รื้อวัดทำสถานีรถไฟฟ้า – เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

เห็นข่าวรฟม. “รื้อวัด” ทำสถานีรถไฟฟ้าแล้วตกใจ!
วันนี้ ขอคุยหน่อย
วัดที่ว่านี้คือ “วัดเอี่ยมวรนุช” ตรงสี่แยกบางขุนพรหม พื้นที่วัดมีซัก ๒ ไร่ ถึงหรือเปล่าก็ไม่รู้?
แต่รฟม.ก็ยังเวนคืน ทั้งที่มีเท่ากระแบะมือ รื้อกำแพง ทุบมณฑปหลวงพ่อทวด ทุบเจดีย์ ศาลา และฯลฯ
เอาไปทำ “สถานีบางขุนพรหม” ของรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้!

กับวัดเอี่ยมวรนุช การ “เวนคืน” ไม่ต่างการ “รื้อวัด” แค่ที่เฉือน ก็เกือบ “ครึ่งวัด” ไปแล้ว

ยังดีที่เหลือโบสถ์กับกุฎิ ๒-๓ หลังไว้ให้ ถ้ารฟม.ไม่ยอมกลับใจ ก็คงได้บันทึก เมืองไทย-เมืองพุทธ รื้อวัดทำสถานีรถ
จะเอากันขนาดนี้เลยหรือ…ท่านนายกฯ?

ขอพึ่งท่านซักครั้งเถอะ
เพราะไม่รู้จะไปร้องทุกข์กับเทวดาที่ไหนแล้ว สงสารทั้งพระ เห็นใจทั้งชาวบ้าน ที่ผูกพันกับวัดมาเป็นศตวรรษ

ถ้าวัดมีเนื้อที่เป็น ๑๐-๒๐ ไร่ ก็ว่าไปอย่าง
แต่นี่ มีเท่าแมวดิ้นตาย ก็ยังจะไปเป็น “มารผจญ” เฉือนที่วัด สร้างสถานีรถประชิดโบสถ์

ถามจริงๆ เถอะ ผู้บริหารรฟม.พวกคุณเกิดมาจากไหน ถึงได้ทำกันขนาดนี้?

วัดเอี่ยมฯ อยู่คู่มากับกรุงเทพฯ สองร้อยกว่าปี มีประวัติร่วมสมัยหลายอย่าง
การ “รื้อวัดทำสถานีรถ” แบบนี้หรือที่เรียก “ความเจริญ”?

ขอพึ่งบารมีนายกฯ ช่วยพิจารณาทบทวน-แก้ไขด้วยเถิด!

ผมผูกพันกับวัดเอี่ยมฯ พอสมควร ท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน “พระมหาคำนึง น้ำใจดี” ท่านใจดีสมนามสกุลเป็นที่ประจักษ์ญาติโยมรอบวัด

ตอนเป็นเณร ผมกับท่าน เดินจากวัดบางจะเกร็ง ย่านดอยหอยหลอด แม่กลอง ไปเรียนหนังสือ “วัดหลวงพ่อบ้านแหลม” ด้วยกัน ไป-กลับ วันละ ๑๒ กิโล

ท่านเคร่งในศีลและเอาถ่านในการเรียน
ส่วนผมเกกมะเหรก เอาแต่ขี้เถ้า ครบบวช-ท่านบวช ส่วนผม “บุญไม่ถึง” ออกไปผจญบาป

ท่านจบเปรียญธรรม ๗ ประโยค จบพุทธศาสตรบัณฑิต มหาจุฬาฯ และไปต่อโท ที่อินเดีย

กลับมาสอนที่มหาจุฬาฯ และเป็นเจ้าอาวาสต่อจากเจ้าอาวาสวัดเอี่ยมฯ องค์เดิม ที่มรณภาพ

ตลอดชีวิตท่าน “เกือบ ๘๐ ปี” มีช่วงเด็กไม่ถึง ๑๐ ปีที่เป็นฆราวาส นอกนั้น ท่านครองสมณเพศเคร่งครัดถึงทุกวันนี้

ข่าวบอก “ท่านแทบช็อก”….
เมื่อทราบรฟม.มาตอกหมุด ขีดพื้นที่ เฉือนที่วัดไปขนาดนั้น ซึ่งไม่เป็นไปตามที่เคยพูดจากัน

เป็นใครก็ช็อก ถ้าเห็นสภาพพื้นที่วัดเอี่ยมฯ เพราะ “นิดเดียว” จริงๆ เมื่อรฟม.ถือในอำนาจมาเฉือนเอาไป
อนาคตที่เป็น สภาพวัดก็ไม่ต่าง “ศาลาริมทาง” สถานีรถไฟฟ้า”!

รื้อวัดแล้วยังรื้อ “มณฑปหลวงพ่อทวด” ทิ้งด้วย ช่างกล้านะ ผมก็อยากเห็นเหมือนกัน สมมติดันทุรังรื้อจริงๆ

“คนสั่งรื้อ-คนรื้อ” จะมีจุดจบอย่างไร?

ผมไปทำบุญทุกปี อย่างน้อย “ปีละครั้ง” ไปก็ไปไหว้พระประธานในโบสถ์ ไปกราบหลวงพ่อทวด

ถ้าแบบนี้ ปีหน้า ๖๕ คงไม่มีให้กราบแล้ว รฟม.คงรื้อไปเหี้ยน!

ทำไม “หลวงพ่อทวด” จึงมีที่วัดเอี่ยม มีความเชื่อมโยงอะไรกับหลวงพ่อทวดที่ “วัดช้างให้” ปัตตานี?

ตรงนี้ มีเรื่องต้องคุยกัน …….
แต่ก่อนไปถึงตรงนั้น ขอแวะนิด คือถ้าใครเคยไปวัดเอี่ยม เข้าประตูปุ๊บ จะเห็นพระพุทธรูปยืนองค์หนึ่งอยู่ด้านผนังโบสถ์
ชาวบ้านตั้งชื่อว่า “พระบาง” ร่ำลือว่าขลัง ศักดิ์สิทธิ์นัก!

ผมไม่ได้มาเล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ แต่อยากบอกว่า ผมนี่แหละ ชักนำให้นำมาประดิษฐานอยู่ที่นี่

คือช่วงปี ๒๕๒๕-๒๕๒๗ จำไม่ค่อยได้ ตอนนั้น ผมอยู่ไทยรัฐ เข้าเวรคืนหนึ่ง นักข่าวนครสวรรค์โทรทางไกลมาบอก
ชาวบ้านอยากให้เอาพระพุทธรูปองค์หนึ่งออกไปให้พ้นหมู่บ้าน อ้างว่า ตั้งแต่พระพุทธรูปองค์นี้มาอยู่ที่วัด ฝนไม่ตก แห้งแล้งมาก จะแห่เอาไปทิ้ง
ถามผม จะทำไงดี ให้เอาไปไว้ที่วัดไหนได้บ้างไหม?

ผมก็ไม่รู้จักวัดไหน นึกถึงพระมหาคำนึง “เพื่อนสมัยเณร” ได้ ก็วานคุณประกิต หลิมสกุล ที่เข้าเวรด้วยกัน โทรไปปรึกษาท่านเจ้าอาวาสวัดเอี่ยม

ท่านให้เอาไปไว้ที่วัดท่าน ก็ประดิษฐานดังเห็นทุกวันนี้ ไปทีไร ผมก็ยืนสวดมนต์ตรงหน้าท่าน เรียกว่าปีละครั้ง

นักข่าวนครสรรค์คนนั้น เสียชีวิตไปนานแล้ว ไม่ทราบเหมือนกันว่า เมื่อพระบางจากพื้นที่ไปแล้ว หายแล้งหรือไม่

แต่ที่แน่ๆ “ใจคน” น่ะ แล้งแน่!

ทีนี้ พูดถึงความเป็นมา วัดเอี่ยมวรนุช เกี่ยวพันอะไรกับ “หลวงพ่อทวด” บ้าง?

ตอนปี ๒๕๐๕-๐๖ พระมหาคำนึงย้ายจากแม่กลองมาอยู่วัดเอี่ยม ความที่วัดเล็ก เห็นกันหมด ผมไปหามหาคำนึงก็เห็นกุฎิท่านเจ้าอาวาส

ท่านเป็นคนใต้ ช่วงนั้น วัดประสาทบุญญาวาส ย่านสามเสน แถวๆ โรงพยาบาลวชิระ กำลังสร้างโบสถ์หลังใหม่ แทนหลังเดิมที่ถูกไฟไหม้ไป ๔-๔ ปีก่อน

“พระอาจารย์ทิม” วัดช้างให้ เอ่ยแค่นี้ ทุกท่านคงทราบ ท่านเป็นผู้สร้างพระ “หลวงพ่อทวด” รุ่น ๒๔๙๗ เป็นรุ่นแรก

ท่านเดินทางจากปัตตานีมาพักที่วัดเอี่ยมวรนุช พักอยู่กุฏิเดียวกับที่เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันจำพรรษาอยู่นี่แหละ

ท่านมาทำไม…
เกี่ยวพันไปถึงวัดประสาทบุญญาวาส อยากให้อ่านนี่ ขออนุญาต www.phangpra.com นำบางส่วนตีพิมพ์นะ

ประวัติความเป็นมาของวัดประสาทบุญญาวาสนั้น สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. ๒๓๗๖ ได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙

ขณะนั้น มีชื่อวัดว่า วัดคลองสามแสน เพราะอยู่ใกล้คลองสามแสน (ปัจจุบันเรียกคลองสามเสน) ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดขวิด เพราะมีต้นมะขวิดอยู่ด้านข้างอุโบสถขนาดใหญ่ ๒ ต้น

ประมาณ พ.ศ.๒๔๙๘ เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่เสนาสนะหลายหลังพร้อมทั้งอุโบสถ์หลังเดิมก็ถูกไฟไหม้เสียหายไปส่วนหนึ่ง
เจ้าอาวาสขณะนั้นคือ พระครูสมุห์อำพล พลวฑฺฒโน จึงมีความคิดที่จะสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้นมาแทนที่หลัง
เดิม

ซึ่งความคิดนี้ได้สัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับหลวงปู่ทวดคือในคืนหนึ่ง “พระอาจารย์ทิม” เจ้าอาวาสวัดช้างให้ ได้นิมิตถึงหลวงปู่ทวด

โดยท่านบอกให้พระอาจารย์ทิมไปช่วยบูรณะวัดที่ กรุงเทพฯ เนื่องจากถูกไฟไหม้
พระอาจารย์ทิมจึงได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯเพื่อสืบข่าวว่านิมิตดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่
โดยเข้าพักที่ “วัดเอี่ยมวรนุช” และได้รับการยืนยันว่า “มีวัดที่ชื่อวัดประสาทบุญญาวาส ถูกไฟไหม้จริง”

วันรุ่งขึ้น ท่านจึงเดินทางไปที่วัดประสาทบุญญาวาส เพื่อปรึกษาหารือกับพระครูสมุห์อำพลในการบูรณะพระอุโบสถวัดประสาทบุญญาวาสขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

ซึ่งตรงกับใจพระครูสมุห์อำพลพอดี และมีความคิดเห็นตรงกันว่า น่าจะสร้างวัตถุมงคลขึ้นมาเพื่อเป็นของสมนาคุณแก่ผู้ที่มาทำบุญ

ดังนั้น ทั้งสองท่านจึงได้แบ่งงานกันทำ โดยทั้งสองท่านต่างก็ไปรวบรวมมวลสาร และนิมนต์พระเกจิอาจารย์ที่ทั้งสองท่านพอจะไปนิมนต์มาได้

ต่อมา “พระอาจารย์ทิม” เจ้าอาวาสวัดช้างให้ ได้นำพระหลวงปู่ทวดรุ่นหลังตัวหนังสือปี พ.ศ.๒๕๐๕ มามอบให้เพื่อถอดเป็นแม่พิมพ์และ

มอบมวลสารพระหลวงปู่ทวดรุ่นแรกปี ๒๔๙๗ พร้อมว่านแร่ดินกากยายักษ์มาให้วัดประสาทบุญญาวาส เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในการสร้างพระหลวงปู่ทวดอีกด้วย …..ฯลฯ”

ไปคลิกเว็บ www.phangpra.com อ่านรายละเอียดซึ่งมีมากกว่านี้เอานะครับ
นี่ผมยกมาเพียงเพื่อให้รู้ “พระอาจารย์ทิม” ผู้สร้างพระหลวงพ่อทวด เคยมาพักอยู่วัดเอี่ยม

ฉะนั้น จึงหมดสงสัย ว่ามณฑป “หลวงพ่อทวด” มีอยู่ที่วัดเอี่ยมวรนุชได้อย่างไร?

ตอนนั้น ผมยังไม่ประสา เห็นคนคึกคักที่กุฎิเจ้าอาวาส จึงไม่รู้ความ ไม่งั้น เข้าไปกราบพระอาจารย์ทิม เผลอๆ อาจได้ หลวงพ่อทวด ๒๔๙๗ มาซักองค์ก็เป็นได้

มณฑป “หลวงพ่อทวด” วัดเอี่ยมวรนุช……
สัมพันธ์กับ “พระอาจารย์ทิม” และ “พระอาจารย์นอง” วัดทรายขาว ต้นตำรับผู้สร้างพระ “หลวงพ่อทวด” มาถึงทุกวันนี้ ก็เป็นเช่นนี้

แต่….
รฟม.จะทุบทิ้ง “เอาที่ทำสถานีรถ” ในอีกไม่กี่วันซะแล้ว
ท่านนายกฯ โอเค.หรือครับ?

Written By
More from plew
ไม่ให้บทเรียนก็ไม่รู้สึก – เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน ซื่อสัตย์ กตัญญู มั่นคง ธำรงชาติ คือเครื่องหมายของคนดี เมื่อวาน(๑๒ กพ.๖๗)ที่ “หอประชุมโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า” นครนายก ส่วนราชการ...
Read More
2 replies on “รื้อวัดทำสถานีรถไฟฟ้า – เปลว สีเงิน”
  1. says: Tawatchai Chongvutichai

    ป๋าเปลวครับ
    อันนี้ ตาม EIA ครับ
    สถานีบางขุนพรหมซึ่งเป็นสถานีที่อยู่ใต้ดินวางตามแนวถนนสามเสน มีทางขึ้นลง 4ด้านคือ
    1.บริเวณพื้นที่หน้าวัดเอี่ยมวรนุช ใกล้สี่แยกวิสุทธิกษัตริย์
    2.บริเวณพื้นที่ปั๊มปตท.ตรงข้ามวัดสามพระยา
    3.บริเวณพื้นที่โรงพิมพ์ศรีหงส์ และ
    4.บริเวณพื้นที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยถนนวิสุทธิ์กษัตริย์

    ในรายงานอีไอเอที่ผ่านความเห็นชอบแล้วไม่มีการระบุว่าต้องมีการเวนคืนพื้นที่ของวัดเอี่ยมวรนุชแต่อย่างใดเพียงแต่บอกว่าทางขึ้นลงจากสถานีใต้ดินขึ้นมาจะอยู่ด้านหน้าของวัดเอี่ยมวรนุชเท่านั้น

    เนื่องจากรายงานอีไอเอเป็นถือเงื่อนไขกฎหมายตามพรบ.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535และพ.ศ.2561 ดังนั้นรฟม.จึงต้องปฎิบัติตามทุกประการ..

    การปักหมุดเป็นการปักเพื่อวัดระยะครับ

    1. says: pp

      #แอดมิน นำข้อมูลเรียนคุณเปลวให้ทราบเรียบร้อยแล้วค่ะ

Comments are closed.