กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เผยอัตราการเกิดของเด็กเกิดก่อนกำหนดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อวัยวะของทารกพัฒนาได้ไม่เต็มที่ จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์และพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อช่วยให้ทารกรอดชีวิตและมีความพิการหลงเหลือน้อยที่สุด
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 17 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันทารกเกิดก่อนกำหนด กรมการแพทย์ได้ให้ความสําคัญกับการดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กทารกแรกเกิดทุกราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทารกเกิดก่อนกำหนด ซึ่งเป็นทารกกลุ่มเสี่ยงและเป็นสาเหตุของการตายในทารกแรกเกิด
แม้ว่าปัจจุบันยังมีข้อจํากัดด้านทรัพยากรในการดูแลผป. กลุ่มนี้ อาทิ หอผู้ป่วยวิกฤตทารกแรกเกิดมีไม่เพียงพอ และอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์หรือ โรงพยาบาลทั่วไปขนาดใหญ่เท่านั้น จำนวนบุคลากรที่ต้องมีความชำนาญการและทักษะเฉพาะในการดูแลทารกเกิดก่อนกำหนดทั้งในส่วนของกุมารแพทย์และพยาบาลไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนผป.ทารกวิกฤตที่ต้องดูแล ส่งผลต่อคุณภาพการดูแลรักษาทารกหรือมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการส่งต่อทําให้ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานานขึ้น รวมทั้งค่ารักษาพยาบาลโดยรวมของครอบครัวและของประเทศสูงขึ้น
เพื่อให้การดูแลทารกแรกเกิดที่มีภาวะวิกฤตนั้นเกิดความปลอดภัยสูงสุด กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดให้มีแผนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขาทารกแรกเกิด เพื่อเพิ่มศักยภาพของบุคลากรในการดูแลทารกแรกเกิดที่มีภาวะวิกฤตให้มีคุณภาพ พัฒนาระบบการส่งต่อที่ได้ประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่อง รวมทั้งวางแผนจัดสรรทรัพยากรต่างๆให้เพียงพอ ได้มาตรฐานบริการ แนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้น สามารถช่วยพัฒนาระบบการบริหารจัดการในการให้บริการและพบว่าอัตราการตายทารกแรกเกิดค่อยๆลดลงทุกปี
นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวต่อว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดก่อนกำหนดเกิดได้ทั้งจากมารดา รก และตัวทารกในครรภ์เอง ปัจจัยจากมารดา ได้แก่ การตั้งครรภ์แฝด โรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือมีภาวะติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ ติดเชื้อในช่องคลอด ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หรือ มีภาวะน้ำเดินก่อนกำหนดก็จะเป็นการกระตุ้นทำให้เกิดการเกิดก่อนกำหนดได้ ปัจจัยของทารกในครรภ์ คือ เด็กในครรภ์มีความผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด เช่น โรคทางพันธุกรรม ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์
คุณพ่อคุณแม่และครอบครัวสามารถมีส่วนช่วยในการดูแลทารกเกิดก่อนกำหนดได้ โดยการให้นมแม่ ซึ่งทีมแพทย์และพยาบาลจะเริ่มให้นมแม่ทันทีที่ทารกมีอาการคงที่ ข้อดีของนมแม่คือย่อยง่ายและมีภูมิต้านทานโรค ลดการติดเชื้อในกระแสเลือดและภาวะลำไส้อักเสบรุนแรง รวมถึงลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลอีกด้วย
นอกจากนี้ ดวงตา จอประสาทตาและสมองของทารกเกิดก่อนกำหนดยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ จึงต้องได้รับการตรวจประเมินพัฒนาการและจอประสาทตาเป็นระยะโดยกุมารแพทย์และจักษุแพทย์ อย่างสม่ำเสมอ