วิธีดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในช่วงโควิด-19 ระบาด

Elderly woman with caregiver in the needle crafts occupational therapy for Alzheimer’s or dementia

ในสถานการณ์ปกติ ทุกคนสามารถใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามใจปรารถนา แต่ในช่วงเวลาที่โควิด-19 ระบาดและการใช้ชีวิตแบบ New Normal เราทุกคนต่างถูกจำกัดกรอบการใช้ชีวิตให้อยู่แต่ในบ้าน โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้สูงอายุที่มีสภาวะสมองเสื่อมอย่างผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ซึ่งต้องการการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษด้วยแล้ว ทำให้ผู้ที่ต้องดูแลผู้สูงอายุต้องปรับสภาพจิตใจเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการเอาใจใส่ “เขา” และการเอาใจใส่ “เรา” ด้วย

ศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์ รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ ให้คำแนะนำในเรื่องการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในช่วงโควิด-19 ระบาดว่า ลูกหลานในบ้านเปรียบเสมือนพื้นที่เชิงบวกในฐานะ“คนรู้ใจ” ของผู้สูงอายุ การดูแลให้ผู้สูงอายุได้รับปัจจัย 4 ครบถ้วนนั้นไม่เพียงพอ เพราะเมื่อคนเราอายุมากขึ้นมักเกิดความเจ็บป่วยทางกายหลายโรค ซึ่งไม่ส่งผลเฉพาะสุขภาพร่างกายเท่านั้น แต่ด้านจิตใจก็อาจได้รับผลกระทบ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต้องการการเติมเต็มความใส่ใจห่วงใยการเป็นที่รักจากลูกหลาน

ศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา ให้ข้อมูลว่าผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ เซลล์สมองจะถูกทำลาย ทำให้สมองไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ   สิ่งที่ค่อยๆ สูญเสียไปเรื่อยๆ เช่น ความจำระยะสั้นเสียไป ความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และการพึ่งพาตนเองลดลง ในขณะเดียวกันก็จะมีมุมลบที่ชวนให้คนถอยห่างเพิ่มขึ้น เช่น อารมณ์แปรปรวน ก้าวร้าว  ครอบครัวผู้ดูแลจึงต้องคอยสังเกต “ความสุข” ของผู้สูงอายุ ผู้ใกล้ชิดต้องตระหนักรู้และเท่าทันพฤติกรรมด้านลบต่างๆ ที่เกิดขึ้น ลดความคาดหวังในการอยู่ร่วมกันและเพิ่มโอกาสเพื่อให้ผู้สูงอายุรู้สึกผ่อนคลายและอบอุ่นหัวใจ เมื่อมีโอกาสหรือจังหวะที่ผู้สูงอายุเปิดใจ ก็ค่อยๆ บอกกล่าวถึงความหวังดี ความห่วงใยที่ลูกหลานมีให้ท่าน ด้วยการเลือกใช้ถ้อยคำที่สื่อถึงความรักและพูดให้บ่อยครั้งสม่ำเสมอ

“ทีมวิจัยจากคณะจิตวิทยา จุฬาฯ ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับผู้สูงอายุและชุมชนใน “โครงการจุฬาอารี” ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าถ้อยคำดีๆ ที่ลูกหลานและคนรอบข้างพูดกับผู้สูงอายุเป็นสื่อสำคัญในการเชื่อมใจถึงใจ เช่น ซื้อของมาให้นะ เอาบุญมาฝาก วันนี้แต่งตัวสวยจัง กินยาด้วยนะ เป็นต้น นอกจากนี้สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติต่อผู้สูงอายุ เช่น ชักสีหน้า  แสดงท่าทีหงุดหงิด แสดงความไม่สนใจ” ศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา กล่าว

สำหรับผู้ดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ นอกจากการเป็นสิ่งแวดล้อมที่สร้าง “ความมั่นคงทางใจ” ให้ผู้สูงอายุแล้ว ผู้ใกล้ชิดก็ต้องดูแลใจของตนเองด้วย ซึ่งสามารถทดสอบตัวเองง่ายๆ ด้วยกิจกรรมเพิ่มสมรรถภาพความฟิตกายและใจทั้ง 5 ข้อ หากตอบว่าใช่ทุกข้อแสดงว่าท่านมี “ทุนทางใจ” ที่ดี

  1. เดินและ/หรือออกกำลังกายสม่ำเสมอบ้างหรือไม่
  2. รับประทานอาหารที่เหมาะกับสุขภาพใจ เน้นผัก ผลไม้ ถั่วเหลือง ลดคุกกี้ ขนมปังขาวให้น้อยลงบ้างหรือไม่
  3. หายใจเอาความเครียดออกไปด้วยท้องแบบผ่อนคลาย / การผ่อนคลายกล้ามเนื้อบ้างหรือไม่
  4. การรักษามิตรภาพและเครือข่ายกัลยาณมิตรบ้างหรือไม่
  5. การได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติสีเขียวบ้างหรือไม่

ในสถานการณ์โควิด-19 อาจมีเรื่องที่น่ากังวลใจและสะสมความเครียด ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยควรเตือนตัวเอง  ควรลดละเลิกการได้รับข่าวสารและการใช้โซเชียลมีเดียมากเกินไปในแต่ละวัน มีเวลาสำหรับสิ่งที่ต้องทำเป็นกิจวัตร ให้เวลาผ่อนคลายตัวเองบ้าง สุดท้ายหากเกิดความเครียด ความไม่สบายใจ ลองทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

  1. ตระหนักรู้ : สังเกตและรับรู้ถึงความเครียดของตนเอง
  2. 2. หยุด : ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น แค่หยุดนิ่งแล้วหายใจลึกๆ
  3. 3. ดึงตัวเองกลับมา : บอกตัวเองว่าเป็นแค่ความกังวลเป็นแค่ความคิดและความรู้สึกชั่ววูบอย่าเชื่อทุกอย่าง ที่ตนคิดเพราะความคิดไม่ใช่คำยืนยันหรือข้อเท็จจริง
  4. 4. ปล่อยมันไป : ปล่อยความคิดความกังวลให้ผ่านไปไม่ต้องไปตอบโต้มัน
  5. 5. สำรวจ : อยู่กับปัจจุบัน ฝึกดูลมหายใจของตนเอง สังเกตพื้นที่ที่ยืนอยู่ มองไปรอบๆ ตัว จากนั้นค่อยเปลี่ยนความสนใจกลับมาสู่สิ่งที่ต้องทำต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา กล่าวทิ้งท้ายโดยให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า “ไม่ว่าผู้สูงอายุจะป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องทางสมองหรือไม่ก็ตาม ในทางจิตวิทยา การได้รับความรักความเข้าใจ ความห่วงใยที่มีอยู่สม่ำเสมอ เป็นการเติมเต็มความต้องการทางจิตใจของคนทุกคน”

ในส่วนของคำแนะนำถึงวิธีการปฏิบัติต่อผู้ป่วยอัลไซเมอร์และผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมในภาวะโควิด-19 ระบาด อาจารย์ นายแพทย์ยุทธชัย ลิขิตเจริญ สาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า ไม่ควรให้ผู้ป่วยออกนอกบริเวณบ้าน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ พยายามลดจำนวนคนมาเยี่ยมผู้ป่วยและจำนวนคนที่ดูแลหรือวางตัวคนดูแลให้เป็นคนเดิมประจำ เพราะถ้าอยู่ในบริเวณเดิมที่อาศัยอยู่ โอกาสที่จะติดเชื้อโควิด-19 จะน้อยกว่าการออกนอกบ้านซึ่งมีโอกาสได้รับเชื้อจากชุมชนภายนอก

ถ้าผู้ป่วยจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ผู้ดูแลหรือญาติก็ควรจะสวมหน้ากากอนามัย Face Shield  หรือใส่ถุงมือให้ผู้ป่วย ผู้ดูแลต้องพยายามบอกให้ผู้สูงอายุเข้าใจในความจำเป็นที่จะต้องป้องกันตัวเองในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์หรือผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมอาจจะมีพฤติกรรมแอบซ่อนสิ่งของเครื่องใช้ หรือเก็บสมบัติไว้เพราะกลัวมีคนมาขโมย ซึ่งมักจะจำไม่ได้ว่าเอาไปเก็บไว้ที่ไหน ดังนั้นผู้ดูแลจึงควรตรวจสอบสิ่งของต่างๆ เพื่อนำมาทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ

อาจารย์ นายแพทย์ยุทธชัยให้คำแนะนำสำหรับผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ว่า ควรออกกำลังกายเบาๆ ที่บ้านเป็นประจำ ที่สำคัญที่สุดคือให้ผู้ป่วยได้ทำกิจกรรมที่เคยชอบและอยากทำ เช่น การฟังเพลงเก่าๆ การเล่นกับสัตว์เลี้ยง การเล่นกับลูกหลานในบ้านหรือผ่านวีดิโอคอลในช่วงที่โควิด-19 ระบาด

สำหรับญาติและผู้ดูแลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมสามารถติดตามรายละเอียดข้อมูลข่าวสารได้ที่สมาคมโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย www.thaidementia.com หรือขอรับคำปรึกษาได้ที่คลินิกความจำ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย www.chulancu.com  โทร.0-2256-4000 ต่อ 80723, 80731 ในวันและเวลาราชการ

 

 

Written By
More from pp
โออาร์ ผนึกกำลังหน่วยงานพันธมิตร จัด “โครงการไทยเด็ด แมชชิ่ง เดย์ ครั้งที่ 5” จ.กาญจนบุรี ร่วมสร้างโอกาสให้วิสาหกิจชุมชนเติบโตอย่างยั่งยืน
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด...
Read More
0 replies on “วิธีดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในช่วงโควิด-19 ระบาด”