สวพส. เปิดจำหน่ายเมล็ดกัญชง (Hemp) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนากัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. แจงขั้นตอนและเงื่อนไขวิธีการจำหน่ายเมล็ดกัญชง (Hemp) ที่จะจำหน่ายในปี พ.ศ.2564 จำนวน พันธุ์ คือ RPF1 และ RPF3 จำนวนประมาณ 5,600 กิโลกรัม

ประกอบด้วยเมล็ดพันธุ์รับรองสำหรับปลูกและเมล็ดสำหรับบริโภค พร้อมเผยราคาจำหน่าย ซึ่งอยู่ระหว่าง 250-750 บาท/กก. มีเป้าหมายจำหน่ายให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ส่งเสริมของโครงการหลวงและสวพส. หน่วยงานของรัฐหรือภาคเอกชนที่ดำเนินโครงการวิจัยร่วมกับสวพส. หน่วยงานของรัฐ และบุคคลทั่วไปหรือนิติบุคคล

ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนากัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ หลังจากที่กฏหมายได้อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปสามารถขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองกัญชงได้ โดยจะเปิดรับการสั่งซื้อระหว่างวันที่ 26 เม.ย. 64 – วันที่ 5 พ.ค.64 ซึ่งผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดได้ทางเว็บไซต์ของ สวพส. ได้ที่ : https://www.hrdi.or.th/

นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ร่วมกับ มูลนิธิโครงการหลวง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้วิจัยและพัฒนากัญชง (Hemp) เพื่อให้เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี พ.ศ.2549 จนถึงปัจจุบัน

โดยได้มีการพัฒนาพันธุ์กัญชงจำนวน พันธุ์ คือ RPF1, RPF2, RPF3 และ RPF4 สำหรับการปลูกเพื่อผลิตเส้นใย โดยทุกพันธุ์ ที่มีปริมาณสารเสพติด (THC) 0.2% ซึ่งต่ำกว่าที่กฏหมายกำหนด มีเปอร์เซ็นต์เส้นใย 12-14.7% และมีปริมาณสารที่เป็นประโยชน์ (CBD) 0.8-1.2% และได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์กับกรมวิชาการเกษตร ในปี พ.ศ. 2554 และพันธุ์ดังกล่าวจัดเป็นเมล็ดพันธุ์รับรองตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 เฉพาะเฮมพ์ พ.ศ.2559

เมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศ “กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ.2563” และ “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563” มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองกัญชงได้ โดยส่วนของกัญชงที่ไม่จัดเป็นยาเสพติด

ได้แก่ ใบ เมล็ด (seed และ grain) ราก ลำต้น และสารสกัด CBD ที่มี THC ต่ำกว่า 0.2% เป็นผลให้ความสนใจในการทดลองปลูก และศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกัญชง เพิ่มขึ้นอย่างมากภายในระยะเวลาอันสั้น ในขณะที่ยังไม่มีการผลิตเมล็ดกัญชงไว้ล่วงหน้า ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนากัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ สวพส. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักที่ศึกษาและวิจัยกัญชงอยู่ในปัจจุบัน จึงได้จัดสรรเมล็ดกัญชงที่ผลิตไว้สำหรับการศึกษาและวิจัยของสวพส. นำมาจำหน่ายให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ส่งเสริมของโครงการหลวงและสวพส. หน่วยงานของรัฐหรือภาคเอกชนที่ดำเนินโครงการวิจัยร่วมกับสวพส. หน่วยงานของรัฐ และบุคคลทั่วไปหรือนิติบุคคลที่สนใจ จำนวนรวม 5,600 กิโลกรัม 

และได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดแนวทางการควบคุม การจำหน่าย การกำหนดราคาเมล็ดพันธุ์ ส่วนประกอบและผลิตภัณฑ์ของเฮมพ์ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาผู้แทนมูลนิธิโครงการหลวงผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)ผู้แทนสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.),  ผู้แทนองค์การเภสัชกรรม เพื่อร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางการจำหน่ายและราคาเมล็ดกัญชง ที่เหมาะสมสำหรับการสนับสนุนและผลักดันให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ โดยมีเมล็ดกัญชงที่จะจำหน่าย พันธุ์ คือ RPF1 ที่เหมาะสำหรับปลูกบนพื้นที่สูงมากกว่า 1,000 เมตร และพันธุ์ RPF3 ที่เหมาะสำหรับปลูกบนพื้นที่สูงระดับ 500-1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งประกอบด้วย

  1. เมล็ดพันธุ์รับรอง (Certified seed) จำนวน 3,000 กิโลกรัม โดยจำหน่ายสำหรับเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวงและโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ราคา 300 บาท/กก. หน่วยงานภาคีร่วมศึกษาวิจัยและพัฒนา (Partnership) หรือหน่วยงานของรัฐ ราคา 400 บาท/กก. และสำหรับบุคคลทั่วไป ราคา 520 บาท/กก.
  2. เมล็ดบริโภค (Grain) จำนวน 2,600 กิโลกรัม โดยจำหน่ายสำหรับหน่วยงานภาคีร่วมศึกษาวิจัยและพัฒนา (Partnership) หรือหน่วยงานของรัฐ ราคา 250 บาท/กก. และสำหรับบุคคลทั่วไป ราคา 750 บาท/กก.

ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการวิจัย พัฒนา และการทดลองปลูก ได้อย่างทั่วถึงและเหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน สวพส. ได้พิจารณาและกำหนดปริมาณเมล็ดที่จะจำหน่ายให้แก่ผู้ขอซื้อแต่ละราย ตามวัตถุประสงค์ของการใช้ประโยชน์ ดังนี้

  1. เมล็ดพันธุ์รับรอง (Certified seed) สำหรับเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวงและโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ไม่เกิน 20 กก./ราย หน่วยงานภาคีร่วมศึกษาวิจัยและพัฒนา (Partnership) หรือหน่วยงานของรัฐ ไม่เกิน 30 กก./ราย และสำหรับบุคคลทั่วไป ไม่เกิน 20 กก./ราย
  2. เมล็ดบริโภค (Grain) : สำหรับหน่วยงานภาคีร่วมศึกษาวิจัยและพัฒนา (Partnership) หรือหน่วยงานของรัฐ ไม่เกิน 50 กก./ราย และสำหรับบุคคลทั่วไป ไม่เกิน 20 กก./ราย (R&D)

โดยผู้ขอซื้อทั้งเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวงและโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง หน่วยงานภาคีร่วมศึกษาวิจัยและพัฒนา (Partnership) หรือหน่วยงานของรัฐ และบุคคลทั่วไปหรือนิติบุคคล สามารถแจ้งความประสงค์ขอซื้อ ผ่านทางเว็บไซต์ของ สวพส. https://www.hrdi.or.th/PublicService/HempInfo หรือยื่นเอกสารด้วยตนเอง หรือทางไปรษณีย์ โดยสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์ม https://www.hrdi.or.th/public/files/PublicService/HempInfo/HRDIPurchaseRequestForHemp.pdf ระหว่างวันที่ 26 เมษายน ถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 โดยปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่กำหนด ซึ่งสามารถติดตามรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ : https://www.hrdi.or.th/ หรือ Facebook Fanpage : สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)

“กัญชงกำลังจะก้าวสู่การเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ ด้วยคุณค่าและประโยชน์ที่ได้ของทุกส่วน ทั้ง เมล็ด ช่อดอก ใบ ลำต้น เปลือก และเส้นใย ที่สามารถแปรรูปทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและต่อยอดทางธุรกิจได้มากมาย การที่กฏหมายได้เปิดให้สามารถขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองได้นั้น นับเป็นโอกาสที่เกษตรกรและทุกภาคส่วนจะได้ร่วมกันพัฒนาและผลักดันกัญชงให้เป็นพืชเศรฐกิจได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการปรับปรุงพันธ์และเทคโนโลยีการปลูกให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ที่หลากหลายขึ้น การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และการพัฒนาทางการตลาด  และสวพส.ยินดีให้การสนับสนุนเพื่อต่อยอดการวิจัยและพัฒนาที่ได้ร่วมกับโครงการหลวง และหน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมกันบุกเบิกและดำเนินการมากว่า 15 ปี” นายวิรัตน์ กล่าวส่งท้าย

 

Written By
More from pp
นายกรัฐมนตรีให้ทบทวนคำสั่งระงับการออกกาศสื่อออนไลน์ต่าง ๆ วอนสื่อมวลชนระมัดระวังไม่เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ
20 ต.ค. 63 เวลา 13.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก...
Read More
0 replies on “สวพส. เปิดจำหน่ายเมล็ดกัญชง (Hemp) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนากัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ”