ความรับผิดชอบของผู้นำ – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ทำใจให้กลางๆ……

            แล้วลอง ศึกษาคำพิพากษาศาลปกครองกันนะครับ

ก็อย่างที่ทราบ ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน ๓.๕ หมื่นล้านบาท

            ศาลเห็นว่า….เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สรุปแต่ละประเด็นสั้นๆ ตามนี้ครับ

—————-

            เพราะการทุจริตเกิดขึ้นในเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ

            ศาลปกครองกลาง มองว่า “ยิ่งลักษณ์” ในฐานะนายกรัฐมนตรี รับรู้เกี่ยวข้องเฉพาะขั้นตอนการทำเอ็มโอยูเพื่อให้มีการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ

            แต่ในส่วนการทำสัญญาระบายข้าวไม่ได้เกี่ยวข้อง

            ลำพัง “ยิ่งลักษณ์” ไม่มีอำนาจยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวได้

            เพราะการดำเนินการตามโครงการรับจำนำข้าวมีการดำเนินการในรูปแบบของกรรมการซึ่งจะต้องอาศัยมติที่ประชุมเสียงข้างมาก แม้ “ยิ่งลักษณ์” จะอยู่ในฐานะประธาน แต่ก็มิอาจมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ ยับยั้ง อนุมัติ เห็นชอบ หรือดำเนินการใดๆ เพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ของตนได้

            คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๔ เห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ โดยนายภูมิ สาระผล ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้น มีอำนาจและหน้าที่ในการอนุมัติ พิจารณา จัดการ ดำเนินการและตรวจสอบ

            และคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นผู้ดำเนินการเจรจาการซื้อขายข้าวตามโครงการรับจำนำของรัฐบาล

            เห็นชอบให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศนำผลการเจรจาต่อรองสุดท้ายเสนอประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวพิจารณาให้ความเห็นชอบ

            และมอบหมายให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในสัญญาซื้อขายในนามของรัฐบาลไทย

            “ยิ่งลักษณ์” มีอำนาจหน้าที่เพียงกำกับดูแลนโยบายโดยทั่วไประดับมหภาคของโครงการรับจำนำข้าว มิได้มีอำนาจหน้าที่ในการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ

            ไม่อาจที่จะรับรู้รับทราบข้อมูล การปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายของผู้กระทำผิดในระดับปฏิบัติ

            เมื่อมีการ “ทุจริต” เกิดขึ้น “ยิ่งลักษณ์” มีคำสั่งคณะกรรมการด้านนโยบายข้าว ที่ ๑/๒๕๕๖ แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อมูลปริมาณข้าวคงเหลือของ  อคส. และ อ.ต.ก. มีอำนาจหน้าที่ ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและประมูลข้าวคงเหลือของโรงสี โกดังกลางที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว

            และมีการประชุมคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการอื่นๆ  อีกหลายครั้ง มีการใช้มาตรการทางอาญากับผู้ทุจริตหรือผู้กระทำผิดควบคู่ กับการใช้มาตรการทางปกครองตัดสิทธิผู้สวมสิทธิเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว

            จึงถือได้ว่า “ยิ่งลักษณ์” มิได้เพิกเฉยละเลย

            แต่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่วิสัยและพฤติการณ์เพื่อป้องกันยับยั้งมิให้เกิดความเสียหาย ในโครงการรับจำนำข้าวแล้ว

            ขณะที่กระทรวงการคลัง ยอมรับว่าไม่มีหลักฐานแน่ชัดในการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งว่า “ยิ่งลักษณ์” เป็นผู้สั่งการทำให้เกิดความเสียหายหรือเป็นผู้มีส่วนร่วมโดยตรง

            สรุปคือศาลปกครองกลางพิพากษาว่าคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ ๑๓๕๑/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ เรื่อง ให้ชดใช้ ค่าสินไหมทดแทน เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

            “ยิ่งลักษณ์” ไม่ต้องชดใช้ ๓.๕ หมื่นล้านบาท

————–

            เมื่อคำพิพากษาออกมาเช่นนี้ประชาชนทั่วไปเกิดข้อสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น?

            เพราะคดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง พิพากษาจำคุก “ยิ่งลักษณ์” ๕ ปีไปแล้ว เมื่อเดือนกันยายน  ๒๕๖๐

            เป็นคำพิพากษาที่ปรากฏดังต่อไปนี้

————–

            …ประเด็นเรื่องการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐโดยกรมการค้าต่างประเทศขายข้าวในสต็อกของรัฐให้บริษัทกว่างตงฯ และบริษัทห่ายหนานฯ รัฐวิสาหกิจของมณฑล สาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำวินิจฉัยว่าเป็นการขายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

            เนื่องจากมีการแอบอ้างสัญญาแบบรัฐต่อรัฐเพื่อนำข้าวมาเวียนขายให้แก่ผู้ค้าข้าวภายในประเทศอันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์โดยทุจริต

            ในเรื่องนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้นำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจให้จำเลยทราบรายละเอียดและวิธีการขายที่ไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติของการขายแบบรัฐต่อรัฐ

            ตลอดจนผู้ประกอบธุรกิจค้าข้าวที่เคยเกี่ยวข้องกับการทุจริตเกี่ยวกับการค้าข้าวในอดีต และบุคคลที่เป็นผู้ช่วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคที่จำเลยสังกัดได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทนของรัฐวิสาหกิจจีนที่มาซื้อข้าว

            อีกทั้งก่อนมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจจำเลยได้ให้สัมภาษณ์ยืนว่าเป็นการขายแบบรัฐต่อรัฐจริง

            ภายหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจแม้นายบุญทรงได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ แต่องค์ประกอบคณะกรรมการล้วนแต่เป็นข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ภายใต้การบังคับบัญชาของนายบุญทรง

            และทำการตรวจสอบไม่ตรงตามประเด็นที่อภิปราย

            แสดงให้เห็นว่าไม่ตั้งใจตรวจสอบอย่างจริงจัง และจำเลยเพิ่งปรับนายบุญทรงออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๖

            ตามพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าจำเลยทราบว่าสัญญาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ระงับยับยั้งปล่อยให้มีการส่งมอบข้าวตามสัญญาให้รัฐวิสาหกิจจีนต่อไปอีก

             อันเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น การกระทำของจำเลยจึงเป็น การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

            เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗  (เดิม) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา  ๑๒๙/๑ ลงโทษจำคุก ๕ ปี.

————–

            อ่านจบ…ได้เห็นความต่างของคำพิพากษาในระดับหนึ่ง  โดยเฉพาะการตั้งกรรมการขึ้นมาสอบการทุจริต ที่จะตัดสินว่า “ยิ่งลักษณ์” ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

            ศาลปกครองระบุว่า มิได้เพิกเฉย แต่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่วิสัยและพฤติการณ์ เพื่อป้องกันยับยั้งมิให้เกิดความเสียหาย ในโครงการรับจำนำข้าวแล้ว

            ขณะที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง ที่มีคำพิพากษาออกมาก่อน ๓ ปีกว่า ระบุว่า การตรวจสอบไม่ตรงประเด็น และไม่ตั้งใจตรวจสอบอย่างจริงจัง

            เป็นความต่างที่ให้ผลลัพธ์ต่างกันอย่างสิ้นเชิง

            และเมื่อย้อนกลับไปดูกรณีศาลปกครอง ยกคำร้อง “ยิ่งลักษณ์” ยื่นขอทุเลาการยึดทรัพย์ตามคำสั่งกระทรวงการคลัง เมื่อปี ๒๕๖๑ มีตุลาการศาลปกครอง ๒ คนมีความเห็นแย้ง

            เป็นความเห็นแย้งที่ต้องถอดเป็นบทเรียน เนื่องจาก ๒  ท่านนั้น ให้เหตุผลเรื่อง “ความไม่เป็นกลาง” ของการออกคำสั่งทางปกครอง

————-

            …การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาตินำกำลังเข้ายึดอำนาจรัฐและการบริหารราชการแผ่นดินจากผู้ฟ้องคดี ยกเลิกบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับนิติธรรม จากนั้นได้พิจารณาเพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีต่อ “ยิ่งลักษณ์” จะเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่กล่าวมาเป็นข้อพิรุธทำให้เคลือบแคลงสงสัยต่อการใช้อำนาจรัฐและอำนาจทางปกครองต่อมาในภายหลัง

            ในสภาพการณ์ที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองซึ่งไม่ปกติ เพราะประเทศถูกปกครองโดยคณะบุคคลที่มีอำนาจสูงสุดซึ่งมาจากการทำรัฐประหาร โดยในการปกครองประเทศและการบริหารราชการแผ่นดินไม่มีระบบตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจที่แท้จริงตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เมื่อคณะบุคคลดังกล่าวได้ใช้อำนาจทางปกครองต่อประชาชน เกิดเป็นข้อพิพาทและนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ตุลาการศาลปกครองซึ่งทำหน้าที่ในนามศาลปกครองในฐานะองค์กรตุลาการของรัฐและมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจทางปกครองตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ต้องตระหนักและสำนึกต่อการทำหน้าที่ตุลาการเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน…

—————–

            ก็พอสรุปได้ตามนี้

            ศาลปกครองเคยยกคำร้อง “ยิ่งลักษณ์” ยื่นขอทุเลาการยึดทรัพย์ โดยตุลาการเสียงข้างน้อย ๒ ท่านไม่เห็นด้วยและมีคำวินิจฉัยเรื่องความไม่ชอบของ พล.อ.ประยุทธ์และ คสช.

            ต่อมาศาลปกครองวินิจฉัยว่า “ยิ่งลักษณ์” ไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน ๓.๕ หมื่นล้านบาท

            ครับ…กระบวนการข้างต้นนี้ถือว่าจบ แต่สิ่งที่ยังอยู่ และรออยู่ข้างหน้าคือ

            การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน ๓.๕ หมื่นล้านบาท  กระทรวงการคลังสามารถอุทธรณ์คดีได้ภายใน ๓๐ วัน

            ส่วนโทษคุก ๕ ปียังอยู่

            “ยิ่งลักษณ์” กลับมาก็ยังต้องส่งคุกทันที

            สำคัญเหนืออื่นใด คดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานในขอบเขตความรับผิดชอบของผู้นำประเทศ.

Written By
More from pp
“เอนก” ป้องคณบดีวิจิตรศิลป์ มช.ทำตามหน้าที่ เผยวิพากษ์วิจารณ์อะไรหรือใคร ไม่ว่า ไม่ปิดกั้นเสรีภาพ แต่อย่าแตะ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์
เมื่อวันที่ 25 มี.ค.64 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยกรณี รศ.อัศวิณีย์...
Read More
0 replies on “ความรับผิดชอบของผู้นำ – ผักกาดหอม”