สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2465 มีภารกิจครอบคลุมถึงการผลิตวัคซีนวัณโรค ผลิตเซรุ่มแก้พิษงู เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและบริการเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ แก่ประชาชน รวมทั้งให้คำแนะนำในเรื่องสัตว์มีพิษกัดและโรคเมืองร้อนด้วย
สถานเสาวภา สภากาชาดไทย เป็นสถานที่ผลิตเซรุ่มแห่งแรกในประเทศไทย และเป็นเพียงแห่งเดียวที่ผลิตเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจากเลือดม้า ในชื่อ TRCS ERIG® (Equine Rabies Immunoglobulins) โดยมีสถานที่เพาะเลี้ยงม้าเพื่อผลิตเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และเซรุ่มแก้พิษงูโดยเฉพาะ ชื่อว่า “สถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองสภากาชาดไทยเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา”
ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เพื่อการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งองค์ราชูปถัมภกสภากาชาดไทย โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด “สถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองสภากาชาดไทยเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา” เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2543 ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
สถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองฯ ตั้งอยู่ที่ถนนสายหัวหิน-ป่าละอู อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่รวม 646 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแปลงปล่อยม้าและแปลงปลูกหญ้าสดสำหรับใช้เป็นอาหารม้า จำนวนกว่า 500 ไร่ เนื่องจากเป็นการเลี้ยงแบบปล่อยให้ม้าหากินเองตามธรรมชาติ ส่วนพื้นที่อีกประมาณ 43 ไร่ นำมาก่อสร้างบ้านพักและอาคารปฏิบัติงานต่าง ๆ
ภายในสถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองฯ ยังมีพื้นที่ที่อนุรักษ์ไว้เป็นพื้นที่สีเขียวที่มีลักษณะเป็นเนินเขา จำนวน 75 ไร่ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เพิ่มเติมจากเดิมอีก 100 กว่าไร่ ที่รอการปรับปรุงและพัฒนาเป็นแปลงปลูกหญ้าให้ม้ากิน สำหรับแหล่งน้ำที่นำมาใช้ผลิตเป็นน้ำประปาและรดน้ำแปลงหญ้ามาจากอ่างเก็บน้ำห้วยไม้ตายซึ่งอยู่ห่างจากสถานีฯ ประมาณ 3 กิโลเมตร
ปัจจุบันสถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองฯ มีม้าจำนวนทั้งสิ้น 490 ตัว และมีการบริหารจัดการฟาร์มม้าแบบครบวงจร ได้แก่ การจัดการระบบผสมพันธุ์เพื่อผลิตลูกม้า การเลี้ยงดูแล การรักษาม้าป่วย การจัดการแปลงหญ้าเลี้ยงม้า การปฏิบัติงานทางห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพม้า และการนำพลาสมาจากม้าที่คัดเลือกและผ่านการฉีดกระตุ้นแล้วไปผลิตเซรุ่มแก้พิษงูและเซรุ่มป้องกันพิษสุนัขบ้า ซึ่งเป็นภารกิจหลักของสถานีฯ รวมถึงงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีการเลี้ยงสัตว์ทดลองเพื่อใช้งานทดสอบผลิตภัณฑ์เซรุ่มด้วย
นายสัตวแพทย์สุรศักดิ์ เอกโสวรรณ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองฯ กล่าวว่า “งานผลิตเซรุ่มเริ่มจากการคัดม้าที่มีสุขภาพดีปราศจากโรคมาฉีดกระตุ้นด้วยพิษงูหรือวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามที่กำหนด หลังจากนั้นจะทำการตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันในม้าเพื่อคัดเลือกม้าที่จะนำมาทำเซรุ่ม ขั้นตอนต่อไปคือการเจาะเก็บพลาสมาจากม้า การเก็บรักษาพลาสมาในห้องเย็น และการขนส่งพลาสมาไปโรงงานที่สถานเสาวภาเพื่อผลิตเป็นเซรุ่มต่อไป
ปัจจุบันสถานเสาวภามีการผลิตเซรุ่มแก้พิษงู 7 ชนิด ทั้งที่เป็นแบบแก้พิษงูชนิดเดียว (monovalent) และแก้พิษงูได้หลายชนิด (polyvalent) ในขวดเดียวกัน ได้แก่ เซรุ่มแก้พิษงูระบบประสาท (งูจงอาง งูเห่า งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา) และเซรุ่มแก้พิษงูระบบโลหิต (งูแมวเซา งูเขียวหางไหม้ งูกะปะ) สำหรับสัตว์ทดลองที่อยู่ในการผลิตของสถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองฯ ได้แก่ หนูถีบจักร (Mice) มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ทดสอบคุณภาพและความปลอดภัยของเซรุ่ม รวมถึงนำไปใช้ในงานวิจัยแขนงต่าง ๆ”
สถานเสาวภา สภากาชาดไทย มีความภาคภูมิใจที่เป็นหน่วยงานหลักของประเทศไทยในการผลิตเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เซรุ่มแก้พิษงู และผลิตภัณฑ์ยาชีววัตถุอื่น ๆ ให้เพียงพอต่อการใช้รักษาผู้ป่วยและมีคุณภาพตามหลักมาตรฐานสากล