วันนี้ เวลา 11.00 น. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางไปยัง สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ อีกครั้ง เพื่อให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนและยื่นพยานหลักฐานเพิ่มเติม กรณีที่เคยมาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้ที่นำธงชาติไทยแต่ไร้แถบสีน้ำเงินมากระทำการในลักษณะไม่สมควร เมื่อวันที่ 14 มีนา 64 และบริเวณคณะวิจิตรศิลป์ มช.ตามพระราชบัญญัติธง พ.ศ.2522 โดยมีนักแสดงหญิงชื่อดังที่ทำตัวเป็นท่อน้ำเลี้ยงพ่วงอยู่ด้วยนั้น
ซึ่งการนำธงชาติไทย หรือธงไตรรงค์มาแสดงเป็นสัญลักษณ์ แต่ไม่มีแถบสีน้ำเงิน โดยมีการขีดเขียนข้อความและหรือถ้อยคำสบถต่างๆ ในลักษณะลบหลู่ เหยียดหยามและดูหมิ่นนั้น เป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงการกระทำความผิดตาม พรบ.ธง 2522 ในหลายมาตรา อาทิ ม.51 ม.53 ที่บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด อาทิ ประดิษฐ์รูป ตัวอักษร ตัวเลข หรือเครื่องหมายอื่นใดในผืนธง ใช้ ชัก หรือแสดงธง รูปจำลองของธง หรือในแถบสีของธง อันมีลักษณะโดยไม่สมควร ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
นอกจากนั้นใน ม.54 ยังบัญญัติต่อไปว่า ผู้ใดกระทำการใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการเหยียดหยามต่อธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีธงที่ได้บัญญัติกำหนดลักษณะไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่กำหนดในกฎของกระทรวง ซึ่งออกตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และที่สำคัญ คือ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.118 ได้บัญญัติข้อห้ามไว้ว่า ผู้ใดกระทำการใดๆ ต่อธงหรือเครื่องหมายอื่นใดอันมีความหมายถึงรัฐ เพื่อเหยียดหยามประเทศชาติ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรณีที่เกิดขึ้น มีผู้ที่มีสมรู้ร่วมคิดในการดำเนินการดังกล่าวหลายคน ทั้งหัวดำ หัวหงอกทั้งนักศึกษา และผู้ที่อ้างว่าเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ไม่อาจทนดูพฤติกรรมของผู้ที่นำธงของชาติไทยมาลบหลู่ ดูหมิ่น และใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อไปได้ จึงนำพยานหลักฐานมามอบให้กับพนักงานสอบสวน สภ.ภูพิงค์ราชนิเวศน์เพิ่มเติม เพื่อตอกย้ำถึงความผิดของผู้ที่สมรู้ร่วมคิดในการผู้ที่จัดทำธงดังกล่าวอย่างไม่เหมาะสม ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.83 ที่บัญญัติว่า “ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น”
นอกจากนั้น ผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมและร่วมกิจกรรมดังกล่าว ต้องถือว่าเป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิด ตาม พรก.ฉุกเฉิน 2548 และ พรบ.โรคติดต่อ 2558 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ม.116 และ ม.215 อีกด้วย นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด