วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงข่าวความก้าวหน้าล่าสุดของการพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และความพร้อมในการทดสอบในอาสาสมัคร
นายอนุทิน กล่าวว่า ตนและกระทรวงสาธารณสุข พร้อมสนับสนุนโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของจุฬาฯ ในทุกวิถีทาง เพื่อให้ประสบความสำเร็จโดยเร็วที่สุด ให้คนไทยปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเพื่อส่งเสริมฐานที่แข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขของประเทศเรา ให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น จากการที่สามารถผลิตวัคซีนได้ในประเทศ ถึงแม้จะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจุฬาฯ แต่ก็มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเห็นโครงการฯ ประสบความสำเร็จ พร้อมให้ความช่วยเหลือสนับสนุนในทุกด้านที่ได้รับการร้องขอ เปรียบเสมือนทีมเดียวกัน
ที่สำคัญ นี่คือเครื่องพิสูจน์ ว่า ไทยไม่ได้แทงม้าแค่ตัวเดียว แต่เราพยายามทำทุกทางอย่างเหมาะสม เพื่อให้ไทย ได้วัคซีนโควิด-19 ได้เร็วที่สุด และต้องปลอดภัยที่สุด กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับเรื่องวัคซีนมาก มิได้เพิกเฉย เหมือนที่ฝ่ายการเมืองนำมาวิพากษ์วิจารณ์ เพราะตั้งแต่ได้ยินคำว่าโควิด-19 ครั้งแรก ก็นึกถึงในหัวคือ วัคซีน จะต้องหามาให้ได้ และเชื่อมั่นในศักยภาพของระบบการแพทย์ไทยว่าวันหนึ่งเราจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนในประเทศ
ไทยต้องยืนบนขาตัวเอง ไม่แทงม้าตัวเดียว แต่เราจะเป็นเจ้าของคอกม้า ที่ผ่านมาประเทศไทย พยายามปรับใช้ประสบการณ์ เพื่อรับมือกับสถานการณ์การระบาด ณ ปัจจุบัน ไทยมีความสามารถในการผลิตอุปกรณ์ป้องกันได้เอง อาทิ หน้ากากอนามัย ชุดป้องกันส่วนบุคคล(PPE) รวมถึงยารักษาด้วย ปัจจุบัน ไทยมีวัคซีนโควิด-19 ในมือแล้ว 63 ล้านโดส และในอนาคต หวังว่าจะมีวัคซีนที่ผลิตในประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความก้าวหน้าล่าสุดของการพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ล่าสุด ผ่านการทดลองในหนูและลิง สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในระดับสูง และกำลังจะเข้าสู่การทดลองในคนระยะที่ 1
เบื้องต้น วัคซีนของจุฬาฯ สามารถเก็บในอุณหภูมิตู้เย็นปกติคือ 2-8 องศาเซลเซียส และอย่างน้อย 1 เดือน ขณะนี้กำลังรอผลวิจัยที่ 3 เดือน ดังนั้นการขนส่งกระจายวัคซีนไปยังต่างจังหวัดทั่วประเทศจึงสามารถทำได้อย่างสะดวก
ทั้งนี้ คาดว่าจะผลิตเสร็จเพื่อนำมาทดลองในอาสาสมัครได้ประมาณต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ขณะเดียวกันก็กำลังเตรียมการพัฒนารุ่น 2 เพื่อทดสอบในหนูทดลองเพื่อรองรับเชื้อดื้อวัคซีนในอนาคตเพราะเนื่องจากมีเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กำลังระบาดในหลายประเทศ และบางสายพันธุ์ ซึ่งวัคซีน mRNA มีจุดเด่นคือสามารถออกแบบวัคซีนรุ่นที่ 2 เพื่อตอบโต้เชื้อดื้อวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว