2 เมษายน 2564 ผศ.ดร.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีทหารเมียนมากระทำการรุนแรงเข่นฆ่าประชาชนและชาวกะเหรี่ยงไทใหญ่จนบาดเจ็บล้มตาย สร้างความสะเทือนใจให้กับชาวโลกเป็นอย่างมาก
กะเหรี่ยงที่ยังมีชีวิตรอดนับพันคนหลบหนีเข้ามาในชายแดนไทยหวังรักษาชีวิต แต่กลับถูกกีดกันไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ โดยทหารไทยที่บริเวณแม่สามแลบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ตรึงกำลังกั้นแนวชายแดน ห้ามไม่ให้ผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยงข้ามแดนเข้ามา
ถือเป็นการกระทำที่สวนทางคำพูดที่สวยหรูของพลเอกประยุทธ์ ที่บอกว่าพร้อมเปิดรับผู้ลี้ภัยและดูแลเต็มที่ จึงปฏิเสธได้ยากว่าประเทศไทยไม่ใช่ผู้สมรู้ร่วมคิดการกระทำที่เข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ การผลักดันคนหนีตายให้กลับไปในแดนสงครามจึงเท่ากับไล่เขาให้ไปตาย
ทั้งนี้ในทางปฏิบัติ แม้ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาผู้ลี้ภัยปี ค.ศ.1951 และไม่มีกฎหมายว่าด้วยผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ แต่ไทยเป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารด้านประเด็นผู้ลี้ภัย (Executive Committee : ExCom) ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และยังอยู่ในภาคีกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอย่างน้อย 7 ฉบับ
ดังนั้นรัฐบาลไทยควรปฏิบัติกับชาวกะเหรี่ยงตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลเหล่านี้ โดยควรให้ที่พักพิงหรือปัจจัยสี่ตามสมควรแก่การดำรงชีวิตอยู่ หากสถานการณ์สงบลงแล้วจึงควรเนินการส่งผู้ลี้ภัยกลับถิ่นในภายหลัง
โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวต่ออีกว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ชาติที่มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งประชาคมอาเซียน อีกทั้งยังเคยเป็นประธานอาเซียนมาก่อน แต่ท่าทีของไทยต่อสถานการณ์ในเมียนมาซึ่งเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันกลับไม่ชัดเจนแม้กระทั่งในเรื่องมนุษยธรรมขั้นพื้นฐานที่ควรกระทำ ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง
จึงอยากขอร้องให้พลเอกประยุทธ์เห็นคุณค่าของชีวิตคนให้เท่ากัน โดยขอให้ดูแลผู้ลี้ภัยจากเมียนมาทันที ภายใต้การดูแลป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเข้มข้นและอย่าให้เกิดปัญหาซ้อนปัญหาตามมาภายหลัง
“สิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาขณะนี้คือสงคราม เหตุใดเพื่อนบ้านอย่างไทย จึงสนับสนุนอุ้มชูทหาร แต่นิ่งเฉยดูดายกับการเข่นฆ่าประชาชน เหตุการณ์ในครั้งนี้จะเป็นการวัดระดับความเป็นมนุษย์ วัดระดับสติปัญญาและความสามารถในการบริหารจัดการปัญหาระหว่างประเทศของพลเอกประยุทธ์ได้เป็นอย่างดี” ผศ.ดร.อรุณี กล่าว