เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 เวลา 14.00 น. พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน พล.ต.ต.รณชัย จินดามุข ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 และนางสาวลัดดา แซ่ลี้ ผู้อำนวยการ สำนักสิทธิประโยชน์ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานประกันสังคม ร่วมแถลงข่าวผ่าน Facebook สำนักงานประกันสังคม เกี่ยวกับผลการดำเนินคดีของศาลพิพากษาผู้กระทำผิดเงื่อนไข โครงการ ม.33เรารักกัน จำนวน 7 ราย พร้อมลงโทษทั้งจำทั้งปรับ พร้อมรอลงอาญา 2 ปี
นางสาวลัดดา แซ่ลี้ ผู้อำนวยการสำนักสิทธิประโยชน์ ในฐานะรองโฆษกสำนักงาน ประกันสังคม เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งกระทรวงแรงงานภายใต้กำกับดูแลของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีนโยบายช่วยเหลือเยียวยา แบ่งเบาภาระค่าครองชีพ และลดผลกระทบของผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 รอบที่แล้ว
และได้มอบหมายกระทรวงแรงงาน โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จัดทำโครงการ ม33เรารักกัน ให้ผู้ประกันตน ได้รับสิทธิคนละ 4,000 บาทต่อคน ให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ด้วยวิธีการโอนวงเงินผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เพื่อใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการกับผู้ประกอบการ/ร้านค้า/บริการ ที่ได้รับอนุญาตเข้าร่วมโครงการ ม33เรารักกัน ในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2564
ซึ่งจากการตรวจสอบติดตามการใช้สิทธิดังกล่าวของสำนักงานประกันสังคม ซึ่งได้ตรวจสอบข้อมูลจากสื่อโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มต่างๆ กลับพบเบาะแสว่ามีผู้ใช้งานบัญชี ในแอปพลิเคชั่น ประกาศเชิญชวนรับซื้อขายสิทธิโครงการ ม33 เรารักกัน เป็นเงินสด โดยไม่มีการซื้อขายสินค้า หรือบริการกันจริง ซึ่งเป็นกระทำโดยทุจริตผิดเงื่อนไขของโครงการ ผมจึงได้มอบนโยบายให้สำนักงานประกันสังคมดำเนินคดีกับผู้ทุจริตผิดเงื่อนไขของโครงการ ม33 เรารักกัน อย่างเด็ดขาด
โดยเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม พร้อมทีมกฎหมายสำนักงานประกันสังคม เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ณ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรม ทางเทคโนโลยี อาคารเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารพระชนมพรรษา 60 พรรษา จังหวัดนนทบุรี เพื่อดำเนินคดี กลุ่มผู้ต้องหาทุจริตโครงการ ม33เรารักกัน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้รับการประสานความร่วมมือจากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรม ทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การอำนวยการสั่งการ
โดยพลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พลตำรวจเอกสุชาติ ธีระสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พลตำรวจโทปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พลตำรวจโทกรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และพลตำรวจตรีภาณุมาศ บุญญลักษม์ รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
โดยสั่งการให้ พลตำรวจตรีรณชัย จินดามุข ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1, พลตำรวจตรีออมสิน ตรารุ่งเรือง ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 3 และเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัด โดยประสาน .ความร่วมมือกับสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 ได้ทำการสืบสวน ทางสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อแสวงหาพยานหลักฐานการกระทำผิด และสามารถระบุตัวผู้กระทำความผิด
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 ทีมกฎหมายของสำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้สืบสวนสอบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในการดำเนินคดีร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ ความรับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลบางเขน และได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับบุคคล ซึ่งได้ประกาศโฆษณารับแลกเงินสด โครงการ ม33เรารักกัน และดำเนินการรับซื้อขายสิทธิจากผู้ประกันตน ม33 รับแลกเป็นเงินสดแต่ไม่มีการซื้อขายสินค้าหรือบริการกันจริง จำนวน 7 ราย
วันที่ 9 เมษายน 2564 สำนักงานประกันสังคม ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลบางเขน เพื่อดำเนินคดีกับบุคคลที่กระทำการโดยทุจริตผิดเงื่อนไขของโครงการ ม33เรารักกัน ซึ่งพนักงานสอบสวน ได้รับแจ้งไว้แล้วตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ลำดับที่ 14 ลงวันที่ 9 เมษายน 2564 เวลา 14.30 น. โดยมีพันตำรวจโทอนิรุทธิ์ พูลสวัสดิ์ สารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลบางเขน เป็นพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีผลการสืบสวนปรากฏว่า
กลุ่มผู้กระทำผิดทั้ง 7 รายนี้ มีพฤติการณ์เป็นร้านค้าที่ร่วมโครงการฯ ประกาศชักชวนผ่านแอปพลิเคชั่น Facebook เชิญชวนผู้มีสิทธิให้นำสิทธิผู้ประกันตนมาแลกสิทธิเป็นเงินสดแทนการซื้อของจากร้านค้า ซึ่งเป็นการใช้ผิดวัตถุประสงค์ถือเป็นการทุจริตโครงการ ม33เรารักกัน และมีผู้หลงเชื่อกลุ่มผู้ต้องหาจำนวนมาก ซึ่งเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา มีผู้ต้องหามาพบ 3 ราย ตามหมายเรียกผู้ต้องหาครั้งที่ 2 พนักงานสอบสวน แจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุก ไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษทางอาญาอื่นๆ และในวันที่ 30 เมษายน 2564 พนักงานสอบสวนได้นำตัวผู้ต้องหาซึ่งให้การรับสารภาพจำนวน 3 ราย ไปยังศาลแขวงพระนครเหนือเพื่อให้พนักงานอัยการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาต่อศาล
ผลคดี ศาลพิพากษาลงโทษ จำคุก 1 เดือน ปรับ 1,000 บาท โดยให้รอลงอาญาโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ให้คืนเงิน 500 บาท แก่ผู้เสียหายส่วนผู้ต้องหาอีก 4 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ในการนี้ นางสาวลัดดา กล่าวในตอนท้ายว่า นายสุชาติ ชมกลิ่ม รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงแรงงาน ยังได้ฝากประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ประกันตนที่มีสิทธิตามโครงการ ม33เรารักกัน ขออย่าได้หลงเชื่อการประกาศเชิญชวนรับแลกสิทธิ โดยไม่ได้มีการซื้อสินค้าหรือบริการจริงในร้านค้า ที่ได้รับอนุญาต เพราะอาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการผิดวัตถุประสงค์ของโครงการฯ และอาจจะตกเป็นเหยื่อร้านค้า ที่เป็นมิจฉาชีพหลอกแลกสิทธิให้โอนเงินซื้อสิทธิ โดยอาจจะไม่ได้รับเงินจากร้านค้าที่เป็นมิจฉาชีพ
ในกรณีร้านค้าที่กระทำผิดจะได้รับโทษ ทางอาญาจำคุกและปรับ ในส่วนของเจ้าของสิทธิที่นำสิทธิไปแลก ตามคำเชิญชวนของร้านค้า อาจเข้าข่ายร่วมกันกระทำความผิดฐาน “ฉ้อโกง” อีกด้วย