยละ 58.55 มีมาตรฐานความปลอดภัย ร้อยละ 57.50 และมีการนำระบบเทคโนโลยีมาช่วยดำเนินการ ร้อยละ 52.73
การสำรวจในเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ประชาชนกำลังให้ความสนใจ เนื่องจากแอปเรียกรถเป็นบริการที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ธุรกิจบริการแอปเรียกรถในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 ธุรกิจดังกล่าวมีมูลค่ารวมสูงถึง 1.5 แสนล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะเติบโตสูงขึ้นถึง 5.7 แสนล้านบาทภายในปี 2568 (อ้างอิงรายงานวิจัยของ e-Conomy SEA 2020 โดย Google, Temasek และ Bain & Company)
สำหรับในประเทศไทย ปัจจุบันมีผู้ให้บริการดังกล่าวหลายราย ไม่ว่าจะเป็น แกร็บ (Grab) โบลท์ (Bolt) ไลน์แมน แท็กซี่ (LINE MAN Taxi) โกเจ็ก (Gojek) ทรูไรด์ (True Ryde) และ บอนกุ (Bonku) ซึ่งหากการผลักดันของกระทรวงคมนาคมในครั้งนี้เป็นผลสำเร็จก็จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศล่าสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แอปเรียกรถสามารถให้บริการได้อย่างถูกกฎหมาย เช่นเดียวกันกับ สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม