29 มีนาคม 2564 เวลา 11.00 น.นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำยุติธรรม พร้อมด้วยนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดี กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และคณะรับเรื่องร้องขอความเป็นธรรมจากผู้เสียหาย กรณีถูกหลอกลวงให้ร่วมลงทุนกับ Credit Global ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 2 อาคารกระทรวงยุติธรรม
Credit Global อ้างว่าเป็นองค์กรสินเชื่อระดับโลก โดยเป็น แพลตฟอร์มออนไลน์จากประเทศจีน เพื่อให้ธนาคารต่างๆ กู้ยืมเงิน ไปชำระหนี้บัตรเครดิต ทั้งหนี้เสีย และหนี้ปกติที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาเเล้ว3 ปี มีความปลอดภัยเเละเชื่อได้ สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ลงทุน ตั้งแต่ 20 บาท – 2,115 บาทต่อวัน จึงทำให้มีผู้เสียหายหลงเชื่อ กว่า 1,000 คน มูลค่าความเสียหาย ในเบื้องต้น กว่า 63 ล้านบาท
“การแก้ปัญหาแชร์ลูกโซ่ ต้องดำเนินการเช่นเดียวกับป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือ แยกผู้ป่วยออกมารักษา เพื่อมิให้ออกมาแพร่เชื้อโรคไปสู่ผู้อื่น กล่าวคือ ต้องสกัดกั้นไม่ให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อไปหลอกลวงเหยื่อรายใหม่ให้เข้าไปสู่วังวนแชร์ลูกโซ่
ซึ่งรัฐบาล โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการแก้ปัญหาแชร์ลูกโซ่อย่างเป็นระบบ โดยกำหนดให้ปัญหาแชร์ลูกโซ่เป็นวาระแห่งชาติ และเป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการฉ้อโกงประชาชน การลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมาย และขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามแชร์ลูกโซ่ เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินขั้นตอนที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
เพราะที่ผ่านมาผู้เสียหายบางรายยอมเป็นหนี้บัตรเครดิต หรือ หนี้นอกระบบ เพื่อนำเงินมาลงทุน แล้วต้องทนทุกข์กับความเสียหายด้วยความหวังที่รางเลือนว่าจะได้รับทรัพย์สินของตนเองกลับคืนมา โดยขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการสอบถามความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานกฤษฎีกา โดยมีนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็น
เจ้าภาพในการรวบรวม ซึ่งเป็นไปตามบัญชาของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตามหนังสือสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ นร 0404/8482 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2563 เรื่องร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน (ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ พ.ศ. ….) “นายสามารถกล่าว
นอกจากนี้ มาตรการป้องกันก่อนที่จะมีความเสียหายเกิดขึ้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งที่ผ่านมา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้มอบนโยบายยุติธรรมเชิงรุก สร้างสุขให้ประชาชน โดยเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงยุติธรรมสร้างชุดความรู้เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการถูกชักชวนให้ลงทุนในธุรกิจที่อ้างว่าให้ผลตอบแทนสูง และหากเกิดความเสียหายขึ้นแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องบูรณาการการทำงานอย่างเป็นระบบเพื่อติดตามทรัพย์สินกลับคืนให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด
ซึ่งในเรื่องนี้ได้มอบหมายให้นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการป้องกัน และปราบปรามการกระทำความผิดอันเกิดจากการฉ้อโกงประชาชนในลักษณะแชร์ลูกโซ่ ดำเนินงานเชิงรุกเพื่อติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย คู่ขนานไปกับ นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการติดตาม และเร่งรัดการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการกระทำความผิดอันเกิดจากการฉ้อโกงประชาชนในลักษณะแชร์ลูกโซ่
ในการติดตามทรัพย์สินกลับคืนให้กับผู้เสียหายโดยด่วน รวมทั้ง การเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ ทั้งหนี้ของสถาบันการเงินและหนี้นอกระบบ เพราะความเดือดร้อนของประชาชนเป็นสิ่งที่รอช้าไม่ได้ โดยในเบื้องต้น จะประสาน ส่งข้อมูลให้กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาตามหลักเกณฑ์การเป็นคดีพิเศษ
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสาร ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม หรือปรึกษาผู้ที่มีความรู้ หรือสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะทำการลงทุนใดๆเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายลุกลามในวงกว้าง และหาก ตกเป็นเหยื่อของแสงโซ่แล้วขอให้ ตั้งสติ รวบรวมพยานหลักฐานให้ชัดเจน ทั้งในส่วนของเอกสารการโอนเงินเอกสารชักชวน การเสนอผลตอบแทน ความเคลื่อนไหวของบัญชีธนาคาร และรวบรวมไป แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดี ทั้งนี้ประชาชนสามารถแจ้งข้อมูลเบาะแสผ่านสายด่วนกระทรวงยุติธรรม โทร.1111 กด 77 โทร. ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง