นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลมีแนวทางป้องกันการขาดแคลนหน้ากากอนามัยอย่างต่อเนื่อง
มีกระบวนการติดตามสถานการณ์หน้ากากอนามัย ผ่านคณะอนุกรรมการบูรณาการการบริหารพัสดุ สำหรับการป้องกัน ควบคุม การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
เพื่อสร้างความมั่นใจว่าประเทศไทยจะมีหน้ากากอนามัยและพัสดุที่เกี่ยวข้องใช้อย่างเพียงพอ ทั้งในสถานพยาบาลและประชาชนทั่วไป รวมถึงได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพและราคาที่เหมาะสม
ซึ่งล่าสุด คณะอนุกรรมการฯ ได้ประชุมและประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ โดยมี สาระหลัก คือ
1)กำลังการผลิตจากโรงงาน 63 แห่งภายในประเทศ ที่จำหน่ายหน้ากากอนามัยในท้องตลาด ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านา (เดือนมกราคม-มีนาคม 2564) รวมวันละ 4-5 ล้านชิ้นต่อวัน มีการนำเข้าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ใช้ในห้องผ่าตัด จำนวน 28.69 ล้านชิ้น และที่ไม่ได้ใช้ในห้องผ่าตัด จำนวน 228.13 ล้านชิ้น หน้ากากผ้าลิขสิทธิ์ จำนวน 238.23 ล้านชิ้น และหน้ากากกันฝุ่นในโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 992.98 ล้านชิ้น
2)มีการเตรียมการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยให้มีความพอเพียงกับบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศในช่วงนี้แล้ว โดยกระทรวงสาธารณสุข และองค์การเภสัชกรรม เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ
3)กรมการค้าภายใน สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ติดตามตรวจสอบคุณภาพหน้ากากอนามัยในท้องตลาดให้เป็นไปตามมาตรฐาน ดำเนินการจับกุมผู้ลักลอบนำหน้ํากากอนามัยใช้แล้วมาจําหน่ายใหม่ และควบคุมราคาจำหน่ายให้เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้กำหนดราคาจำหน่ายและการแจ้งข้อมูลหน้ากากอนามัย โดยผู้ขายจะต้องขายหน้ากากอนามัย (Surgical mask) ไม่เกิน 2.50 บาทต่อชิ้น การส่งออกต้องขออนุญาตและเป็นไปตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ท่ีเก่ียวข้อง หากประชาชนพบข้อมูลเบาะแสการจำหน่ายเกินราคาสามารถแจ้งสายด่วน กรมการค้าภายใน หมายเลข 1569 ได้ทันที